รู้จัก 'วัคซีนประจำปี’ 2 ตัว กลุ่มเสี่ยง ‘ฉีดฟรี’ พร้อมกัน ปีนี้ปีแรก
ปีนี้ปีแรกที่จะมีการฉีดวัคซีนประจำปี 2 ตัว ให้กับกลุ่มเสี่ยงฟรี คือ วัคซีนโควิด และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ต้องมีเกราะป้องกันก่อนเข้าสู่ช่วงหน้าฝนที่คาดว่าจะมีการระบาดคู่กันของ 2 โรคในปี 2566
Keypoint :
- คาดการณ์ปีนี้ ในช่วงหน้าฝน โรคทางเดินหายใจ 2 โรค คือ ไข้หวัดใหญ่ และโควิด-19 จะเกิดการระบาดคู่กัน
- แนวทางการให้วัคซีนโควิด-19และไข้หวัดใหญ่ ปี 2566 เป็นปีแรกที่จะจัดเป็นวัคซีนประจำปี ฉีด 2 ตัวพร้อมกันฟรี ให้กับกลุ่มเสี่ยง
- กลุ่มเสี่ยงที่จำเป็นต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนทั้ง 2 ตัวเพื่อป้องกันโรค และช่องทางการเข้ารับบริการ
โควิด-ไข้หวัดใหญ่ระบาดคู่มีสูง
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ในปี 2566 มีโอกาสเป็นไปได้สูงที่จะพบการระบาดของไข้หวัดใหญ่คู่กับโควิด-19 โดยทั่วโลก ก็พบการระบาดไข้หวัดใหญ่มากขึ้นแล้ว เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมา มีโควิด-19ทำให้การเดินทางน้อยลง แต่ปีนี้มีการเดินทางมากขึ้น ก็มีโอกาสพบการระบาดมากขึ้น ซึ่งประเทศไทย เริ่มพบการระบาดของไข้หวัดใหญ่แล้ว ถือว่าเร็วกว่าปกติที่มักระบาดในช่วงฤดูฝน
ทั้งนี้ ในช่วง 3 เดือนของปี 2566 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 38,291ราย อัตราป่วย 57.87ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 1 ราย ในจังหวัดสงขลา อัตราป่วยตาย 0.003 ทั้งที่ยังไม่ถึงหน้าฝน
ส่วน ผู้ป่วยโควิด-19ที่เข้ารับการรักษาในรพ.สะสมตั้งแต่ 1 ม.ค.-15 เม.ย. 2566 มีรายงาน 5,4823 ราย เสียชีวิตสะสม 273 คน
บริการฟรี วัคซีน 2 ตัว กลุ่มเสี่ยง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข กล่าวว่า โควิดเป็นโรคตามฤดูกาล ต้องมีการรับวัคซีนทุกปี และมีการพัฒนาสรรคุณให้ป้องกันเชื้อในทุกปี ได้สั่งการให้หน่วยบริการสาธารณสุข จัดตั้งแผนกบริการฉีดวัคซีนเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งคณะกรรมการวิชาการให้ความเห็นว่าสามารถรับพร้อมกันได้ทั้งวัคซีนโควิด-19และวัคซีนไข้หวัดใหญ่ จะให้บริการฟรีทั้ง 2 ชนิดกับกลุ่มเสี่ยง
โดยได้มอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) คิดแพ็คเกจในการให้บริการคู่เพื่อให้ประชาชนมารับบริการ โดยปีนี้ไม่ต้องตั้งงบประมาณในการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19เพิ่มเติม ยังมีเพียงพอในการฉีดเข็มกระตุ้น
วัคซีนโควิด-19
วัคซีนโควิด-19 สธ.มีคำแนะนำ ให้รับวัคซีนห่างจากเข็มสุดท้าย 3 เดือน โดยมีวัคซีน Bivalent รุ่นใหม่ของไฟเซอร์และโมเดอร์นา สำหรับอายุ 12 ปีขึ้นไป สำหรับเด็กยังเป็น Monovalent อยู่ ซึ่งกรณีใช้กระตุ้นภูมิสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้สูงกลับมาในระดับป้องกันการติดเชื้อหรือป้องกันความเสี่ยงไม่ให้มีอาการป่วยหนักและรุนแรงได้
Bivalent ของเด็กจะจัดหาในระยะต่อไป มี Monovalent จัดหามาปีที่แล้วอีกจำนวนหนึ่ง สามารถให้บริการฉีดได้ตามกลุ่มอายุเป้าหมายที่กำหนดบริษัทวัคซีนขึ้นทะเบียนกับ อย.ตอนนี้มีวัคซีนสำรองทุกชนิดมากกว่า 10 ล้านโดส
ประชาชนสามารถเข้ารับบริการฉีดโควิด-19 ได้ที่หน่วยบริการตามที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกำหนดไว้ สำหรับสถานที่ฉีดวัคซีนโควิด-19 ในสังกัดของสธ.ใน กทม. ได้แก่ ศูนย์บางรัก โรงพยาบาลราชวิถี สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลสงฆ์ และสถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี
ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กล่าวว่า การได้วัคซีนโควิด-19จำเป็นต้องได้ 3-4 เข็ม ทำให้ปกป้องหรือป้องกันสายพันธุ์กลายพันธุ์ได้ดี โดย หลังทุกคนมีภูมิคุ้มกันเป็นพื้นฐานแล้ว อาจจะกระตุ้นปีละครั้ง และฉีดก่อนหน้าฝนที่เป็นช่วงระบาดสูง หลังจากนั้นปลายปีต้นปีระบาดลดลง เพราะฉะนั้น กระตุ้นให้มีภูมิสูงสุด แม้ติดเชื้อก็ไม่ได้รุนแรง ซึ่งในสายพันธุ์ XBB จะต้องรับวัคซีนถึง 4 เข็ม และสามารถให้พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ได้
วัคซีนไข้หวัดใหญ่
ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร อาจารย์หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันมีวัคนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2 แบบ คือ
- ชนิด 3 สายพันธุ์ ที่ส่วนใหญ่จะเป็นวัคซีนที่ภาครัฐให้บริการโดยไม่เสียคำใช้จ่ายแก่ประชาชนกลุ่มเสี่ยง
- ชนิด 4 สายพันธุ์ ที่ภาครัฐจัดเตรียมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ สตรีตั้งครรภ์ และมีจำหน่ายโดยทั่วไปในโรงพยาบาลเอกชนและคลินิก
“วัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2ชนิดให้ผลดี แต่ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ วัคซีนแบบชนิด 4 สายพันธุ์มีการพัฒนาให้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันการติดเชื้อไช้หวัดใหญ่ได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะการนำมาใช้สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุที่มีจุดด้อยในร่างกาย คือ เมื่ออายุมากขึ้นการดอบสนองวัคชีนที่ใช้ทั่วไปต่ำกว่าคนอายุน้อย ดังนั้น ผู้สูงอายุหากต้องการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรเลือกที่มีประสิทธิภาพครอบคลุม ภายได้การดูแลของแพทย์”ศ.นพ.ธีระพงษ์กล่าว
7 กลุ่มเสี่ยงควรรับ 2 วัคซีน
ประชาชน 7 กลุ่มเสี่ยงที่ควรจะต้องเข้ารับบริการฉีดวัคซีนประจำปี ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่และโควิด-19 โดยหากประสงค์จะฉีดพร้อมกัย จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2566 เป็นต้นไป ได้แก่
1.เด็กเล็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
2.ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ปอดอุดกั้นเรื้อรัง, หอบหืด, หัวใจ, หลอดเลือดสมอง, ไตวาย, ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
3.ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้
4.โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง (รวมผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีอาการ)
5.โรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI > 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร)
6.ผู้สูงอายุ ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
7.หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป (ให้บริการตลอดทั้งปี)
ช่องทางการรับบริการ ฉีดวัคซีน
1. ติดต่อที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลประจำของท่าน หรือหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูรายชื่อได้ที่ 'กระเป๋าสุขภาพ' แอปฯ 'เป๋าตัง'
2. เฉพาะ กทม. จองสิทธิการฉีดวัคซีนฯ ล่วงหน้าผ่าน 'กระเป๋าสุขภาพ' แอปฯเป๋าตัง ได้ โดยระบบจะเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2566 - 31 สิงหาคม 2566 หรือจนกว่าวัคซีนจะหมด
3. ผู้ที่อยู่ใน กทม. แต่ไม่สะดวกจองผ่านแอปเป๋าตัง ให้ติดต่อได้ที่หน่วยบริการในระบบ สปสช.ได้ทุกแห่ง
4. การจองนัดหมายเข้ารับบริการขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละหน่วยบริการ หากไม่สามารถทำนัดหมายได้ กรุณาติดต่อสอบถามการเข้ารับบริการกับหน่วยบริการโดยตรง