เด็กไทยต่ำกว่า 5 ปี 20 % ที่ตกหล่นการรับวัคซีนพื้นฐาน
ช่วงโควิด-19 แม้การฉีดวัคซีนโควิด-19ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่จะมีปริมาณที่มาก กลับกันส่งผลให้ความครอบคลุมของการรับวัคซีนพื้นฐานในเด็กตกหล่นถึง 20 % หวั่นโรคกลับมาระบาด วางเป้าต้องครอบคลุมถึง 90 % ดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ร่วมจัดหาและบริการจัดการวัคซีน
Key Points:
- ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มเป้าหมายเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี กว่า 20 % ที่ตกหล่นการรับวัคซีนตามกำหนดการรับวัคซีนพื้นฐานในเด็กของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)
- ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากความครอบคลุมวัคซีนในโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด อาจทำให้โรคหวนกลับมาระบาด หรือกำจัดโรคนั้นยาก
- แผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันภาครัฐมีการจัดหาวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กฟรี และแผนเร่งรัดการฉีดในกลุ่มเป้าหมายถึง 90 %
การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ (Herd Immunity) ปกป้องชุมชนจากโรคติดต่อที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีน แต่จากการระบาดของโรคโควิด- 19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มเป้าหมายเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี กว่า 20 % ที่ตกหล่นการรับวัคซีนตามกำหนดการรับวัคซีนพื้นฐานในเด็กของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)
เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2566 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตลิช คอนเวนชัน ภายในงานสัปดาห์แห่งการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค World Immunization Week 2023 และแถลงข่าวผนึกกำลังรัฐ-เอกชน Kick Off หน่วยบริการในพื้นที่เร่งเพิ่มความครอบคลุมวัคซีน โดยนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ประเทศไทยมีแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันมาตั้งแต่ปี 2520 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก เป็นประเทศต้นๆ ที่บรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนหลายตัว โดยปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับเด็ก 11 ชนิด ป้องกัน 13 โรค และมีบางชนิดในผู้ใหญ่
ทั้งนี้ ช่วงการระบาดของโควิด-19 สามารถรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้จำนวนมากถึง 150 ล้านโดส จากความร่วมมือกันของทั้งรัฐ เอกชน ภาคประชาชน ผู้ประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ อสม.
กลับกันพบว่า การฉีดวัคซีนพื้นฐานในเด็กลดลง จึงต้องรณรงค์เป็น The Big Catch Up ซึ่งเราจะส่งเป้าหมายไปยังทุกจังหวัด เพื่อเร่งรัดควบคุมป้องกันโรค รวมถึง ช่วงพ.ค.นี้จะเริ่มรณรงค์ฉีดวัคซีนคู่ป้องกันโควิด-19และไข้หวัดใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงพร้อมกัน
วัคซีนต้องครอบคลุม 90 %
ขณะที่ นพ.นคร เปรมศรี ผอ.สถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า ความครอบคลุมวัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคทุกตัวลดต่ำลง เหมือนกันทั่วโลก จากการที่ผู้ให้บริการมีภารกิจมากเรื่องโควิด-19 และผู้รับบริการกังวลใจที่จะพาลูกหลานมารับวัคซีนโรคอื่นๆที่รพ. จึงต้องเร่งรัดให้อัตราความครอบคลุมวัคซีนเพิ่มขึ้นมา ตั้งเป้าาจะต้องมากกว่า 90% ในวัคซีนทุกตัว เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่และระดับบุคคล อย่างโรคหัดปัจจุบันเหลือ 80% บางจังหวัดต่ำกว่านี้ อย่าง 4 จังหวัดชายแดนใต้ ทั้งนี้ การพลาดวัคซีนไม่ว่าตัวใดก็จะเสียโอกาสกระตุ้นภูมิคุ้มกันระดับบุคคล ส่วนภูมิคุ้มกันหมู่จำเป็น เพื่อช่วยลดผู้ที่อาจพลาดโอกาสรับวัคซีน
ฉีดวัคซีนต่ำ โรคหวนมาระบาด
หากไม่ได้รับในช่วงเวลาที่กำหนดก็กลับมารับซ้ำได้ทุกตัว ไม่มีผลกระทบมากนัก แม้จะเลยนัดหรือช่วงอายุไปแล้ว ให้ไปติดต่อสถานพยาบาลใกล้บ้านว่าพลาดวัคซีนตัวไหนบ้าง เจ้าหน้าที่จะพิจารณาฉีดวัคซีนเพิ่มเติมให้ ยกเว้นบางตัว คือ วัคซีนไอกรนสามารถฉีดเด็กเล็กได้ แต่ถ้าอายุ 6 ขวบขึ้นไปจะฉีดไม่ได้ เพราะจะมีผลข้างเคียงมาก ดังนั้น ช่วงนี้ใครพลาดไปแล้ว 1-2 เดือน หรือเป็นปีก็รีบกลับมารับวัคซีนที่ขาดไปได้
"ถ้าความครอบคลุมวัคซีนลดลงก็จะทำให้โรคกลับมาระบาดใหม่ ทำให้แผนงานกำจัดโรคก็จะช้าลงไป หรือโรคที่เคยควบคุมได้ ไม่เห็นผู้ป่วยในประเทศไทยเลย ถ้าปล่อยให้สถานการณ์ครอบคลุมวัคซีนต่ำลง ก็จะทำให้เกิดการระบาด เช่น โปลิโอได้ ต้องช่วยกันทั้งผู้ให้บริการและรับบริการ วัคซีนทุกตัวผ่านมาตรฐานความปลอดภัย เหลือแต่การมารับวัคซีน" นพ.นครกล่าว
ดึงอปท.ร่วมจัดหาวัคซีน
นพ.นคร กล่าวด้วยว่า ช่วงโควิด-19 เห็นตัวอย่างการดำเนินงานด้านวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) มีการจัดหาและบริหารวัคซีนร่วมกันผ่านราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ดังนั้น คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ จึงมีนโยบายให้อปท.เข้ามามีบทบาทมีส่วนร่วมในการดำเนินงานเรื่องวัคซีนของพื้นที่ โดยอปท.ร่วมจัดหาวัคซีนได้ ใช้งบประมาณของอปท.เองได้ ขณะนี้ได้หารือกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่นแล้ว และจะดำเนินการนำร่องในองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ก่อน เริ่มต้นที่อบจ.ปทุมธานีเป็นจังหวัดนำร่อง
วัคซีนครอบคลุมสูง กวาดล้างโรค
ขณะที่นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเป็นมาตรการที่ได้รับความสำเร็จและคุ้มค่าทางสาธารณสุขมากที่สุด โดยมีการจัดอันดับสิ่งที่ทำแล้วเกิดประโยชน์สุขภาพประชาชน พบว่า วัคซีนเป็นอันดับ 1 และมีประโยชน์ถึงอนาคตสำหรับคนรุ่นต่อไปด้วย ซึ่งนโยบายระดับโลก
“ฉีดวัคซีนวันนี้ ไม่ได้ประโยชน์ต่อคนที่ฉีดเท่านั้น แต่การฉีดหลายๆคนจะป้องกันสมาชิกครอบครัรว ในที่ทำงาน ชุมชนและสังคมเดียวกัน ทำ 1 เรื่องเกิดประโยชน์เป็นลูกโซ่ และเมื่อมีการฉีดวัคซีนในเปอร์เซ็นต์สูง ก็จะนำไปสู่เป้าหมายกำจัดหรือกวาดล้างโรคด้วย เหมือนที่ปัจจุบันไม่มีโรคฝีดาษ ทำให้คนรุ่นนี้และรุ่นหลังไม่ต้องป่วยโรคฝีดาษ”นพ.โสภณกล่าว
เป้าหมายวัคซีนพื้นฐานเด็ก
ตามแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันภาครัฐมีการจัดหาวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กฟรี ป้องกัน 13โรค จำเป็นที่จะต้องให้เด็กเข้ารับวัคซีนตามเกณฑ์และให้มีความครอบคลุมเป็นไปตามเป้าหมายซึ่งแต่ละโรคจะมีอัตราความครอบคลุมที่แตกต่างกันตามความสามารถในการแพร่เชื้อต่อผู้อื่นหากมีอัตราแพร่เชื้อต่อสูง การจะหยุดการแพร่เชื้อจะต้องมีความครอบคลุมสูง อย่างเช่น โรคหัด มีอัตราแพร่ต่อจาก 1 คนไป 12-18 คน ความครอบคลุม 92-94 % โรคอีสุกอีใส 90-92 % คางทูม 90-92 % หัดเยอรมัน 83-86 % โปลิโอ 80-86 % และไอกรน 82 % เป็นต้น
“ตั้งแต่ปี 2520 ที่ประเทศไทยมีการแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน พบว่า โรคที่ป้องกันด้วยวัคซีนลดลง เมื่อมีความครอบคลุมของการได้รับวัคซีนตามเกณฑ์ โดยลดทั้งการป่วยและเสียชีวิตเพราะฉะนั้นต้องรักษาความครอบคลุมวัคซีนให้อยู่ในระดับสูงตามเป้า”นพ.โสภณกล่าว
แผนเร่งรัดสร้างเสริมภูมุค้มกันโรค
สำหรับ แผนเร่งรัดการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างเสริมภูมุค้มกันโรคในเด็กกลุ่มเป้าหมาย นพ.โสภณ กล่าวว่า กรมมีกาแจ้งข้อมูลความครอบคลุมการได้รับวัคซีนและสถานการณ์ของโรคที่ป้องกันได้ด้วยวัคซีนให้กับทุกจังหวัดและเขตสุขภาพ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดเตรียมแผนเร่งรัดของพื้นที่
ส่วนเขตสุขภาพและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/กรุงเทพมหานคร มีการทบทวนแผนแร่งรัดงานสร้างเสริมภูมิค้มกันให้เหมาะสมกับบริบทแต่ละพื้นที่ เพื่อเร่งรัดการฉีดวัคซีนในกลุ่มเป้าหมายให้ครบถ้วนตามเกณฑ์ รวมถึง สื่อสารและนัดหมาย ติดตามให้ผู้ปกครองนำเด็กกลุ่มเป้าหมายเข้ารับวัคซีนตามวัย
ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)และองค์การเภสชักรรม(อภ.) สนับสนุนงบประมาณและบริหารจัดการวัคซีนเพื่อป้องกันวัคซีนสูญเสียและหมดอายุในคลัง
ทั้งนี้ ความครอบคลุมการได้รับวัคซีนทุกกลุ่มเป้าหมาย วัคซีนป้องกันโรคหัด-คางทูม-หัดเยอรมัน ค่าเป้าหมายความครอบคลุม มากกว่า 95 % ในส่วนของวัคซีนพื้นฐานอื่นๆ ค่าเป้าหมาย มากกว่า 90 %