'โรคติดต่อนำโดยแมลง' ปีนี้พุ่ง! ป่วยต้องแจ้งประวัติเดินทางไป 3 จ. กับแพทย์

'โรคติดต่อนำโดยแมลง' ปีนี้พุ่ง! ป่วยต้องแจ้งประวัติเดินทางไป 3 จ. กับแพทย์

โรคติดต่อนำโดยแมลง ปีนี้ดุ! มาลาเรียพบผู้ป่วยมากกว่าปีก่อน 3 เท่า  เตือนมีอาการป่วย พบแพทย์ต้องแจ้งประวัติประวัติเดินทาง  โดยเฉพาะพื้นที่ระบาดมาก 3 จังหวัด ขณะที่ไข้เลือดออกเพิ่ม 6 เท่า เสียชีวิตเป็นผู้ใหญ่ 50 %

Key Points:

  •  กรมควบคุมโรคคาดการณ์ปีนี้โรคติดต่อนำโดยแมลงแนวโน้มมากกว่าปี 2565  แม้ยังไม่ใช่ช่วงระบาดในหน้าฝน กลับพบผู้ป่วยมาลาเรียมากขึ้น 3เท่า ไข้เลือดออก 6 เท่า 
  • พื้นที่เสี่ยงมาลาเรียที่พบผู้ป่วยมาก และดัชนีความเสี่ยงไข้เลือดออก เมื่อประเมินจากผลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย บางจังหวัดพบ 100 % จากที่มีการสำรวจ
  • แนวทางในการป้องกัน โรคติดต่อนำโดยแมลง เมื่อยังไม่มีวัคซีน รวมถึง อาการสำคัญ และข้อปฏิบัติ เมื่อป่วยแล้วไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา จำเป็นจะต้องแจ้งประวัติการเดินทางกับแพทย์

สถานการณ์โรคติดต่อโดยแมลง
     กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์ โรคติดต่อนำโดยแมลง ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-26 เม.ย.2566 ผู้ป่วยสะสม 18,207 ราย ผู้เสียชีวิต  14 คน แยกเป็น โรคไข้เลือดออก 13,987 ราย โรคมาลาเรีย 2,417 ราย สครับไทฟัส 1,152 ราย ชิคุนกุนยา  423 ราย ซิกา 48 ราย เท้าช้างและลิชมาเนีย โรคละ 1 ราย 

     ในส่วนของ 2 โรคที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ 1.ไข้เลือดออก ปี  2566 จากจำนวนผู้ป่วย 4 เดือนที่ผ่านมา อัตราป่วยอยู่ที่ 21.14 ต่อแสนประชากร  เสียชีวิต 13 คน อัตราป่วยตาย 0.09 %  จำนวนผู้ป่วยของปี 2566 ที่ผ่านมามากกว่า ปี 2565 ในช่วงเวลาเดียวกัน 6.2 เท่า

 

หากดูช่วงเวลาเดียวกัน 5 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่  2561-2565 พบว่า

  • 2561 จำนวนผู้ป่วย 10,683 ราย อัตราป่วยตาย 0.18%   
  • 2562  จำนวนผู้ป่วย 21,815 ราย อัตราป่วยตาย 0.14%
  • 2563 จำนวนผู้ป่วย 12,605 ราย อัตราป่วยตาย 0.08 %
  • 2564 จำนวนผู้ป่วย 3,012 ราย อัตราป่วยตาย  0.07 %
  • 2565  จำนวนผู้ป่วย 2,252 ราย อัตราป่วยตาย 0.07 %
    \'โรคติดต่อนำโดยแมลง\' ปีนี้พุ่ง! ป่วยต้องแจ้งประวัติเดินทางไป 3 จ. กับแพทย์

          และ2.มาลาเรีย  มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 จำนวน 2.9 เท่า  โดยพื้นที่ที่พบผู้ป่วยจำนวนมากส่วนใหญ่เป็นจังหวัดชายแดน จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 

  1. ตาก 2,160 ราย
  2. แม่ฮ่องสอน 379 ราย
  3. กาญจนบุรี  165 ราย
  4. ประจวบคีรีขันธ์ 77  ราย
  5. ยะลา 54 ราย 

     ผลสำรวจลูกน้ำยุงลาย

    ผลการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ผ่านแอปพลิเคชัน อสม./อา.ออนไลน์ ประจำปี 2566 พบว่า

  • จำนวนบ้านที่สำรวจ 4,869,532 หลัง จำนวนบ้านที่พบ 385,328 หลัง  ค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในบ้าน 7.91 %
  •   จำนวนภาชนะที่สำรวจพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จำนวนภาชนะที่สำรวจ 53,176,539 ภาชนะ จำนวนภาชนะที่พบ 1,171,412 ภาชนะ ค่าดัชนีที่พบ 2.2 %

จังหวัดที่มีค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในบ้าน มากที่สุด  5  อันดับแรก ได้แก่

  1. สมุทรสาคร 100 %
  2. นราธิวาส 31.39 %
  3. นนทบุรี 27.27 %
  4. ปัตตานี 25.51 %
  5. สมุทรปราการ 25 %

ปัจจัยที่มาลาเรียเพิ่มขึ้น

     นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า คาดการณ์แนวโน้มว่าโรคติดต่อนำโดยแมลงปีนี้จะมีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ได้ระบาดติดต่อกันมา 3 ปีในช่วงที่มีสถานการณ์โควิด-19 โดยในส่วนของโรคมาลาเรียขณะนี้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นราว 3-4 เท่า เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565
         ปัจจัยเนื่องจากผู้ป่วยจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามารับการรักษาในรพ.ฝั่งไทย เมื่อถูกวินิจฉัยเป็นมาลาเรีย ต้องนับเป็นผู้ป่วยในประเทศไทย และสามารถแบ่งได้ว่าผู้ป่วยรายใดเป็นผู้ป่วยที่เพิ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทย เช่น ถ้าอยู่ไม่เกิน 6 เดือนนับเป็นผู้ที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือต่างชาติที่มีอยู่ในประเทศไทยเกิน 6 เดือนเมื่อถูกยุงก้นปล่องที่มีเชื้อกัด ก็ทำให้ติดเชื้อเพิ่มเช่นกัน

        ผู้ป่วย 2 กลุ่มนี้จำนวนมากกว่าครึ่งของผู้ป่วยที่พบในประเทศไทย เมื่อผู้ป่วย 2 กลุ่มนี้มีจำนวนมาก ก็อาจจะส่งผลทำให้ผู้ป่วยไทยเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงต้องรีบรักษาหมดทุกคน หลักการ คือ เฝ้าระวังในผู้ที่มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย กินไม่ได้ ที่สงสัยมาลาเรียให้รับตรวจวินิจฉัย ซึ่งปัจจุบันมีชุดตรวจมาลาเรีย คล้ายกับชุดตรวจโควิด-19 เมื่อตรวจเจอก็รีบให้ยารักษา ถ้าผู้ป่วยได้รับยาเร็วอาการจะดีขึ้นเร็ว และไม่แพร่เชื้อต่อ
พื้นที่เสี่ยง-ป้องกันมาลาเรีย
         นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า มาลาเรียมากับการเดินทาง ช่วงโควิดปี 2563-2564 ที่ห้ามเดินทางเข้าออกประเทศและมีมาตรการที่ดีในฝั่งไทย มาลาเรียก็ลดลง ส่วนปัจจุบันแม้มีมาตรการที่ดีแต่ต่างชาติเดินทางเข้ามา ก็ทำให้ผู้ป่วยในไทยเพิ่ม ส่วนใหญ่อยู่ตามแนวชายแดน  
        โดยผู้ป่วยมากกว่า 90 % อยู่จังหวัดชายแดน คือ แม่ฮ่องสอน ตาก กาญจนบุรี ที่เหลือไม่มากก็อยู่ถัดลงมา จ.ราชบุรี เพชรบุรีประจวบคีรีขันธ์ ปัจจุบันยังเป็นสายพันธุ์ที่ไม่ได้ดื้อต่อยารักษา เพียงแต่อาจมีเรื่องการเข้าไม่ถึงการรักษา ทำให้มีระยะแพร่เชื้ออยู่นาน เพราะปกติถ้ากินยาเร็ว เชื้อหมด ก็ไม่แพร่เชื้อ เมื่อเขาเข้ามาพึ่งประเทศไทย ทางด้านมนุษยธรรมก็ต้องให้การดูแลรักษา
       สำคัญคือการป้องกันอย่าให้ยุงก้นปล่องกัด ซึ่งมันเป็นเรื่องยากเพราะยุงนี้อยู่ในป่า แต่ในพื้นที่มีการกำจัดยุงด้นปล่องด้วยการพ่นสารเคมี เพื่อฆ่ายุง และแจกมุ้งที่ชุบสารเคมีป้องกันไม่ให้ยุงเข้ามากัดตอนกลางคืน เมื่อออกไปในป่าจะต้องสวมเสื้อผ้ามิดชิดแขนยาวกางเกงขายาว  ระมัดระวังการถูกยุงกัด ส่วนวัคซีนยังอยู่ระหว่างการวิจัย

ป่วยต้องแจ้งประวัติเดินทางกับแพทย์

      “คนไทยที่เดินทางไปพื้นที่ชายแดนที่อาจจะการระบาดของมาลาเรีย หากกลับมาแล้วป้วยมีไข้ ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ กินไม่ได้ บางรายอาจจะมีอาการทางสมอง หากมีอาการเข้าได้กับโรคมาลาเรีย จะต้องบอกแพทย์ว่ามีประวัติไปในพื้นที่มีโรคมาลาเรียมา เช่น บอกชื่อจังหวัด บอกพื้นที่ที่ไปมา  แพทย์จะได้นึกถึงมาลาเรียอีกโรคหนึ่ง จะได้มีการตรวจเลือด ตรวจวินิจฉัยได้ เมื่อเจอก็รีบรักษา แต่หากไปพื้นที่บนดอยที่ไม่ได้มีมาลาเรียระบาดก็ค่อนข้างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม ต้องระมัดระวังไม่ให้ยุงกัดและติดตามข้อมูลเสมอ เพราะสถานการณ์เปลี่ยนได้”นพ.โสภณกล่าว 

\'โรคติดต่อนำโดยแมลง\' ปีนี้พุ่ง! ป่วยต้องแจ้งประวัติเดินทางไป 3 จ. กับแพทย์
ไข้เลือดออกตาย 50 % เป็นผู้ใหญ่
      สำหรับโรคไข้เลือดออกปีนี้ก็เป็นโรคติดต่อนำโดยแมลงอีกโรคที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วงม.ค.-เม.ย.2566เป็นช่วงหน้าแล้ง ยังมีผู้ป่วยกว่า 10,000 คน เมื่อเข้าสู่หน้าฝนตัวเลขจะมากขึ้นกว่านี้แน่นอน เสียชีวิต 13 คน ในจำนวนที่เสียชีวิตเป็นผู้ใหญ่เกิน 50 %  ซึ่งไข้เลือดออกส่วนใหญ่เป็นโรคในเด็ก ที่จะมีการติดเชื้อมาก ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่มาก แต่บางคนก็อาการรุนแรงเสียชีวิตได้

        ปัจจุบันมีการป้องกันตัวดี จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่จึงมีการติดเชื้อครั้งที่ 2 จะรุนแรงกว่าการติดเชื้อครั้งแรก และผู้ใหญ่ที่ติดเชื้อครั้งที่ 2  เช่น วัยรุ่น วัยทำงาน อาจจะมีอาการรุนแรง รวมถึง คนไม่นึกว่าจะเป็นไข้เลือดออกด้วย อย่างเช่น กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี หรือชุมชนเมือง ที่มีไข้เลือดออกอยู่แล้ว

        เมื่อมีอาการไข้ ปวดศรีษะ ปวดกระบอกตา บางคนอาจจะมีเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟันหรือเลือดออกบริเวณอื่น หรือผู้หญิงมีเลือดประจำเดือนออกนานกว่าปกติ ไม่ได้คิดว่าเป็นไข้เลือดออก คิดว่าเป็นไข้ทับระดู ทำให้ไปเข้ารับการรักษาช้า

       "เมื่อรักษาช้าเป็นอันตราย เพราะเข้าสู่ระยะช็อกหรือเสียเลือดมาก จึงทำให้ผู้ใหญ่เสียชีวิตมากกว่าเด็ก แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยที่เกิดขึ้นจริงจะมากกว่าผู้ใหญ่ก็ตาม อย่างไรก็ตาม หากมีการรณรงค์เรื่องไข้เลือดออกเร็ว โดยที่ยังไม่เข้าหน้าฝนช่วงที่มีผู้ป่วยมาก จะช่วยลดความเสี่ยง ซึ่งโดยเฉลี่ยในปีก่อนๆมีจำนวนผู้ป่วยราว 40,000-50,000 ราย ”นพ.โสภณกล่าว