แยกความต่าง อาการ ‘โควิด19' – 'ไข้เลือดออก’ 15 มิถุนายนวันไข้เลือดออกอาเซียน

แยกความต่าง อาการ ‘โควิด19' – 'ไข้เลือดออก’ 15 มิถุนายนวันไข้เลือดออกอาเซียน

15 มิถุนายนวันไข้เลือดออกอาเซียน หน้าฝน 'โควิด19 'ไข้เลือดออก'จะระบาดในช่วงเดียวกัน ปีนี้ไข้เลือดออกมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าปีที่ผ่านมาแล้วกว่า 4 เท่า  ทั้ง 2 โรคมีไข้ แต่มีอาการส่วนที่ต่างกันของไข้เลือดออก - โควิด 19  ต้องสังเกต เข้ารักษาล่าช้าโอกาสอัตราเสียชีวิตสูง

Keypoints:

  • 15 มิถุนายน วันไข้เลือดออกอาเซียน กรมควบคุมโรคคาดการณ์ในหน้าฝนปีนี้ จะมีผู้ป่วยมากกว่าในช่วงปีที่ผ่านมา จากการที่ไม่ระบาดมาหลายปี คนไทยจึงภูมิคุ้มกันตก และเป็นช่วงที่ผู้ป่วยโควิด19 จะเพิ่มจำนวนขึ้นเช่นกัน        
  • สถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่ต้นปี 2566 พบผู้ป่วยแล้วกว่า 1.9 หมื่นคน มากกว่าปี 2565 กว่า 4 เท่า เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ เพราะการเข้ารับการรักษาล่าช้า 
  • แยกความแตกต่างอาการของโรคไข้เลือดออก และโควิด19 แม้มีไข้เหมือนกัน แต่ไข้เลือดออกจะไม่มีอาการทางเดินหายใจ ทว่า ถึงมีอาการทางเดินหายใจก็อาจเป็นไข้เลือดออกได้

          ในการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนครั้งที่ 22 เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2553 ณ ประเทศสิงคโปร์  10 ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียน คือ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บูรไน เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา มีมติร่วมกัน
        กำหนดให้วันที่ 15 มิถุนายนวันไข้เลือดออกอาเซียน (ASEAN Dengue Day) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนในประเทศตระหนักในการป้องกันโรค และร่วมกันแก้ปัญหา   

      วันไข้เลือดออกอาเซียน ประจำปี 2566 รณรงค์ภายใต้แนวคิด “ก้าวสู่สังคมไทย ไม่ป่วยตายด้วยไข้เลือดออก” (Moving Forward to Zero Dengue Death)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
เปิดปัจจัย-ข้อต้องระวัง ผู้ใหญ่เสียชีวิตจาก'ไข้เลือดออก'สูงกว่าเด็ก
'โรคติดต่อนำโดยแมลง' ปีนี้พุ่ง! ป่วยต้องแจ้งประวัติเดินทางไป 3 จ. กับแพทย์

สถานการณ์ไข้เลือดออก-โควิด19 

      ข้อมูลกรมควบคุมโรค(คร.) กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) รายงานสถานการณ์โควิด19 รอบสัปดาห์ระหว่างวันที่ 4-10 มิถุนายน 2566  จำนวนผู้ป่วยกษาตัวในรพ. เพิ่มขึ้น   2,709 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 387 ราย/วัน

- ผู้ป่วยปอดอักเสบ 382 ราย

- ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 231 ราย
 -เสียชีวิต  จำนวน 69 ราย เฉลี่ยรายวัน จำนวน 9 ราย/วัน
 - ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล สะสม(ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566) 23,833 ราย
- ผู้เสียชีวิต สะสม(ตั้งแต่ 1 มกราคม 2566) 563 ราย
      ขณะที่ผู้ป่วยไข้เลือดออก ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 7  มิถุนายน 2566

- ผู้ป่วยรายใหม่ จำนวน 1,330 ราย (สัปดาห์ที่22)
- ผู้ป่วยสะสม จำนวน 19,503 ราย

- ผู้เสียชีวิต จำนวน 17 ราย

- มากกว่าปีที่แล้ว 4.2 เท่า เป็นการระบาดสูงสุดในรอบ 3 ปี

- กลุ่มอายุที่พบอัตราป่วยสูงที่สุด ได้แก่ กลุ่มอายุ 5-14 ปี ป่วย 6,088 ราย อัตราป่วย 79.00 รองลงมา 15-24 ปี ป่วย 4,247 ราย อัตราป่วย 49.53

-จังหวัดที่พบอัตราป่วยสูงที่สุดในเดือนพฤษภาคม คือ จังหวัดตราด น่าน จันทบุรี แม่ฮ่องสอน และระยอง ตามลำดับ

         อย่างไรก็ตาม ทุกจังหวัดมีความเสี่ยงหมดก็ต้องควบคุมลูกน้ำยุงลาย แต่ละบ้านควรสำรวจลูกน้ำยุงลายและช่วยกันกำจัด รวมไปถึงชุมชนเพราะยุงลายบ้านหนึ่งก็ข้ามไปอีกบ้านทำให้ป่วยหรือระบาดในชุมชนได้

แยกความต่าง อาการ ‘โควิด19\' – \'ไข้เลือดออก’ 15 มิถุนายนวันไข้เลือดออกอาเซียน

          “ปีนี้ไข้เลือดออกน่าเป็นห่วง เนื่องจากภูมิต้านทานที่เคยมีกับไข้เลือดออกจะลดลง ปีนี้จึงเสีย่งสูงที่จะมีผู้ป่วยไข้เลือดออกสูงทั้งภูมิภาคอาเซียนและไทย ช่วงปีที่มีผู้ป่วยไข้เลือดออกมากๆ คือ ประมาณ 1.5 แสนคน ซึ่งปีนี้คนไทยมีภูมิต้านทานต่อไข้เลือดออกน้อย มีโอกาสป่วยหนักและเสียชีวิตได้" นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ปลัดสธ.กล่าว
          เดือนนี้จึงต้องไม่ประมาทและร่วมมือกัน เพราะไข้เลือดออกระบาดตามฤดูกาล คือ ช่วงฤดูฝน เดือน มิ.ย.ก็เข้าฤดูฝนแล้วจะเป็นช่วงที่มีผู้ติดเชื้อและเสีชีวิตสูงขึ้น และจะมีการระบาดสูงอยู่ 3-4 เดือนจากนี้ ก็ต้องช่วยกันรณรงค์ควบคุมป้องกันไข้เลือดออกตั้งแต่เดือนนี้เป็นต้นไป

ไข้เลือดออกรักษาล่าช้าเสียชีวิต

         นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า  การป่วยและเสียชีวิตมากที่สุดคือผู้ใหญ่ ซึ่งอาการไม่เหมือนรูปแบบที่เคยรู้จักมา บางครั้งมีอาการไม่กี่วันก็ทำให้อาการหนักรุนแรงหรืออาการแปลกๆ ได้ จึงต้องย้ำเตือนว่าระยะแรกของไข้เลือดออก การวินิจฉัยไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีอาการคล้ายกับโรคอื่น หากไม่ติดตามอาการหรือสังเกตจะทำให้การรักษาล่าช้า เกิดความรุนแรงและเสียชีวิตในที่สุด มาตรการวินิจฉัยให้เร็วที่สุดและสังเกตตัวเองจึงมีความสำคัญ

อาการไข้เลือดออก-โควิด19

      สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ ระบุถึงอาการไข้เลือดออก

  • มีไข้สูงลอยประมาณ 2-7วัน
  •  ผื่นหน้าแดง
  •  ปวดศีรษะ
  •  ปวดเมื่อย
  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปวดท้อง

       บางรายอาจมีถ่ายดำหรือถ่ายเป็นเลือดถ้ารุนแรง อาจเห็นจุดเลือดออกสีแดงเล็กๆ ตามผิวหนัง มักไม่พบอาการไอหรือมีน้ำมูก หากหายใจลำบากหรือปอดอักเสบ
แยกความต่าง อาการ ‘โควิด19\' – \'ไข้เลือดออก’ 15 มิถุนายนวันไข้เลือดออกอาเซียน

      ส่วนอาการโควิด19

  • จะมีไข้ต่ำถึงสูง
  • ปวดเมื่อยตามตัว
  • เจ็บคอ ไอแห้งหรือมีเสมหะ
  • มีน้ำมูก
  • หอบเหนื่อยหายใจลำบาก
  • ปอดอักเสบในรายที่รุนแรง
  •  อาเจียน
  • ท้องเสียมีในบางราย

           ไม่พบจุดเลือดออกตามผิวหนัง ผู้ปกครองควรสังเกตอาการหากมีอาการเหล่านี้ควรพบแพทย์ทันที

ความต่างอาการไข้เลือดออก-โควิด 19

           นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควมคุมโรค กล่าวว่า โควิด19 สามารถคัดกรองเบื้องต้นด้วย ATK ส่วนอาการจะคล้ายกัน คือไข้ขึ้น แต่ไข้เลือดออกมักจะไม่มีอาการระบบทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่จะไข้สูงลอย ปวดกระบอกตา มีจุดเลือดออกตามตัว มีเลือดออกตามไรฟัน หรือในกระเพาะอาหารเนื่องจากเกร็ดเลือดต่ำ ซึ่งอาการเหล่านี้จะไม่พบในโควิด19และไข้หวัดใหญ่

       "เมื่อมีอาการไข้ขึ้นแต่ม่มีอาการทางเดินหายใจ ตรวจไม่พบโควิด19ให้สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก ควรไปพบแพทย์ ทว่า แม้ว่าจะไข้ขึ้นและมีอาการทางเดินหายใจ ก็อาจเป็นไข้เลือดออกได้ เพราะอาจติดเชื้ออื่นร่วมได้เช่นกัน ต้องสังเกตอาการแล้วไปพบแพทย์"