‘กัญชา’ เสรีมีขอบเขต ยาเสพติด ‘เฉพาะส่วน’
หลังการปลดล็อกกัญชาเสรี ยังมีหลายฝ่ายกังวลว่าอาจส่งผลเสียต่อประชาชนมากกว่าผลดี โดยเฉพาะหากใช้เป็นสารเสพติด ดังนั้นจึงควรให้ สธ. ออกกฎกระทรวงให้บางส่วนของกัญชาเป็นยาเสพติด
การกำหนดให้เฉพาะบางส่วนของ “กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด” มีโอกาสเป็นไปได้ตาม MOU 8 พรรคร่วมรัฐบาลประกาศไว้มากกว่าการกำหนดให้ทุกส่วนของกัญชาเป็นไปตาม พรบ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2562 เพราะขณะนี้ในท้องตลาดมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับกัญชาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประมาณ 2,500 ใบอนุญาตในจำนวนนี้มีทั้ง เครื่องสำอาง ยา สมุนไพร อาหารและเครื่องดื่ม และมีสถานประกอบการยื่นขออนุญาตใช้ช่อดอกเพื่อจำหน่าย แปรรูป ส่งออก ศึกษาวิจัยทั่วประเทศอีก 12,000 แห่ง เพื่อไม่ให้กระทบกับกลุ่มที่ลงทุนทำธุรกิจเกี่ยวกับสารสกัด CBD ที่มี THC ไม่เกิน 0.01 % ,สารสกัดหรือผลิตภัณฑ์จากสารสกัด CBD เป็นส่วนประกอบหลักมี THC ไม่เกิน 0.2 % ซึ่งเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่บังคับใช้เมื่อ 31 ส.ค.2562
ฉะนั้นการกำหนดเฉพาะ “ช่อดอก” และสารต่างๆ เช่น ยาง น้ำมันเท่านั้น เป็นยาเสพติด ตามประกาศสธ.ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 15 ธ.ค.2563 จึงเป็นการควบคุมการนำ “ช่อดอก” มาใช้ในการสูบหรือเชิงสันทนาการ ซึ่งในกัญชามีสาร THC ที่ใช้ในการรักษาโรคบางอย่างได้ ซึ่งต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสามารถสั่งใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ เป็นการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมการแพทย์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างยั่งยืน ให้แข่งขันกับต่างประเทศและสร้างตลาดใหม่ จึงเป็น “โจทย์ใหญ่” ให้ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ต้องตัดสินใจ ว่าจะสั่งการให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ เสนอเรื่องเข้าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พิจารณาเพื่อนำ “กัญชากลับไปเป็นยาเสพติด” ก่อนเสนอให้รมว.สธ.ออกประกาศกฏกระทรวงสาธารณสุข กำหนด “เฉพาะส่วน”เป็นยาเสพติด
ทั้งนี้ศูนย์ศึกษาปัญหายาเสพติดได้รวบรวมข้อมูลระหว่างปี 2563 – 2564 พบว่าคนส่วนใหญ่ใช้กัญชาโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่งจ่าย และในช่วงที่กัญชาเป็นยาเสพติด มีผู้ใช้กัญชานอกการจ่ายยาของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สูงถึง 95 % ในจำนวนนี้มี 83 % ยังใช้นอกเหนือข้อบ่งใช้จากประกาศกระทรวงสาธารณสุข และหลังจากที่แพทยสภาการปลดล็อกกัญชา มีการลดใช้ยาแผนปัจจุบันถึง 58 % ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีจำนวนผู้บำบัดยาเสพติดจากกัญชาลดลงเหลือ 4 พันราย เมื่อเทียบกับยาบ้าที่มีมากกว่าแสนราย
อย่างไรก็ตามการควบคุมการใช้ “กัญชา” ไปในทางที่ไม่เป็น “คุณ” กับผู้ใช้รัฐบาลสามารถทำได้ 2 แนวทางควบคู่กัน นอกจากกำหนดเฉพาะ “ช่อดอก” และสารต่างๆ เช่น ยาง น้ำมันเท่านั้น ให้เป็นยาเสพติดแล้ว ยังสามารถออก “พรบ.กัญชากัญชง” มาควบคุมการใช้เหมือนกับ พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และพรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อป้องกันการนำไปใช้ในทางสันทนาการตามที่มีหลายฝ่ายห่วงใย ซึ่งหากใช้แนวทางนี้ นอกจากนี้จะสามารถป้องกันเด็กและเยาวชน เข้าถึง “กัญชา” ได้ง่ายแล้ว ยังสามารถควบคุมร้านค้าไม่ให้จำหน่าย “ช่อดอก” เป็นการคุมกำเนิดการใช้ที่มีความเป็นห่วงว่าจะ “เสรี” อย่างมีขอบเขต แล้วยังสามารถส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนไปก่อนหน้านี้ให้สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้อีกด้วย