กปท. นนทบุรี เดินหน้า 'โครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่' ดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่

กปท. นนทบุรี เดินหน้า 'โครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่' ดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่

กองทุน กปท.เทศบาลนครนนทบุรี จ.นนทบุรี จัดโครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับการขับถ่ายและผ้าอ้อมทางเลือกสำหรับบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง และบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้

เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.สาธิต ทิมขำ ผู้อำนวยการเขต สปสช.เขต 4 สระบุรี นพ.ชุติเดช ตาบ-องครักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช. นพ.รุ่งฤทัย มวลประสิทธิ์พร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนนทบุรี (สสจ.นนทบุรี) พร้อมคณะ ลงพื้นที่เยี่ยมชมและรับฟังการดำเนินงาน 'โครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับการขับถ่ายและผ้าอ้อมทางเลือกสำหรับบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง และบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้' โดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น (กปท.) โดยมี นายสมนึก ธนเดชากุล นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และสมาชิกสภาเทศบาลนครนนทบุรี ร่วมลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยและมอบผ้าอ้อมผู้ใหญ่

 

นายสมนึก กล่าวว่า กปท. เทศบาลนครนนทบุรี ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุข เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิงและบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ที่จำเป็นต้องใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่เพื่อนำไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน และเป็นการยกระดับการดูแลและส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่เขตเทศบาลนครนนทบุรี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ทั้งนี้ กปท. เทศบาลนครนนทบุรี ได้สนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ให้ครอบคลุมในพื้นที่ ผ่านศูนย์บริการสาธารณสุขของเทศบาลนครนนทบุรี จำนวน 11 แห่ง และคลินิกหมอครอบครัววัดแคนอก เครือข่ายโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จำนวน 1 แห่ง รวมทั้งหมด 12 หน่วยงาน มีผู้ป่วยจำนวน 532 คน แบ่งได้เป็นกลุ่ม ดัง

 

  • กลุ่ม ก. เป็นบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง และมีค่าคะแนนระดับความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวันตามดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel ADL index) เท่ากับหรือน้อยกว่า 6 คะแนน ตามแผนการดูแลรายบุคคลระยะยาวด้านสาธารณสุข (Care Plan) จำนวน 254 คน 
  • กลุ่ม ข. เป็นบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ตามผลการประเมินหรือข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ จำนวน 278 คน 

 

นายสมนึก กล่าวอีกว่า ได้รับงบประมาณจาก กปท. เป็นเงิน 4,609,248 บาท แต่ละคนจะได้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ จำนวน 3 ชิ้น ต่อวัน คิดแล้วตกชิ้นละ 9.50 บาท โดยมีแผนแจกเป็นรายเดือนเพื่อให้เหมาะสมกับสถานที่เก็บของบ้านผู้ป่วย ซึ่งผลการจัดทำโครงการตามแนวทางการดำเนินงานของ สปสช. พบว่า ผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดเตียงพอใจโครงการ มองว่าเป็นโครงการที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนอย่างมาก เพราะช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน

 

ด้าน นพ.รุ่งฤทัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงกว่าร้อยละ 2 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด ถ้าหากมีการดูแลสุขอนามัยที่ดีขึ้นก็จะทำให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติได้ หรือสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ซึ่งการกระจายโครงการในพื้นที่ได้มีการให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และศูนย์บริการสาธารณสุขต่างๆ เป็นผู้ดำเนินการสำรวจ ทางด้านของเทศบาลนครนนทบุรีจะมีอาสาสมัครสาธารณสุขดูแลผู้สูงอายุหรือ Care Giver สำรวจและมีการวางแผนการดูแลเป็นรายบุคคลเพราะแต่ละคนมีรายละเอียดที่จะต้องการดูแลแตกต่างกันไป

 


นพ.จเด็จ กล่าวว่า โครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับการขับถ่าย และผ้าอ้อมทางเลือกสำหรับบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง และบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ เกิดจากการที่ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 มีมติเห็นชอบบรรจุ "ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับขับถ่าย" ให้เป็นสิทธิประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ครอบคลุมประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพ โดยใช้งบประมาณจาก กปท.

  • ภาพรวมทั้งประเทศมี กปท. 7,753 แห่ง
  • ดำเนินการโครงการผ้าอ้อม 1,113 แห่ง  1,430 โครงการ
  • ผู้ที่ได้รับผ้าอ้อมจำนวนมากถึง 25,901 ราย
  • จากที่คาดการณ์ไว้ 1.3 หมื่นราย
  • ปัจจุบันมีผ้าอ้อมที่แจก 124 ล้านชิ้น
  • และแผ่นรองซับ 345,945 ชิ้น
  • ใช้งบประมาณรวม 119.83 ล้านบาท

 

สำหรับการจัดการงบประมาณ ปัจจุบันใช้กองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่นที่มีการรวมกันระหว่างกองทุนของ สปสช. และกองทุนท้องถิ่น ซึ่งถ้าหากไม่เพียงพอ ตอนนี้สามารถที่จะทำแผนขึ้นมาเพื่อขอทุนระดับจังหวัดได้ แต่ถ้าหากว่ายังไม่เพียงพออีกก็จะมีกองทุนอีก 1 กองทุนเข้าไปเสริมเป็นของกองทุนกลาง 

 

“เราเชื่อว่า 3 มาตรการการจัดการที่เราวางไว้จะเพียงพอต่อพี่น้องประชาชนที่มีความจำเป็นจะต้องใช้ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ซึ่งการมีผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงคนหนึ่ง แน่นอนว่าเราต้องใช้ทรัพยากรจำนวนหนึ่งเข้ามาดูแล แต่ถ้าเราสามารถจัดระบบดีๆ ก็จะสามารถดูแลผู้ป่วยอย่างทั่วถึงได้” นพ.จเด็จ กล่าว