ปรับนิยาม ‘ประกันถ้วนหน้า’ แก้ ‘หมอรพ.รัฐ’ ไม่พอ-ลาออก
จากปัญหา "หมอลาออก" เป็นจำนวนมากในหลายปีที่ผ่านมาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นภาระงานหนักเกินไป รายได้ไม่สอดคล้องค่าครองชีพ ไปจนถึงสภาพแวดล้อมการทำงาน ส่งผลให้หลายหน่วยงานต้องเร่งแก้ไข เพื่อลดปัญหาแพทย์ขาดแคลน
ปัญหาการ "แพทย์" ไม่พอ แพทย์ที่มีอยู่ทำงานหนัก "หมอลาออก" เกิดขึ้นมานานแล้ว และอาจจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคตหากไม่ได้รับการแก้ไข ปีที่แล้วองค์การอนามัยโลกเคยประมาณการ กำลังคนด้านสุขภาพทั่วโลกจะอยู่ที่ประมาณ 65 ล้านคน เพิ่มขึ้นถึง 29% จากปี 2559 แต่ในอีก 7 ปีข้างหน้า คือปี 2030 คาดว่าจะยังขาดแคลนอยู่ถึง 10 ล้านคน โดยเรียกร้องให้ทั่วโลกต้องปกป้องและลงทุนกับการสร้างบุคลากรด้านสาธารณสุข บุคคลากรต้องได้รับค่าจ้างและสภาพการทำงานที่เหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและความต้องการของระบบสุขภาพ โดยสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้ แพทย์ 2.6 คน ต่อ 1,000 ประชากร
ทว่าข้อมูลที่ “นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อม “พญ.พิมพ์เพชร สุขุมาลไพบูลย์” ผอ.สำนักงานบริหารโครงการร่วมผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 6 มิ.ย.2566 พบว่าจำนวน หมอในระบบของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 มีทั้งสิ้น 24,649 คน คิดเป็น 48% ของหมอทั้งประเทศ (จำนวนแพทย์ในระบบแพทยสภา มีอยู่ราว 50,000-60,000 คน) ที่ดูแลประชาการ 75-80% ของประเทศเฉพาะผู้มีสิทธิในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (UC) ที่มีกว่า 45 ล้านคน
สัดส่วนแพทย์สังกัดสธ.ต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ 2,000 คน ซึ่งจากการวิจัยประเมินว่าจะต้องได้รับจัดสรรอย่างน้อยปีละ 2,055 คน ถึงจะพอรองรับระบบของสธ. แต่จากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ 2561-2565 พบว่า ปี 2561 ได้รับ 2,016 คน ปี 2562 ได้รับ 2,044 คน ปี 2563 ได้รับ 2,039 คน ปี 2564 ได้รับ 2,021 คน และปี 2565 ได้รับ 1,850 คน จะเห็นได้ว่าเมื่อมีแพทย์น้อย แต่ภาระงานมาก
โดยเฉพาะการดูแลคนไข้ระบบประกันสุขภาพของไทยเน้นให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้มากที่สุดทำให้มีปัญหาเรื่อง work load ส่วนหนึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ลาออกจากระบบ เพราะต้องการ Work Life Balance ต้องการลดภาระงาน ซึ่งผลการสำรวจระหว่างวันที่ 15-30 พ.ย.2565 รพ.ที่ปฏิบัติงานนอกเวลาเกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (มาตรฐานประเทศที่พัฒนาแล้ว) มี 65 แห่ง แยกเป็น มากกว่า 64 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 9 แห่ง มากกว่า 59-63 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 4 แห่ง มากกว่า 52-58 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 11 แห่ง มากกว่า 46-52 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 18 แห่ง และมากกว่า 40-46 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 23 แห่ง
การแก้ปัญหานี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ดูแลระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นหลัก จะต้องปรับนิยามการให้บริการใหม่ เน้นการดูแลสุขภาพป้องกันการเจ็บป่วยแทนที่จะเจ็บป่วยแล้วมาหาหมอได้เพราะรักษาฟรี ปรับระบบในการเข้าพบแพทย์ มีการสกรีนอาการเบื้องต้น กำหนดแนวปฏิบัติในการเข้าพบแพทย์ และขอความร่วมมือโรงพยาบาลเอกชนให้เข้ามาร่วมให้บริการประชาชน และกำหนดหลักเกณฑ์การได้มาซึ่งสิทธิ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ให้สอดคล้องกับสถานะความเป็นจริงให้มากขึ้น โดยทำควบคู่ไปกับการเพิ่มค่าตอบแทนต่างๆ ให้สอดคล้องกับภาระงานและเศรษฐกิจ ทั้งสวัสดิการ ที่พัก สภาพแวดล้อม ความปลอดภัย สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตลอดจนความก้าวหน้าในการทำงาน และผลิตแพทย์ให้มากขึ้น เพราะจำนวนแพทย์ที่มียังน้อยเมื่อเทียบกับภาระงานที่ดูแล ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของการแบ่งเบาภาระงาน “แพทย์” ในสังกัดสธ.ได้อีกทางหนึ่ง