เจาะปัญหา 'หมอลาออก' เผยช่วงที่ทรมานที่สุดในชีวิตการเป็นแพทย์

เจาะปัญหา 'หมอลาออก' เผยช่วงที่ทรมานที่สุดในชีวิตการเป็นแพทย์

'หมอธีระวัฒน์' ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น 'หมอลาออก' โดยเฉพาะหมอจบใหม่ ที่ในทุกๆปี มีหมอยื่นลาออกจากระบบราชการกันไปเป็นจำนวนมาก เจาะปัญหาที่ส่งผลให้ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์

'หมอธีระวัฒน์' ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น 'หมอลาออก' โดยเฉพาะหมอจบใหม่ ที่ในทุกๆปี มีหมอยื่นลาออกจากระบบราชการกันไปเป็นจำนวนมาก เจาะปัญหาที่ส่งผลให้ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์

ทั้งนี้จากข้อมูลในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนหมอลาออก เฉลี่ยที่ปีละ 455 คน เมื่อรวมกับแพทย์เกษียณอีกปีละ 150-200 คน จึงเท่ากับมีแพทย์ออกจากระบบปีละ 655 คน ขณะที่สัดส่วนแพทย์ในสังกัด สธ.ต่อประชากรอยู่ที่ 1 ต่อ 2,000 คน ซึ่งถือว่าขาดแคลนเป็นอย่างมากหากเทียบกับมาตรฐานโลกซึ่งกำหนดไว้อยู่ที่ 3 ต่อ 1,000 คน

'หมอธีระวัฒน์' โพสต์เจาะปัญหา หมอลาออก ระบุว่า คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก คับทั้งที่คับทั้งใจ..แล้วหมอกับคนไข้จะเป็นอย่างไร! จากคุณหมอเมธี วงศ์ศิริสุวรรณ พูดแทนหมู่บุคลากรการแพทย์ รวมทั้งพยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร

ผู้เขียนแม้ไม่ใช่ตัวแทนของแพทย์ทั้งประเทศ แต่ก็เป็นหนึ่งในแพทย์ที่ผ่านระบบการใช้ทุนมายาวนานเกินกว่า 9 ปี ตามสัญญา อีกทั้งยังเป็นแพทย์ในสาขาที่น่าจะได้ชื่อว่างานหนักที่สุด เคยต้องผ่าตัดสมองผู้ป่วยถึงวันละ 9 รายติดต่อกัน เคยต้องอดนอนหรือหลับนกติดต่อกัน 3-4 วัน เคยต้องผ่าตัดคนไข้ทั้งๆที่ตัวเองมีไข้มากกว่า 40 องศา อีกทั้ง ยังเป็นคนที่ญาติผู้ป่วยมาฝากผีฝากไข้ โดยหารู้ไม่ว่าหมอคนนี้ต้องผ่าสมองคนไข้ทั้งที่ตัวเองติดเชื้อในกระแสเลือดอยู่ เคยต้องไปขอโทษญาติคนไข้ทั้งๆที่ไม่เข้าใจว่าตนเองทำผิดอะไร แต่ต้องทำเพราะผู้ใหญ่ต้องการให้เรื่องจบเร็วๆที่สุด

  • ประเด็นแรก ช่วงแรกของแพทย์ใช้ทุน คือช่วงที่ทรมานที่สุดในชีวิตการเป็นแพทย์ ระบบสาธาณทุกข์ของบ้านเรา ส่งแพทย์ที่มีความรู้ทางปฏิบัติน้อยที่สุด ประสบการณ์น้อยที่สุด ไปรับมือผู้ป่วยในที่ที่มีความพร้อมของระบบน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ห้องฉุกเฉิน” หรือ “รพ.ชุมชน” ซึ่งแท้จริงแล้วต้องการแพทย์ที่มีประสบการณ์มากที่สุดในการรับมือสารพัดความต้องการของผู้ป่วยและญาติ เมื่อรับมือไม่ไหว ก็เกิดปรากฎการณ์ แห่ศพประท้วง เรียกร้องขอเงินหรือประจานลงโซเชียลมีเดีย ทั้งๆที่แพทย์พยาบาลล้วนทำงานกันเกินมนุษย์เพื่อสนองตอบนโยบายประชานิยมของนักการเมืองที่ต้องการคะแนนเสียงตุนไว้ตลอดชาติ
  • ประเด็นถัดมาคือ ระบบกำหนดให้แพทย์พยาบาลเหลืออยู่ในระบบมากขึ้น เพื่อหวังให้มีคนช่วยงานบ้านมาก ๆ พร้อมกับตั้งความหวังว่า ลูก (ทาส) เหล่านี้จะทำงานบ้านอย่างเต็มใจ ยิ้มแย้ม ต้อนรับแขกทุกคนที่มาเยือนถึงเรือนบ้านด้วยหัวใจมนุษย์ นึกภาพไม่ออกว่า ระบบมันจะดีขึ้นได้อย่างไร

จำนวนแพทย์พยาบาลที่มากขึ้นโดยไม่สนใจว่าคนเหล่านี้จะมีกะจิตกะใจที่จะทำงานถวายหัวให้องค์กร?

ใช้แรงงานโดยไม่สนใจที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของกรรมกรชุดขาวเหล่านี้

  • ประเด็นสุดท้าย ที่มีคนถามกันมากมายว่า “เหตุใดจึงมีเฉพาะบุคลากรสายสาธารณสุขเท่านั้นที่ต้องถูกบังคับให้ใช้ทุน?” ทำไมนักศึกษาในสาขาอื่นๆที่รัฐต้องจัดงบอุดหนุนให้กับทุกคณะในมหาวิทยาลัยของรัฐ ถึงไม่ต้องมีพันธะเช่นนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ไม่ออกไงไหว!? ปมหมอแห่ลาออก เปิดข้อมูลจำนวนหมอต่อประชากรรายจังหวัด

- กว่าจะเป็น 'หมอ' นั่นยากแล้ว..อยู่ในอาชีพ 'หมอ'นั่นยากกว่า

- ปัญหาหมอขาดแคลน "เร่งผลิตเพิ่ม ยิ่งจะเละเทะ" ชี้ 3 ปัญหาสำคัญวงการแพทย์

 

จำได้ว่าเมื่อก่อนรัฐประหาร เกิดปัญหาขึ้นในกระทรวงสาธารณสุขที่ไม่สามารถหาตำแหน่ง (ทุน) ให้กับแพทย์ที่ต้องการมาเรียนต่อเฉพาะทาง (แพทย์ประจำบ้าน) เหตุเพราะต้องจัดสรรตำแหน่งให้กับแพทย์จบใหม่ซึ่งกำลังจะถึงปีละ 4,000 คนในไม่ช้านี้ ในขณะที่ ก.พ.เองก็ฮึ่มๆมาตลอดว่าไม่มีตำแหน่งให้อีกแล้ว รมต.สธ.ในขณะนั้นจึงได้เสนอแนวคิดให้ยกเลิกการใช้ทุน (มิใช่แพทยสภาเสนออย่างที่มีคนปลุกปั่นกัน)

เหตุเพราะเห็นความจำเป็นในการจัดสรรตำแหน่งเพื่อให้ รพ. ในต่างจังหวัดสามารถบรรจุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่ อีกเหตุผลที่สำคัญคือ ถึงแม้ไม่บังคับให้แพทย์ใช้ทุน แต่แพทย์จบใหม่เหล่านี้ก็ไม่สามารถไปทำงานในภาคเอกชนได้ เพราะคุณสมบัติไม่ตรงตามที่ต้องการ (ยกเว้นไปเปิดคลินิกเสริมสวยเอง ซึ่งเงินห้าล้านก็ไม่แน่ว่าจะเอาอยู่)

นอกจากนี้ แพทยสภา ในขณะนั้นยังได้ช่วยแก้ปัญหาให้กับฝ่ายการเมืองด้วยการออกกฎว่า แพทย์ที่ต้องการศึกษาต่อเฉพาะทางต้องผ่านการทำงานให้รพ.รัฐไม่น้อยกว่า 1-3 ปี ด้วยวิธีนี้ รพ.ของรัฐในต่างจังหวัดก็จะสามารถได้แพทย์ไปทำงานพร้อมกับหาประสบการณ์ไปด้วย (ระยะหลังจะมีระบบใช้ทุนโดยทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาวเต็มใจร่วมหอลงโรงกัน)

หากขึ้นค่าปรับเป็นหลัก 5 ล้านบาท เชื่อว่าอาจมีกรณีฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งฝ่ายบริหารต้องเตรียมคำตอบไว้ดี ๆ เพราะคนเป็นพ่อเป็นแม่คงไม่ยอมให้ลูกตนเองติดคุกง่าย ๆ ในระบบที่เต็มไปด้วยความไม่พร้อมเช่นนี้

ขอย้ำว่า ไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นค่าปรับกรณีเบี้ยวทุน แต่ปัญหาที่หมักหมมในระบบสาธารณสุขทุกวันนี้ควรจะได้รับการแก้ไขด้วยการผ่าตัดใหญ่ในหลายๆมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องภาระงาน การสุ่มเสี่ยงต่อการฟ้องร้อง แนวคิดของนักกฎหมายที่มีมุมมองว่า “การช่วยชีวิตคนเป็นสินค้าหรือบริการที่มุ่งหากำไร เอารัดเอาเปรียบ” ล้วนแต่ทำให้นักโทษชุดขาวเหล่านี้ต่างมองหาโอกาสในการแหกคุก ไม่ว่าคุกนั้นจะแน่นหนาสักเพียงไร แทนที่จะสร้างคุกกักกันดั่งป้อมปราการ ทำไมผู้บริหารที่ผ่านมาถึงไม่มีใครคิดจะเปลี่ยนคุกเป็นคอนโดสุดหรู ที่ทั้งแพทย์ พยาบาล และผู้ป่วย ต่างแย่งกันเข้ามาอยู่อาศัย เมื่อไหร่รเราจะมีรัฐบุรุษในระบบสาธารณสุข

 

cr เฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha