เปิดตัวเลข 'แพทย์ลาออก' 10 ปีย้อนหลัง รับภาระงานสูง เร่งผลิตเพิ่ม

เปิดตัวเลข 'แพทย์ลาออก' 10 ปีย้อนหลัง รับภาระงานสูง เร่งผลิตเพิ่ม

เปิดเผยข้อมูล 'แพทย์ลาออก' 10 ปีย้อนหลัง ยอมรับปัญหาแพทย์จบใหม่ลาออก เป็นผลจากภาระงานที่เพิ่มขึ้น และงบประมาณที่ไม่เพียงพอ ตั้งเป้าในปี 2570 ซึ่งจะเพิ่มจากเดิมมาประมาณ 10,000 คน

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 นายแพทย์ ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลการลาออกของแพทย์โดยในปี 2556 -2565 หรือ 10 ปีย้อนหลัง มีแพทย์บรรจุ จำนวน 19,355 คน ขณะที่แพทย์ลาออกแบ่งเป็น

  • แพทย์ใช้ทุนปีแรก ลาออก อยู่ที่ 226 คน เฉลี่ยปีละ 23 คน
  • แพทย์ใช้ทุนปีที่ 2 ลาออก 1,875 คนคิดเป็นร้อยละ 9.69 เฉลี่ยปีละ 188 คน
  • แพทย์ใช้ทุนปีที่ 3 ลาออก 858 คนร้อยละ 4.4 เฉลี่ยปีละ 86 คน
  • แพทย์ลาออกหลังพ้นภาระใช้ทุน 1,578 คน ร้อยละ 8.1 เฉลี่ยปีละ 158 คน

ทำให้ภาพรวมเฉลี่ยการลาออกของแพทย์ปีละ 455 คนรวมถึงเกษียณอายุราชการปีละ 150-200 คนรวมประมาณปีละ 655 คน

ปัจจัยการลาออกของแพทย์ เช่น แพทย์รายนั้นทำงานครบระยะการใช้ทุนจึงลาออกไปทำที่อื่น หรือ ด้วยเหตุผลส่วนตัว โดยกระทรวงสาธารณสุขมีแผนการผลิตแพทย์ โดยเป็นการปรับกรอบอัตรากำลังในปี 2565-2570 ตั้งเป้า ผลิตแพทย์ให้ได้ 35,000 คน ในปี 2570 ซึ่งจะเพิ่มจากเดิมมาประมาณ 10,000 คน

ทั้งนี้ ตามระบบการเรียนแพทย์ จะใช้ระยะเวลาเรียนจบ 6 ปี แต่ทางแพทยสภาได้มีการกำหนดให้แพทย์ได้เพิ่มพูนทักษะเฉพาะอีก 1 ปี โดยมีโรงพยาบาลทั้งหมด 117 แห่ง รวมเรียน 7ปี / จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขในการดูแลแพทย์กลุ่มนี้ เมื่อเรียนครบ 1 ปีแพทย์ก็สามารถที่จะไปเรียนต่อเฉพาะทางโดยใช้ทุนของกระทรวงสาธารณสุขอีก 3 ปี รวมเป็นทั้งหมด 10 ปี
 

ขณะที่ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัญหาเรื่องค่าตอบแทนและภาระงานที่หนักเกินไป เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ลาออก ซึ่งได้กำชับเรื่องของสวัสดิการและเรื่องของภาระงาน จนตัวเลขภาระงานค่อยๆ ลดลง และดีขึ้น โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้พยายามปรับเปลี่ยนภาระงานที่มีมากจนเกินไปในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปให้เกิดความสมดุล โดยยึดถือนโยบายว่าจังหวัดหนึ่งให้เป็นโรงพยาบาลเดียวกัน สามารถเคลื่อนย้ายบุคลากรกันได้