‘บีโอไอ’ ลุ้น ‘ทรัมป์ 2.0’ หนุนลงทุน ไทยตั้งเป้า 5 ปี แตะ 5 ล้านล้าน
“บีโอไอ” พลิกเกมสู่ศูนย์กลางเทคโนโลยีขั้นสูงของภูมิภาค มอง “ทรัมป์ 2.0” สร้างโอกาสดึงต่างชาติแห่ลงทุนท่ามกลางสงครามการค้า มหาอำนาจทั้ง “จีน - สหรัฐ” ชู 7 มาตรการหนุนยอดลงทุน 5 ปี ทะลุ 5 ล้านล้านบาท ลุยหารือ “คลัง” คาดกฎหมาย QRTC พร้อมใช้กลางปี 2570 ลดผลกระทบ Global Minimum Tax
ปี 2567 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนผ่านคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กว่า 3,137 โครงการ เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบปีก่อน สูงสุดนับตั้งแต่ก่อตั้งบีโอไอ และมีมูลค่าเงินลงทุน 1.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% สูงสุดรอบ 10 ปี ถือเป็นปีทองการลงทุน และเป็นโอกาสครั้งสำคัญของไทยในการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่
ทั้งนี้ ไทยพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่รองรับอุตสาหกรรม ไฟฟ้าที่เสถียร และมีศักยภาพด้านพลังงานสะอาด บุคลากรที่มีคุณภาพ ซัพพลายเชนที่ครบวงจร ต้นทุนการประกอบธุรกิจที่เหมาะสม มาตรการสนับสนุนของรัฐบาล สิทธิประโยชน์ และการบริการของบีโอไอ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ เปิดเผยว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. อุตสาหกรรมดิจิทัล 243,308 ล้านบาท 150 โครงการ ส่วนใหญ่ลงทุนกิจการ Data Center และ Cloud Service โดยบริษัทชั้นนำจากสหรัฐ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย และไทย เงินลงทุน 240,000 ล้านบาท
2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า 231,710 ล้านบาท 407 โครงการ กิจการที่ลงทุนสูง เช่น การผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) และวัตถุดิบสำหรับ PCB จำนวน 83 โครงการ เงินลงทุนรวม 86,426 ล้านบาท
นอกจากนี้ มีโครงการผลิตชิป (Wafer) การออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ (IC Design) การประกอบ และทดสอบเซมิคอนดักเตอร์ และวงจรรวม การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ
3. อุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน 102,366 ล้านบาท 309 โครงการ ประกอบด้วยโครงการลงทุนผลิตรถยนต์ EV และ ICE โดยค่ายญี่ปุ่น จีน และยุโรป การผลิตยางล้อรถยนต์ ยางล้ออากาศยาน ระบบอัจฉริยะในรถยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ต่างๆ
4. อุตสาหกรรมเกษตร และแปรรูปอาหาร 87,646 ล้านบาท 329 โครงการ ส่วนใหญ่ลงทุนกิจการผลิตอาหาร เครื่องดื่ม และสิ่งปรุงแต่งอาหาร กิจการผลิตอาหารสัตว์ กิจการผลิตน้ำมันหรือไขมันจากพืชหรือสัตว์
5. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และเคมีภัณฑ์ 49,061 ล้านบาท 235 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นการผลิตเคมีภัณฑ์ พอลิเมอร์ชนิดพิเศษ พลาสติกสำหรับอุตสาหกรรม และบรรจุภัณฑ์ชนิดหลายชั้น
เม็ดเงินลงทุนต่างประเทศกว่า 8 แสนล้าน
สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ขยายตัวต่อเนื่องรวม 2,050 โครงการ เพิ่มขึ้น 51% เงินลงทุน 832,114 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% โดยประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1. สิงคโปร์ 357,540 ล้านบาท 305 โครงการ 2. จีน 174,638 ล้านบาท 810 โครงการ 3. ฮ่องกง 82,266 ล้านบาท 177 โครงการ 4. ไต้หวัน 49,967 ล้านบาท 126 โครงการ และ 5. ญี่ปุ่น 49,148 ล้านบาท 271 โครงการ
“การลงทุนของสหรัฐ 25,739 ล้านบาท 66 โครงการ แต่หากนับรวมตัวเลขที่ลงทุนผ่านสิงคโปร์แล้วมูลค่ารวม 70,000 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนของสิงคโปร์มาจากการลงทุนขนาดใหญ่ของบริษัทที่มีบริษัทแม่เป็นสัญชาติจีนและสหรัฐ”
นายนฤตม์ กล่าวว่า การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ภาคตะวันออก 573,066 ล้านบาท 50% รองลงมาภาคกลาง 392,267 ล้านบาท 30% ที่เหลือเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 71,591 ล้านบาท ภาคเหนือ 42,525 ล้านบาท ภาคใต้ 37,215 ล้านบาท และภาคตะวันตก 21,843 ล้านบาท
“บีโอไอ” รับมือสงครามการค้า
ทั้งนี้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายจากสงครามการค้า และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก ประเทศไทยพิสูจน์ให้เห็นจุดแข็งการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่มีความเป็นกลาง และน่าเชื่อถือของภูมิภาค โดยมหาอำนาจทั้งจีนและสหรัฐได้เพิ่มการลงทุนในไทยต่อเนื่อง
รวมถึงกลุ่มนักลงทุนหลักอื่นไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น ฮ่องกง ไต้หวัน และยุโรป ยังเดินหน้าขยายการลงทุนในไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ดาต้าเซนเตอร์ และบริการคลาวด์ที่รองรับเทคโนโลยี AI และดิจิทัลขั้นสูง ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมเหล่านี้มีความสำคัญต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ช่วยต่อยอดฐานอุตสาหกรรมเดิมให้มั่นคง สร้างมูลค่าจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ สร้างงาน และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย
“โครงการที่ได้รับส่งเสริมในปี 2567 จะจ้างงานบุคลากรไทยเพิ่ม 2.1 แสนคน จะใช้วัตถุดิบ และชิ้นส่วนในประเทศ 1 ล้านล้านบาทต่อปี และจะเพิ่มมูลค่าส่งออกของประเทศอีก 2.6 ล้านล้านบาทต่อปี”
มองนโยบายทรัมป์สร้างโอกาสการลงทุน
สำหรับนโยบายทรัมป์ 2.0 มองเป็นโอกาสสำหรับไทย โดยจีนรับทราบการกีดกันทางการค้าจึงมาลงทุนไทย เพื่อไม่ต้องโดนกีดกันมาตรการทางการค้าซ้ำ 2 และลดสัดส่วนความเป็นจีนลง ซึ่งการลงทุนในไทยต้องใชัวัตถุดิบในไทยมากขึ้น
นายนฤตม์ กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนปี 2568 จะยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ 1.ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ 2.การปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว 3.Global Carbon Tax 4.เทคโนโลยี 5.Talent ทั้งนี้ สงครามการค้า และการกีดกันทางเทคโนโลยีที่คาดว่าจะรุนแรงขึ้นจะผลักดันให้นักลงทุนเร่งเคลื่อนย้ายฐานลงทุนเพื่อลดความเสี่ยง โดยไทยมีความพร้อม และมีศักยภาพในหลายด้าน
“เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับนานาประเทศจะเป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงซัพพลายเชนให้มหาอำนาจขั้วต่างๆ ได้ นักลงทุนจึงมองไทยเป็นแหล่งลงทุนที่มั่นคงปลอดภัย และมีความโดดเด่นในภูมิภาค คาดว่าปีนี้จะดึงดูดโครงการผลิตแบตเตอรี่เซลล์ได้”
สำหรับทิศทางนโยบายส่งเสริมการลงทุนปี 2568 จะเดินหน้าดึงการลงทุนสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและสนับสนุนไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ แบตเตอรี่ เซมิคอนดักเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อัจฉริยะ ระบบอัตโนมัติ และหุ่นยนต์ ดาต้าเซนเตอร์ และบริการคลาวด์ เทคโนโลยี AI และดิจิทัลขั้นสูง
รวมถึงเทคโนโลยีชีวภาพควบคู่การส่งเสริมอุตสาหกรรม และบริการที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็ง อาทิ เกษตรและอาหาร พลังงานสะอาด การแพทย์ และสุขภาพ การท่องเที่ยว รวมถึงกิจการศูนย์กลางธุรกิจระหว่างประเทศ ทั้งสำนักงานภูมิภาค (Regional Headquarters) ศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ และศูนย์กระจายสินค้า และศูนย์กลางจัดซื้อจัดหาชิ้นส่วนระหว่างประเทศ
สำหรับการจัดโรดโชว์การลงทุนปี 2568 มีแผนจัดทัพบุกประเทศเป้าหมาย เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ตะวันออกกลาง สหรัฐ และยุโรป เพื่อดึงการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ รวมทั้งต่อยอดฐานอุตสาหกรรมสำคัญในประเทศไทยให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทย และขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
ลุยแก้ปม 7 ข้อดัน 5 ปีลงทุน 5 ล้านล้าน
นายนฤตม์ กล่าวว่า สิ่งที่จะสนับสนุนเป้าหมายการลงทุน 5 ปี (2566-2570) กว่า 5 ล้านล้านบาท ต้องทำ 7 เรื่องให้สำเร็จ คือ 1.บุคลากรที่ต้องพัฒนาศักยภาพรองรับอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, BCP, ดิจิทัลและเอไอ 2.พลังงานสะอาด ต้องเร่งประกาศกลไกพลังงานสะอาด UGT2 และ Direct PPA ในราคาที่เหมาะสม
3.พื้นที่ ซึ่งมีจำกัดมากขึ้นต้องปลดล็อกกฎระเบียบ และผังเมือง 4.การสร้างซัพพลายเชนสำหรับรองรับอุตสาหกรรมใหม่ 5.FTA ต้องเร่งขยายไปตลาดใหม่ลดการพึ่งพาตลาดเดิมเพื่อให้มีทางเลือกส่งออกไปตลาดใหม่จากปัญหาเทรดวอร์
6.GMT โดยบีโอไออยู่ระหว่างร่วมมือกับกระทรวงการคลัง เพื่อออกมาตรการ QRTC บรรเทาผลกระทบของ Global Minimum Tax เพิ่มเติมจากมาตรการที่บีโอไอเตรียมเพื่อซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายเพิ่มขีดความสามาถทางการแข่งขัน ซึ่งกระทบบริษัทข้ามชาติ 1,000 ราย และบริษัทไทย 100 ราย ทั้งนี้จะประกาศใช้ได้กลางปี 2570
7.Ease of Investment ปฏิรูปกฎระเบียบที่ยังเป็นอุปสรรคให้ไทยมีขีดความสามารถช่วงชิงการลงทุนเข้ามาในไทย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์