'สูบบุหรี่' เสี่ยงโรคมะเร็งช่องปากได้ถึง 10เท่า ชวนลด ละ เลิก 

'สูบบุหรี่' เสี่ยงโรคมะเร็งช่องปากได้ถึง 10เท่า ชวนลด ละ เลิก 

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย การสูบบุหรี่ 20 มวนต่อวัน เสี่ยงโรคมะเร็งช่องปาก ชวนลด ละ เลิกบุหรี่ทุกชนิด เพื่อตนเองและคนในครอบครัว เพื่อสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง และลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ

ปัจจุบันพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่อันดับต้นๆ  เนื่องจากโทษของการสูบบุหรี่ ตลอดจนการสูดดมควันบุหรี่ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูบและผู้อื่น เพราะผู้ที่อยู่ใกล้ๆก็จะได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่ก่อให้เกิดโรคร้ายเหมือนสูบบุหรี่เอง

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งช่องปาก โดยพบว่า 8 ใน 10 ของผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งช่องปาก เคยสูบบุหรี่มาก่อน ควันและความร้อนจากบุหรี่จะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเนื้อเยื่ออ่อนในช่องปาก เช่น บริเวณกระพุ้งแก้ม เพดานปาก และลำคอ เมื่อถูกระคายเคืองเป็นประจำ เนื้อเยื่อจะมีการอักเสบ หนาตัว เสี่ยงต่อการเปลี่ยนเป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งช่องปาก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ทำไมภาษีบุหรี่ไฟฟ้า ถึงไม่ใช่รายได้ที่ยั่งยืน

เทคโนโลยีขั้นสูง 'ผ่าตัดปอด' ไม่ต้องพักฟื้นนาน

ไม่ได้ "สูบบุหรี่" แต่ทำไมเป็น "โรคมะเร็งปอด"

รู้ทัน...โรคเส้นเลือดสมองโป่งพอง กว่าจะรู้ตัว ก็อาจสาย

 

สูบบุหรี่ 20 มวนต่อวัน เสี่ยงมะเร็งช่องปาก

นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การสูบบุหรี่ 20 มวนต่อวัน เพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งช่องปากได้มากถึง 10 เท่า หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์เป็นประจำร่วมด้วย จะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งช่องปากมากถึง 15 เท่า โดยความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวันและจำนวนปีที่สูบ

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบอื่นๆ จากการสูบบุหรี่ คือ คราบสีดำหรือน้ำตาลติดแน่นบนผิวฟัน วัสดุอุดฟันเปลี่ยนสี มีกลิ่นปาก ความสามารถในการรับรสลดลง การหลั่งน้ำลายลดลง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดฟันผุ และการสูบบุหรี่ยังเป็นอุปสรรคต่อการรักษาทางทันตกรรม จากการมีคราบเหนียวของน้ำมันดินในบุหรี่ติดแน่นบนตัวฟัน ทำให้ต้องใช้เวลาในการขัดออกนาน

"ผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคปริทันต์ขั้นรุนแรง รักษาไม่หายขาด อีกทั้งโรคจะลุกลามมากขึ้นจนต้องสูญเสียฟัน โดยผู้ที่สูบบุหรี่ 5-14 มวนต่อวัน จะมีโอกาสสูญเสียฟันมากกว่าคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ 2 เท่า สำหรับผู้ที่ต้องถอนฟัน ผ่าฟันคุด หรือผ่าตัดในช่องปาก หากไม่หยุดสูบบุหรี่จะทำให้แผลหายช้า และมีโอกาสติดเชื้อที่กระดูกเบ้าฟัน" อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

 

กรมอนามัยชวนประชาชนลด ละ เลิกบุหรี่ทุกชนิด

ทั้งนี้ กรมอนามัย ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน จึงขอเชิญชวนประชาชนลด ละ เลิกบุหรี่ทุกชนิด เพื่อตนเอง คนในครอบครัว อาจเริ่มต้นในวันที่ 31 พฤษภาคม ซึ่งทางองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้เป็น วันงดสูบบุหรี่โลก (World No Tobacco Day) รวมถึงขอเชิญชวนให้ประชาชนเข้ารับการตรวจคัดกรองรอยโรคก่อนมะเร็งช่องปากได้ที่คลินิกทันตกรรมของรัฐทุกแห่ง

การตรวจพบรอยโรคก่อนมะเร็งช่องปากตั้งแต่ในระยะแรกจะช่วยให้ประสิทธิผลของการรักษาดีขึ้นมาก นอกจากนี้ประชาชนสามารถตรวจรอยโรคในช่องปากได้ด้วยตนเอง หากมีรอยโรคแดง ขาว แผลหรือก้อนที่ไม่หายใน 3 สัปดาห์ก็ควรมาพบทันตแพทย์หรือแพทย์เพื่อการตรวจรักษาต่อไป