ทำไม? โควิด-19 ยอดพุ่งสูง เตียงเต็ม เตือนกลุ่มเสี่ยงต้องฉีดวัคซีน
แม้ในปี 2566 จะมีฤดูร้อนที่ยาวนาน แต่การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งเป็นลูกผสมจากโอมิครอนอย่าง XBB.1.16 (Arcturus) ยังคงแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง และมีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น
Keypoint:
- โควิด-19 พบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้น จนทำให้บางโรงพยาบาล อย่าง รพ.ศิริราช เตียงเต็ม โดยปัจจัยหลักที่ผู้ติดเชื้อพุ่งสูง เนื่องจากผู้คนมีกิจกรรมนอกบ้านแบบไม่ระมัดระวังกันมากขึ้น และมาจากสายพันธุ์ย่อยทั้งหลายที่สืบตระกูลของโอมิครอน
- ขณะที่นักเรียนเปิดเทอม และเข้าสู่ฤดูฝนจะเป็นการระบาดของโรคทางเดินหายใจประจำฤดูกาล และจะมีจุดสูงสุดในเดือนมิถุนายนจนถึง เดือนสิงหาคมและหลังจากนั้นจะค่อยๆลดลง
- ย้ำกลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีนโควิด-19 ดูแลตนเองสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือโดยใช้น้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล และหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือการหายใจใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย
วันที่ 26 พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเพจ Siriraj Piyamaharajkarun Hospital ของโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ได้โพสต์ข้อความแจ้งให้ทราบว่าเตียงผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) และเตียงผู้ป่วยใน (IPD) สำหรับดูแลผู้ป่วย โควิด-19 เต็มทุกห้อง อีกทั้งใน แผนกฉุกเฉิน (ER) ยังมีผู้ป่วยติดเชื้อ โควิด-19 ที่รอการส่งต่อ ทำให้ไม่สามารถรองรับผู้ป่วย โควิด-19 เพิ่มได้
ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ามาตรการต่างๆ ในการป้องกันตนเองมีการผ่อนปรนมากขึ้น หลายคนไปไหนมาไหนอาจไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย อาจไม่ล้างมือ หรือใช้ชีวิตปกติเหมือนเฉดเช่นก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งที่การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ กลับพุ่งสูงต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
รพ.ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ แจ้งเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิดเต็มทุกห้องแล้ว
'ฉีดวัคซีนโควิด' เข็มกระตุ้น ฟรี! ตลอดเดือนมิถุนายนนี้ ที่เซ็นทรัลเวิลด์
หมอนิธิพัฒน์ เตือนโควิดพุ่ง เสียชีวิตเพิ่ม 200% ใกล้ถึงแนวรับที่ 10 คนต่อวัน
'หมอธีระ' อัปเดตสถานการณ์ โควิด-19 จับตา 9 สายพันธุ์ย่อย Omicron
ทำไม? โควิด-19 ยังแพร่ระบาดหนัก พบผู้ป่วยพุ่ง
ขณะนี้ โควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.16 ซึ่งเป็นเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ XBB จากลูกผสมตระกูล Omicron BA.2.10.1 และ BA.2.75 มีรายงานการค้นพบครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย เมื่อเดือนมกราคม 2566 องค์การอนามัยโลกจัดเป็นเชื้อที่ต้องเฝ้าติดตาม การกลายพันธุ์เกิดขึ้นที่บริเวณ 483 ระดับภูมิตอบสนองชนิด Neutralizing Antibody ลดลง จึงเพิ่มความสามารถในการแพร่เชื้อหรือก่อโรค แต่ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยใดที่อ้างถึง XBB.1.16 จะก่อความรุนแรง
สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ในประเทศไทย ว่า ปัจจุบันผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในสัปดาห์ที่ 20 (วันที่ 14 – 20 พฤษภาคม 2566) พบจำนวนผู้เสียชีวิต 64 ราย เฉลี่ยวันละ 9 ราย ส่วนใหญ่อายุมาก 70 ปีขึ้นไป และไม่ยอมรับวัคซีน กลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงเป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 401 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 226 ราย ซึ่งมักไม่ได้รับวัคซีนและยังพบการระบาดลักษณะเป็นกลุ่มก้อนในกลุ่มวัยทำงาน นักเรียน และในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น มีการกระจายของผู้ป่วยในหลายจังหวัด
จังหวัดที่ยังคงพบผู้ป่วยได้สูงที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร รองลงมา ได้แก่ ชลบุรี สมุทรสาคร ส่วนกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรง พบว่า เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปี และส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนหรือบางรายพบฉีดวัคซีนเพียง 2 เข็ม แต่ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ทำให้ระดับภูมิคุ้มกันหมู่ในประชากรลดลงมาก สายพันธุ์ที่พบการระบาดเป็นสายพันธุ์ใหม่/สายพันธุ์ย่อยอื่นจากต่างประเทศ มีการระบาดเพิ่ม ทั้งในเมืองและชนบท ตามมาด้วยจำนวนผู้ป่วยอาการหนักที่เพิ่มมากขึ้น
แต่ละสัปดาห์ พบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 20 เท่า
“ในระยะนี้หลังเปิดภาคเรียนพบการระบาดของโรคโควิด 19 ในกลุ่มเด็กนักเรียน โดยเฉพาะชั้นประถมศึกษา ต้องขอความร่วมมือให้ครูประจำสถานศึกษาเข้มงวดมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคในโรงเรียนตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด หากพบเด็กนักเรียนป่วยจำนวนมาก อาจให้มีการหยุดเรียนเป็นรายห้องเรียน หรือชั้นเรียน โดยไม่จำเป็นต้องปิดโรงเรียน และแจ้งสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ หรือศูนย์บริการสาธารณสุข ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคโดยเร่งด่วน” นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
ด้านนพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หรือ 'หมอนิธิพัฒน์' หัวหน้าสาขาระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 กลับมาระบาด ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเดิมคาดการณ์ว่าในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์จำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลง แต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมมีการเลือกตั้ง คนกลับภูมิลำเนา รวมทั้งการเดินทางเข้าออกประเทศ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทย ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
“ปัจจัยหลักน่าจะมาจากผู้คนมีกิจกรรมนอกบ้านแบบไม่ระมัดระวังกันมากขึ้น ส่วนปัจจัยรองอาจมาจากสายพันธุ์ย่อยทั้งหลายที่สืบตระกูลของโอไมครอน XBB ซึ่งถือโอกาสรุกคืบเข้ายึดครองตลาดในช่วงที่ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติและจากวัคซีนของคนไทยเราเริ่มตกลง แถมยังเป็นช่วงที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองกันอย่างหนักทั้งในที่ลับและในที่แจ้ง ดังนั้นการรวมตัวของกลุ่มคนจำนวนมากในที่สาธารณะช่วงนี้จึงควรหลีกเลี่ยง และขอให้เคร่งครัดการใส่หน้ากากในพื้นที่ที่การระบายอากาศไม่ดี”นพ.นิธิพัฒน์ กล่าว
หากเปรียบเทียบสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ช่วงปลายเดือนมีนาคมกับต้นเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา จากเดิมมีผู้ป่วยโควิดเข้ารักษาอาการที่โรงพยาบาลวันละ 20 คน แต่ขณะนี้มีผู้ป่วยโควิดเข้ารักษาที่โรงพยาบาลวันละ 400 คน (เพิ่มขึ้น 20 เท่า) ซึ่งจากการคาดการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดทุก 100 คน จะมีคนเข้ารักษาอาการที่โรงพยาบาลประมาณร้อยละ 2 จากตัวเลขนี้จึงคาดการณ์ว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อวันละ 20,000-40,000 คน จากเดิมวันละประมาณ 2,000 คน
นพ.นิธิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตเริ่มเห็นชัดเจนตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา พบมีผู้เสียชีวิตจำนวน 66 คนต่อสัปดาห์ จากเดิมคือ 3-4 คนต่อสัปดาห์ ตัวเลขนี้พบว่าผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 20 เท่า เช่นเดียวกับจำนวนผู้ติดเชื้อ ทั้งยังพบผู้ป่วยอาการปอดอักเสบเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลประมาณร้อยละ 5 และในผู้ที่มีอาการปอดอักเสบจำนวนครึ่งหนึ่งต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
โดยสายพันธุ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในปัจจุบัน จากข้อมูลของกรมการแพทย์ ระหว่างวันที่ 1-7 พฤษภาคม 2566 พบสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดมากที่สุดคือสายพันธุ์ลูกผสมโอมิครอน XBB.1.16 คิดเป็น 27.7% รองลงมาคือ สายพันธุ์ XBB.1.5 คิดเป็น 22.0 % ในขณะที่ BN.1 ซึ่งเคยเป็นสายพันธุ์หลักในไทยตั้งแต่ช่วงสิ้นปี 2565 มีสัดส่วนลดลง
เปิดเทอม ฤดูฝนส่งผลการระบาดโควิด-19 มากขึ้น
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ในเฟซบุ๊กYong Poovorwan ตามที่คาดหมายไว้เมื่อนักเรียนเปิดเทอม และเข้าสู่ฤดูฝนจะเป็นการระบาดของโรคทางเดินหายใจประจำฤดูกาล และจะมีจุดสูงสุดในเดือนมิถุนายนจนถึง เดือนสิงหาคมและหลังจากนั้นจะค่อยๆลดลง และจะไปเพิ่มอีกครั้งหนึ่งแต่ไม่มากในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ปีหน้าแล้วก็สงบ ประชากรส่วนใหญ่จะติดเชื้อ ความรุนแรงของโรคลดลง
สำหรับผู้ที่เป็น novid (โนวิด ซึ่งเป็นชื่อเรียกบุคคลที่ใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด แล้วไม่ติดเชื้อ) หรือที่ยังไม่เคยเป็น ก็จะเป็นในช่วงนี้มากขึ้นจะเหลือผู้ที่ไม่เคยเป็นจริงๆน้อยลงอย่างมาก
ในภาพรวมผู้ที่มีร่างกายแข็งแรงอาการจะน้อย ความรุนแรงที่จะต้องดูแลเป็นพิเศษจะอยู่ในกลุ่มเปราะบาง ในกลุ่มนี้จะต้องให้ความสำคัญในการป้องกัน และรีบรักษาให้เร็วที่สุดด้วยยาต้านไวรัส
"สาเหตุที่ทำให้โรคระบาดมาก เพราะชีวิตกลับเข้าสู่ปกติ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่อาการไม่รุนแรง ก็จะให้อยู่บ้าน และในขณะเดียวกันการติดเชื้อภายในบ้านเดียวกัน ก็เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น รวมทั้งในโรงเรียนสถานศึกษาและสถานที่อยู่รวมกันเป็นจำนวนมากเช่นตามโรงงาน"ศ.นพ.ยง กล่าว
ฉีดวัคซีน ดูแลตัวเอง สวมหน้ากาก ล้างมือ ป้องกันโควิด-19
การป้องกันการระบาดทุกคนจะต้องช่วยกันลดจำนวนให้ได้น้อยที่สุด และให้จำนวนค่อยเป็นค่อยไป ถ้าเกิดพร้อมกันเป็นจำนวนมาก จะเป็นภาระในระบบสาธารณสุข เพราะในจำนวนนี้จะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่จะต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ต่อไปคำว่า novid มีจริงแต่ก็คงจะน้อยลงไปเรื่อยๆ และการติดซ้ำ 2 หรือ 3 สามารถเกิดขึ้นได้ แต่การเป็นซ้ำ ส่วนใหญ่อาการจะลดน้อยลง ทุกคนจะต้องช่วยกันลดการแพร่กระจายของโรค โดยเฉพาะในช่วงการระบาดใหญ่ที่กำลังจะมาถึงตามฤดูกาล
อย่างไรก็ตาม วัคซีนเป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และช่วยลดความรุนแรงของโรค วัคซีน โควิด-19 มีจำนวนมากให้เลือก ซึ่งสามารถป้องกันการติดเชื้อ โควิด-19และลดความรุนแรงของโรคได้ รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ปีละครั้ง แนะนำให้วัคซีน โควิด-19เพื่อลดความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางและกลุ่มเสี่ยง ในช่วงจุดสูงสุดการระบาดที่กำลังเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน การให้วัคซีนกระตุ้นอาจพิจารณาให้ในผู้ที่เสี่ยงต่อการติดโรค เช่น ผู้ที่สัมผัสกับผู้คนเป็นจำนวนมาก บุคลากรด่านหน้า คล้ายกับการให้วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ส่วนในคนปกติที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ก็คงขึ้นอยู่กับความสมัครใจ
“นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว การป้องกันโรค โควิด-19 ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งก็เหมือนกับวิธีการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอื่น ๆ แนะนำให้ปฏิบัติตามมาตรการเบื้องต้น เช่น ใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ รักษาความสะอาดโดยใช้น้ำสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล และหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือการหายใจใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย” ศ.นพ.ยง กล่าว
ย้ำอาการโควิดสายพันธุ์ใหม่ล่าสุด
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุ ไวรัส SARS-CoV-2 สายพันธุ์ XBB คือ สายพันธุ์ที่อาจจะระบาดเพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทยในปี 2566 นี้ โดยไวรัสดังกล่าวเป็นลูกผสมสายพันธุ์ย่อยที่มีต้นตระกูล จาก Omicron BA.2
คาดว่าไวรัส XBB ก็อาจมีการกลายพันธุ์ เกิดเป็นสายพันธุ์ย่อยต่อไปได้อีกอย่างรวดเร็ว โดยผู้ป่วยมีอาการเยื่อบุตาอักเสบ หากอยู่ในพื้นที่มีฝุ่น PM 2.5 หนาแน่นจะทำให้มีอาการหนักเพิ่มขึ้น
"ที่สำคัญ คนที่ไม่เคยติดโควิดมาก่อน จะมีความรุนแรงของโรค หนักกว่าคนที่เคยเป็นโควิดมาแล้ว"
สำหรับอาการโควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 มีดังนี้
- มีไข้สูง
- ไอ
- จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส
- เยื่อบุตาอักเสบ ตาแดง ลักษณะคล้ายตาแดง มีผื่นคัน (ผู้ที่มีโรคประจำตัวเช่น เยื่อบุตาอักเสบ ภูมิแพ้ ควรระมัดระวัง)
คำแนะนำจากแพทย์
ทั้งนี้ จากรายงานการระบาดของ โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนลูกผสมใหม่ดังกล่าว “ยังไม่พบว่ามีความรุนแรง” และเสียชีวิตสูงเหมือนสายพันธุ์ที่ผ่านมา โดยเฉพาะในผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA เข็มกระตุ้นแล้ว ซึ่งช่วยลดโอกาสเกิดโรครุนแรงได้มาก ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง จึงควรเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มเติม โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดสูง
กลุ่มเสี่ยง ทำไมเสี่ยงป่วยหนัก-ต้องฉีดวัคซีน
เรื่องภูมิคุ้มกันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ใครที่มีภูมิคุ้มกันดี ย่อมเสี่ยงโรคโควิด-19 ได้น้อยกว่า หรือถ้าหากป่วย ก็จะมีอาการเบากว่า ในขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ที่มีโรคประจำตัว หรือภูมิคุ้มกันบกพร่อง ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะในร่างกายเสื่อมลง จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อโควิด-19 และถ้าหากป่วย อาจมีอาการรุนแรงกว่าคนทั่วไปและถึงขั้นเสียชีวิตได้
ด้วยเหตุนี้ กลุ่มเสี่ยง จึงควรเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้นเพิ่มเติม โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดสูง ซึ่งควรเข้ารับวัคซีน หรือเข็มกระตุ้นโดยทิ้งช่วงห่างจากเข็มก่อนหน้าอย่างน้อย 6-12 เดือน ส่วนผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง แนะนำให้เข้ารับ LAAB ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป
โดยกลุ่มเสี่ยง ที่ควรเข้ารับวัคซีนต้านโควิด-19 หรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป LAAB ได้แก่
- หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 4 เดือนขึ้นไป
- เด็กอายุ 6 เดือน ถึง 2 ปี
- ผู้มีโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค คือ ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบหืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด และเบาหวาน
- บุคคลที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป
- โรคธาลัสซีเมีย และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
- โรคอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 100 กิโลกรัม หรือ BMI มากกว่า 35 กิลโลกรัมต่อตารางเมตร)
- ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
การตรวจ ATK และ RT-PCR สามารถพบเชื้อ XBB.1.16
ชุดทดสอบทั้ง 2 ชนิดนี้ สามารถคัดกรองเชื้อไวรัสที่ก่อโควิด-19 รวมทั้งวินิจฉัย แยกผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน หรือลูกผสมได้ แต่การตรวจ Antigen Test Kit ใช้หลักทดสอบทางภูมิคุ้มกัน โดยจับแอนติเจน แอนติบอดี และโปรตีน N ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อการกลายพันธุ์ที่บริเวณบนโปรตีนหนาม
การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ลูกผสมชนิดนี้ ยังไม่พบความรุนแรงถึงแก่ชีวิต ทั้งนี้ในการเสพข่าวสารไม่ควรตระหนก วิตกกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในผู้ที่ได้รับวัคซีน mRNA เข็มกระตุ้นแล้ว จะช่วยลดโอกาสเกิดโรครุนแรงหากติดเชื้อได้มาก
ทางเลือกเมื่อเตียงเต็มสำหรับผู้ป่วยโควิด-19
ข้อมูลจากพบหมอรามาฯ อธิบายว่า เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันอาจทำให้เตียงไม่พอสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์ก็ทำงานหนักมาก จึงต้องมี Home Isolation เพื่อแยกกักตัวที่บ้าน โดยผู้ป่วยต้องมีเกณฑ์ดังนี้
- เป็นผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ
- อายุน้อยกว่า 60 ปี
- มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
- อาศัยอยู่คนเดียว หรืออยู่ร่วมกันไม่เกิน 1 คน
- ไม่มีภาวะอ้วน
- ไม่มีโรคร่วม ได้แก่ โรคปอดอุดตัน โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และเบาหวานที่คุมไม่ได้
- ยินยอมแยกตัวในที่พักตัวเอง
ทั้งนี้ ใครที่มีเกณฑ์ดังกล่าวสามารถทำ Home Isolation ได้ โดยต้องติดต่อทางโรงพยาบาล หรือผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องการหาเตียงสามารถติดต่อได้ที่ Line @sabaideebot หรือที่สายด่วน 1669 , 1668 ,1330
อ้างอิง:โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ,โรงพยาบาลรามาธิบดี,กระทรวงสาธารณสุข,โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย