5 ข้อสรุปร่วมสธ.-ก.พ. แก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ ภาระงานหนัก-ลาออก

5 ข้อสรุปร่วมสธ.-ก.พ. แก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ ภาระงานหนัก-ลาออก

สธ.-ก.พ.เห็นชอบร่วมแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ หาเพิ่มตำแหน่งข้าราชการตามกรอบขั้นสูง แพทย์ 35,000 -พยาบาล 1.7แสน ปลดล็อกพยาบาลขึ้นชำนาญการพิเศษ ชงจัดสรรแพทย์เพิ่มพูนทักษะให้สธ. 85 %  คงแพทย์ประจำบ้านไว้ในภูมิภาค เพิ่มผลิตแพทย์ซีเพิร์ด  เห็นความเปลี่ยนแปลงใน 30 วัน 

       จากกรณีปัญหาบุคลากรสาธารณสุขในเรื่องภาระงานที่หนัก ส่งผลให้มีการลาออกจากระบบ  โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาล เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการประชุมหารือร่วมระหว่างกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) เรื่องบุคลากร ซึ่งปกติจะมีการประชุมหารือร่วมกันอย่างต่อเนื่องประจำทุกเดือน โดยนพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)  แถลงข่าวภายหลังการประชุมว่า  จากการประชุมร่วมกัน ได้มีความเห็นตรงกันว่า ภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพิ่มขึ้น ซึ่งมีหลายสาเหตุ ทั้งจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้ต้องรับบริการการแพทย์เพิ่มขึ้น การรองรับการดูแลผู้ติดยาเสพติด ซึ่งมีประมาณ 1 ล้านคน
         นอกจากนี้ เรื่องความคาดหวังต่อระบบบริการสาธารณสุขที่มีมากขึ้น ทั้งการครอบคลุมสถานที่ คุณภาพ ห้วงเวลาที่เหมาะสม ทำให้ภาระงานบุคลากรฯ เพิ่มขึ้นชัดเจน อีกประการที่เป็นเหตุย่อยๆ คือ การถ่ายโอน รพ.สต. ทำให้บางแห่งไม่สามารถจัดบริการประชาชนได้เหมือนเดิม ทำให้ต้องกลับมารับบริการที่รพ.ของสธ. แม้ที่ผ่านมาจะมีบุคลากร ทั้งแพทย์ พยาบาลเพิ่ม แต่เมื่อเทียบภาระงาน ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี จึงต้องหารือร่วมกันโดยใช้กรอบความคิด วิธีการใหม่ในการดำเนินการ
 

 ก.พ.พร้อมขับเคลื่อนร่วมสธ.

    นายปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กล่าวว่า  สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) และสธ.ได้หารือร่วมกันเป็นประจำอยู่แล้ว ในเรื่องการปรับเปลี่ยนปรับปรุงระบบบุคลากรสาธารณสุขให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนไป โดยก.พ.สนับสนุนบุคลากรการแพทย์มาตลอด ทั้งอัตรากำลัง ค่าตอบแทน เพียงแต่ช่วงที่ผ่านมาเห็นความจำเป็นเร่งด่วนต้องมาแก้ไขให้ทันท่วงที โดยต้องพิจารณาทั้งประชาชนที่ต้องการได้รับบริการ ตัวระบบในเรื่องอัตรากำลัง ต้องเร่งแก้ไขและดูภาพรวม ว่า อัตรากำลังตรงไหน เมื่อไหร่ อย่างไรที่ต้องบริหารจัดการ  ทั้งนี้ ก.พ. ตระหนักดีว่า แรงจูงใจ ขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานเป็นสิ่งสำคัญท่ามกลางภาระงานที่หนักหน่วง ทาง ก.พ.พร้อมขับเคลื่อนงานร่วมกับ สธ.

5 ข้อสรุปร่วมสธ.-ก.พ. แก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ ภาระงานหนัก-ลาออก

 เพิ่มข้าราชการใช้กรอบขั้นสูง

     นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดสธ. กล่าวว่า ข้อสรุปของการนำเสนอที่ประชุมเห็นชอบใน 5 ประเด็น  ประกอบด้วย 1.การหาเพิ่มจำนวนตำแหน่งของข้าราชการให้ได้อยู่ในกรอบขั้นสูง ซึ่งแต่ละวิชาชีพจะไม่กันโดยมีหลักคิดและวางไว้ในทุกระดับและมีการกระจาย อาทิ  แพทย์ อยู่ที่ 35,000  คน พยาบาล  140,000 คน และวิชาชีพอื่นๆ 2.ความก้าวหน้าที่เป็นขวัญกำลังใจ ที่ประชุมบรรลุวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะวิชาชีพพยาบาลที่ปัจจุบันตันอยู่ที่ชำนาญการหรือซี 7  รอเรื่องของการปรับเป็นชำนาญการพิเศษหรือซี 8
       นอกจากนี้ ให้มองถึงเชี่ยวชาญให้ได้โดยเฉพาะในพื้นที่ภูมิภาคจะต้องให้การพิจารณาเป็นพิเศษ  จะมีการตั้งคณะทำงานดูเกณฑ์ กฎระเบียบที่ติดขัด เช่น เรื่องของจำนวนพยาบาลจะต้องครบ 4 คนถึงจะปรับเป็นชำนาญการพิเศษได้  ซึ่งติดล็อกจะสามารถผ่อนปรนได้หรือไม่ เพราะบุคลากรไม่เพียงพออยู่แล้ว
ปรับระบบฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน
       3.การจัดสรรบุคลากรให้เพียงพอ โดยเฉพาะแพทย์ ที่เมื่อมองอัตรากำลังแล้วจะเห็นภาพชัด คือ แพทย์ในส่วนภูมิภาคจะหายไปจากการลาฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านปีละ 4,000 คน ก็จะแบ่งเป็น 2 ส่วน  ได้แก่  1.การลาฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน จะไปอยู่ภาคของมหาวิทยาลัยหากเข้าส่วนกลางก็จะลดจำนวนแพทย์ในพื้นที่ลง แต่หากอยู่ในภูมิภาคก็จะเป็นการดี ก็จะขอให้อยู่ในพื้นที่มากที่สุด โดยปี 2 ,ปี 3 ก็จะคงผู้ที่มีทักษะมากควรจะอยู่ในพื้นที่ จะมีการหารือร่วมกับแพทยสภาอีกครั้ง และ2.สนับสนุนเรื่องของการลาฝึกอบรมแล้วอยู่ในพื้นที่ภูมิภาค เช่น รพ.สังกัดสธ.ที่มีความสามารถในการเป็นศูนย์ฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านได้ 48 แห่งทั่วประเทศ ก็จะให้ไม่ต้องลาศึกษา แต่เป็นการไปทำงานและสามารถที่จะอยู่ปฏิบัตงานฝึกอบรมและได้วุฒิบัตร ก็จะสามารถคงอัตรากำลังไว้ในพื้นที่ได้ปีละ 1,500 คน
เพิ่มการจัดสรร-ผลิตแพทย์
      4.การจัดสรรแพทย์เพิ่มพูนทักษะหรือแพทย์ใช้ทุนปี 1 ให้สธ.อย่างเพียงพอต่อภาระงานที่ประมาณปีละ 85 % โดยจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์อีกครั้ง จากปัจจุบันที่สธ.ได้รับจัดสรรปีละราว 1,900-2,000 คน หรือคิดเป็น 70 % ขณะที่สธ.มีภาระงานในการดูแลผู้ป่วยโดยเฉพาะสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง 88 % 

    และ5.ระยะยาว จากวิเคราะห์แล้วการผลิตแพทย์ ในส่วนของหลักสูตรแพทยศาสตร์ศึกษา โครงการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท หรือ CPIRD มีอัตราการคงอยู่ในระบบที่ 80-90 % จะมีการขยายจำนวนของนักศึกษาให้ได้ปีละ 2,000 คนซึ่งจะตรงกับตัวเลขความต้องการของสธ.
      “ทั้งหมดทั้งปวงจะมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาในเรื่องต่างๆ อย่างการปรับให้พยาบาลเป็นชำนาญการพิเศษ มีระเบียบ กฎเกณฑ์ ข้อกำหนดต่างๆส่วนไหนเป็นอย่างไร ต้องมีการปรับ แก้ไขอย่างไรในการรองรับ จะต้องได้เห็นความเปลี่ยนแปลงภายใน 30 วัน”นพ.ทวีศิลป์กล่าว 
 ช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลไม่ติดขัด

      นายรณภพ ปัทมะดิษ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  สธ.มีความพิเศษและแตกต่างจากหน่วยงานรัฐอื่น คือ มีการทำงานตลอด  24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ในการแก้ปัญหาวัตถุประสงค์หลัก คือ การดำเนินการเพื่อประชาชนเป็นหลัก หวังว่าภายใน 30 วันจะเกิดมาตรการและสามารถลงมือปฏิบัติได้ ทั้งนี้ การดำเนินการงานเป็นไปตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น แม้เป็นช่วงจัดตั้งรัฐบาลใหม่ก็จะยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ 
อัตราข้าราชการกรอบขั้นสูง

    ตัวอย่างอัตรากำลังตำแหน่งข้าราชการตามกรอบขั้นสูง (ภายในปี 2569)
1.แพทย์ 35,578 ตำแหน่ง  สูญเสียเฉลี่ยปีละ 1,000 ตำแหน่ง

2.ทันตแพทย์ 9,475 ตำแหน่ง  สูญเสียเฉลี่ยปีละ 300 ตำแหน่ง

3.เภสัชกร 14,809 ตำแหน่ง  สูญเสียเฉลี่ยปีละ 130 ตำแหน่ง

4.พยาบาล 175,923 ตำแหน่ง  สูญเสียเฉลี่ยปีละ 4,200 ตำแหน่ง
5.นักกายภาพบำบัด/เจ้าพนักงานเวชกรรมฟื้นู 7,879 ตำแหน่ง สูญเสียเฉลี่ยปีละ 60 ตำแหน่ง
6.นักเทคนิคการแพทย์/นักวิทยาศาสตร์การแพทย์/เจ้าพนักงานวิทยาศ่าสตร์การแพทย์ 14,026 ตำแหน่ง  สูญเสียเฉลี่ยปีละ 150 ตำแหน่ง

7.อื่นๆอีก 63 สายวิชาชีพ