PM2.5หนักหน่วง ประกาศกำหนดพื้นที่ 3 ระดับ ออกมาตรการควบคุมเข้ม
คณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม เห็นชอบเพิ่ม "โรคจากรังสีแตกตัว" เป็นโรคจากการประกอบอาชีพฯ ต้องเฝ้าระวัง-ป่วยมีสิทธิรับค่าชดเชย พร้อมกรณี PM2.5หนักหน่วง ประกาศกำหนดพื้นที่ 3 ระดับ ออกมาตรการควบคุมเข้ม
เมื่อวันที่ 3 พ.ค.2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมว่า คณะกรรมการฯพิจารณาเห็นชอบ 2 เรื่อง คือ
1.การประกาศกำหนดชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม ที่มีการเพิ่มโรคจากรังสีแตกตัวเข้ามา โดยจะออกเป็นร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมต่อไป เนื่องจากที่ผ่านมาเกิดสถานการณ์เรื่องของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ที่ทำให้สังคมเกิดความกังวล
“การเพิ่มโรคจากรังสีแตกตัวเข้ามาเป็นโรคจากการประกอบอาชีพฯ ก็จะมีการนิยามช่อโรคและอาการโดยกว้างๆ ทำให้เกิดแนวทางการดำเนินการจัดการสารกัมมันตรังสี มีการเฝ้าระวังและตอบโต้ได้ทันสถานการณ์ โดยคนที่มีอาการเข้าได้กับนิยามต้องมีการรายงาน รวมถึง หากมีการป่วยด้วยโรคจากการประกอบอาชีพฯจะได้รับค่าทดแทน ชดเชย ซึ่งส่วนนี้มีกฎหมายแรงงานเกี่ยวข้องด้วย ก็ต้องหารือเพื่อทำงานเสริมกัน”นพ.โอภาสกล่าว
ประกาศเขตพื้นที่คุมPM2.5
และ 2.การประกาศเขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม กรณีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2562 มาตรา 14 (2) คณะกรรมการมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอเขตพื้นที่ที่ต้องมีการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะต่อคณะรัฐมนตรี
มาตรา 35 เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากปล่อยไว้อาจเกิดหรือก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อชีวิต ร่างกาย หรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในเขตพื้นที่ ให้อธิบดีกรมควบคุมโรคหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมโรคมอบหมายโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ จังหวัด/กทม. มีอำนาจประกาศเขตพื้นที่ที่จำเป็นต้องเฝ้าระวัง ป้องกัน หรือควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพหรือโรคจากสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประกาศยกเลิกเมื่อมีเหตุอันสมควรหรือสภาวการณ์ของโรคนั้นสงบลง
"การประกาศกำหนดเขตพื้นที่ ให้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพหรือโรคจากสิ่งแวดล้อมที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรวดเร็วหรือกว้างขวาง เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการสำหรับเขตพื้นที่นั้นเป็นการเฉพาะ หรือกำหนดมาตรการอื่นใดที่เหมาะสมแก่สภาพของพื้นที่นั้นเป็นการเฉพาะก็ได้ และยังกำหนด ประเภท ขนาด และลักษณะของแหล่งกำเนิดมลพิษ และประเภทหรือกลุ่มของประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ" นพ.โอภาสกล่าว
กำหนด 3 ระดับพื้นที่ คุมPM2.5
ด้านนพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค(คร.) กล่าวว่า ในส่วนของการประกาศพื้นที่PM2.5 จะประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง พื้นที่ควบคุม หรือพื้นที่ควบคุมสูงสุด คล้ายกับกรณีการประกาศพื้นที่สถานการณ์โควิด-19 โดยจะใช้พิจารณาจากเกณฑ์ค่าPM2.5ของกรมควบคุมมลพิษ เช่น ค่าเกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรกี่วันเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง เป็นต้น แต่จะต้องพิจารณาเกณฑ์อีกครั้งหลังกรมควบคุมมลพิษมีการปรับค่าPM2.5แล้ว
ทั้งนี้ หากมีค่าฝุ่นPM2.5เข้าเกณฑ์การประกาศพื้นที่ใหลายจังหวัด จะต้องนำเข้าครม.หึ้ความเห็นชอบในการประกาศพื้นที่ แต่ถ้ามีความเร่งด่วน มีความอันตราย สามารถประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมได้โดยอำนาจของอธิบดีกรมควบคุมโรค ภายใต้คำแนะนำจากคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพฯ จังหวัด/กทม. ประกาศเฉพาะจังหวัดนั้นๆ
“เมื่อประกาศพื้นที่ใดเป็นพื้นที่เฝ้าระวัง หรือควบคุมหรือควบคุมสูงสุดแล้ว ก็จะมีหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข เข้าไปดำเนินการได้ ทั้งในแง่ของการควบคุมแหล่งกำเนิดPM2.5 การป้องกัน และการดูแลรักษาพยาบาล ซึ่งแต่ละพื้นที่ก็จะมีการออกมาตรการมาดำเนินการแตกต่างกันตามปัญหาของพื้นที่ เช่น ต่างจังหวัดอาจมีมาตรการคุมแหล่งกำเนิดเป็นเรื่องการเผา ขณะที่กทม.อาจเป็นมาตรการแหล่งกำเนิดจากรถ เป็นต้น”นพ.ธเรศกล่าว
เหล่านี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่จะนำมาใช้ในช่วงที่จะมีPM2.5มากในรอบถัดไป แต่ระหว่างนี้อาจจะมีการทดลองการใช้กลไกนี้ในพื้นที่จริง อย่างเช่น ในจ.เชียงใหม่ เชียงรายที่มีค่า PM2.5สูง เป็นพื้นที่ควบคุมและจังหวัดอื่นที่มีค่าระดับกลางๆ เป็นพื้นที่เฝ้าระวัง เพื่อประเมิน