บัตรทอง 30 บาท ดึงเอกชนให้บริการทันตกรรม
คณะทำงานพัฒนาเข้าถึงบริการด้านทันตกรรม เปิดข้อเสนอ 4 โมเดล “บริการร่วม รัฐ - เอกชน” เพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมในระบบบัตรทอง ดูแลสุขภาพช่องปากและฟันให้ประชาชนผู้มีสิทธิ ระบุเอกขนมีศักยภาพ แนะปรับระบบเบิกจ่ายเป็นมาตรฐานกลางและชดเชยรวดเร็ว
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในการประชุมของคณะทำงานฯ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้มีการนำเสนอ “รูปแบบบริการทันตกรรมแนวใหม่ /Business model สำหรับบริการทันตกรรมโดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน”
จากข้อมูลคณะทำงานฯ ต่างมีความเห็นว่า หากดึงภาคเอกชนเข้ามาร่วมจัดบริการ จะทำให้เกิดการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีคลินิกทันตกรรมเอกชนจำนวนมากที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้สามารถขยายการเข้าถึงบริการได้มากขึ้น อีกทั้งคลินิกทันตกรรมหลายแห่งสามารถจัดบริการเพิ่มได้ ซึ่งจากแนวโน้มการจ้างงานและศักยภาพในการจัดบริการด้านทันตกรรม พบว่า
ปัจจุบันทันตแพทย์ของประเทศมีจำนวนกว่า 20,000 คน อยู่ในภาครัฐและเอกชนในสัดส่วนใกล้เคียงกัน ราว 50% และทันตแพทย์ภาครัฐก็ให้บริการทันตกรรมภาคเอกชนนอกเวลาราชการ ทำให้ทิศทางตลาดแรงงานทันตกรรมในภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสถานพยาบาลภาครัฐราว 1,000 แห่ง ในขณะที่มีคลินิกทันตกรรม 6,447 คลินิก คลินิกเฉพาะทางทันตกรรมอีก 143 คลินิก จึงเห็นได้ว่าภาพรวมตลาดกำลังคนภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการเข้าถึงบริการทันตกรรมของคนไทย ผลสำรวจอนามัยและสวัสดิการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 อยู่ที่ร้อยละ 9.6 ในจำนวนนี้ร้อยละ 65-70 ใช้สิทธิเบิกจ่ายกองทุนสุขภาพ โดยผู้มีสิทธิสวัสดิการข้าราชการมีอัตราการเข้ารับบริการมากที่สุดร้อยละ 14.8 ประกันสังคมร้อยละ 12.3 บัตรทองร้อยละ 8.5 ซึ่งแต่ละสิทธิมีหลักเกณฑ์รับบริการในสถานพยาบาลรัฐและเอกชน วิธีการจ่ายเงิน และการจัดการที่แตกต่างกัน
หากวิเคราะห์ปัญหาการจัดบริการทันตกรรมของสถานพยาบาลภาครัฐ นอกจากตำแหน่งทันตแพทย์และผู้ช่วยทันแพทย์ที่มีจำกัดแล้ว การบริการยังตอบสนองต่อส่วนกลางมากกว่าปัญหาในพื้นที่ ขณะที่วิธีจ่ายค่าบริการทันตกรรมแบบเหมาจ่ายรายหัวก็ไม่เอื้อให้เกิดบริการและเข้าถึง เนื่องจากหากทันตแพทย์ให้บริการมากเท่าไหร่ จะยิ่งเพิ่มต้นทุนบริการให้กับโรงพยาบาลมากขึ้น มีปัญหารอคิวนาน และมีต้นทุนบริการที่สูงกว่าภาคเอกชน โดยมาตรการแก้ปัญหา อาทิ
ให้จัดทำระบบข้อมูลการเงินด้านทันตกรรมที่แยกส่วนเพื่อใช้วางแผนและติดตามผล แยกรายได้จากบริการทันตกรรมและนำมาใช้กับการดำเนินการด้านทันตกรรมโดยเฉพาะ พร้อมปรับรูปแบบจัดการให้สร้างรายได้ (Business unit) ปรับอัตราการจ่ายชดเชยค่าบริการสอดคล้องกับราคาตลาดและเงินเฟ้อ รวมทั้งให้มีการจ่ายเงินเพิ่มเติม (Top-up/Value-based payment) เพื่อชักจูงเพิ่มประสิทธิผลการบริการ
ส่วนสถานพยาบาลเอกชน ด้วยวิธีการเบิกจ่ายแต่ละสิทธิรักษาพยาบาลที่หลากหลาย ไม่มีมาตรฐานกลาง ทำให้เกิดภาระงานเพิ่มจนคลินิกขนาดเล็กอาจทำไม่ไหว ทั้งพบปัญหาเบิกจ่ายเงินที่ล่าช้า นอกจากนี้ด้วยอัตราเบิกจ่ายที่ต่ำอาจทำให้เกิดการเบิกค่าบริการที่เกินจริง หรือผู้ป่วยถูกเก็บเงินเพิ่ม หรือถูกลดคุณภาพการบริการหรือวัสดุอุปกรณ์ ดังนั้นต้องมีการปรับระบบเพื่อให้มีการเบิกจ่ายที่ง่าย รวดเร็ว ป้องกันทุจริต รวมถึงกำหนดอัตราจ่ายที่เหมาะสม หรือแนวทางลดต้นทุนจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า จากข้อมูลข้างต้นนี้ ได้มีข้อเสนอรูปแบบการให้บริการร่วมรัฐ-เอกชน (PPP :Public-Private Partnerships) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการด้านทันตกรรมตามชุดสิทธิประโยชน์ สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทอง มี 4 รูปแบบดังนี้
1. เปิดหน่วยบริการทันตกรรมภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัย โดยจูงใจทันตแพทย์จบใหม่มาร่วมให้บริการในรูปแบบการฝึกหัดที่มีค่าตอบแทน ภายใต้การกำกับดูแลโดยอาจารย์แพทย์ ซึ่งความเป็นไปได้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของมหาวิทยาลัย
2. เพิ่มหน่วยบริการทันตกรรมที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เนื่องจาก รพ.สต.ที่ถ่ายโอนจะมีเจ้าพนักงานทันตสาธารณสุขรุ่น 2 ปี ซึ่งให้บริการกลุ่มเป้าหมายได้ และจัดจ้างทันตแพทย์กำกับการบริการ แนวทางนี้มีจุดเด่น คือเป็นการใช้บุคลากรที่มีอยู่เพิ่มการให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ ซึ่งท้องถิ่นที่ต้องการให้บริการประชาชนอยู่แล้วจะรีบจัดตั้งโดยเร็ว
3. ร่วมมือโรงพยาบาลรัฐในพื้นที่ที่การเข้าถึงบริการตํ่าและพื้นที่คิวบริการเต็ม โดยสนับสนุนคลินิกทันตกรรมเอกชนในพื้นที่ร่วมเป็นเครือข่ายหน่วยบริการทันตกรรมของโรงพยาบาล ในการรับการส่งต่อผู้ป่วยที่รอคิวนาน โดยโรงพยาบาลจะทำหน้าที่ควบคุมกำกับบริการ
4. ในพื้นที่เมืองที่มีการเข้าถึงบริการทันตกรรมตํ่า ให้ สปสช. ทำสัญญากับคลินิกทันตกรรมเอกชนเพื่อให้บริการ โดยมี สสจ. ร่วมดูแลระบบบริการ ซึ่งเป็นวิธีกระจายเพิ่มหน่วยบริการให้เกิดการเข้าถึงได้ แต่ต้องระวังกรณีการเก็บเงินร่วมจ่ายกับผู้ป่วย และมีระบบยืนยันตัวตนผู้รับริการ การถ่ายภาพในช่องปากก่อนและหลังรับบริการเพื่อควบคุมการเบิกจ่าย รวมถึงต้องมีการควบคุมคุณภาพการบริการ
ข้อมูลที่ได้นี้ นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง สะท้อนให้เห็นว่าขณะนี้ประชาชนยังมีปัญหาการเข้าถึงบริการทันตกรรม แม้ว่าจะมีสิทธิการรักษาพยาบาลรองรับแล้ว เนื่องมาจากการให้บริการในระบบที่ยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะในส่วนของบริการภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนทันตแพทย์และจำนวนหน่วยบริการ จำเป็นต้องดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมบริการ โดยข้อมูลที่ได้นี้ โดยเฉพาะในส่วนของข้อเสนอการเพิ่มหน่วยบริการทันตกรรมในระบบบัตรทอง ทางคณะทำงานฯจะนำมาวิเคราะห์แนวทางเป็นไปได้และผลักดันให้เกิดการดำเนินการต่อไป