ขาดแคลนหนัก! สธ.เผยได้รับจัดสรรแพทย์ใช้ทุนไม่ถึง 70% และลดลงทุกปี
สธ. เผยได้รับจัดสรรแพทย์ใช้ทุนไม่ถึง 70% และลดลงทุกปี เตรียมหารือกรอบจัดสรรแพทย์ใช้ทุนปี 67 ปรับสัดส่วนให้ สธ.เพิ่มขึ้น แก้ไขปัญหาขาดแคลนแพทย์ คาดปี 2567 มีแพทย์จบประมาณ 2,800 คน จะจัดสรรให้ประมาณ 2,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 200 คน
พญ.พิมพ์เพชร สุขุมาลไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดสรรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ หรือแพทย์ใช้ทุนปี 1 ว่า ได้เตรียมเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ (Consortium) ขอรับการจัดสรรแพทย์ใช้ทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาได้รับการจัดสรรแพทย์ใช้ทุนไม่ถึง 70% และมีจำนวนลดลงทุกปี
โดยปี 2563 ได้รับจัดสรร 2,009 คน ปี 2564 เหลือ 1,836 คน และปี 2565 เหลือ 1,788 คน ซึ่งในปีแรกของการปฏิบัติงานชดใช้ทุน กระทรวงสาธารณสุขจะกระจายไปยังโรงพยาบาลเพิ่มพูนทักษะทั่วประเทศ 116 แห่ง หลังจากนั้นในปีที่ 2 และ 3 จะไปปฏิบัติงานเพื่อชดใช้ทุนในโรงพยาบาลชุมชนต่อไป เมื่อจำนวนแพทย์ชดใช้ทุนที่ได้รับจัดสรรลดลง จึงส่งผลให้บางพื้นที่ขาดแคลนแพทย์ และแพทย์ที่มีอยู่ต้องมีภาระงานเพิ่มขึ้นและใช้เวลาปฏิบัติงานมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ค้นหาความอัจฉริยะ พัฒนาสู่ความสำเร็จ ฉบับ 'ปลายฟ้า' นักเปียโนอายุน้อย
ครั้งแรกในไทย! วธ. เปิดตัว 'THAIS' ขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรม
ใจพัง..พร้อมดูแล นวัตกรรมนักจิตวิทยา AI ช่วยดูแลสุขภาพจิต 24 ชม.
เผยแพทย์ใช้ทุนลดน้อยลง ซ้ำเติมปัญหาแพทย์ขาดแคลน
พญ.พิมพ์เพชรกล่าวต่อว่า จากการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนาข้อเสนอการจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ ที่มีผู้แทนจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยต่างๆ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ได้มีความเห็นตรงกันว่าจะปรับลดสัดส่วนการจัดสรรให้กับส่วนราชการและหน่วยงานอื่นๆ นอกกระทรวงลง และจัดสรรให้กับกระทรวงสาธารณสุขเพิ่มขึ้น
โดยอ้างอิงจากค่าเฉลี่ยจำนวนนักศึกษาแพทย์ที่ได้รับคัดเลือกจริงใน 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าในปี 2567 จะมีแพทย์สำเร็จการศึกษาประมาณ 2,800 คน จะจัดสรรให้กระทรวงสาธารณสุขได้ประมาณ 2,000 คน เพิ่มขึ้นจาก 2 ปีที่ผ่านมาราว 200 คน พร้อมปฏิบัติงานได้ในเดือนมิถุนายน 2567 ทำให้มีบุคลากรลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่เพิ่มขึ้น ช่วยลดภาระงานและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในบางพื้นที่ได้มากขึ้น
“กระทรวงสาธารณสุข ยังได้หารือกับ ก.พ.ในการเพิ่มกรอบตำแหน่งข้าราชการ ภายในปี 2569 เพื่อให้สอดคล้องกับภาระงานด้วย โดยปัจจุบันมีแพทย์ประมาณ 25,505 คน ได้ร่างกรอบตำแหน่งปี 2569 เพิ่มเป็น 35,578 คน รวมทั้งจะเพิ่มการผลิตในโครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท เนื่องจากพบว่า แพทย์กลุ่มนี้มีอัตราการคงอยู่ในระบบมากถึง 80-90%” พญ.พิมพ์เพชรกล่าว
หมอลาออก แพทย์ขาดแคลน สะท้อน 3 ปัญหาของสังคมไทย
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก 'Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)' ถึงประเด็น 'หมอขาดแคลน' ว่า3 เรื่องใหญ่ของสังคมไทยในปัจจุบัน และจะรุนแรงขึ้นในอนาคต คือ
1. ปัญหาเชิงระบบ ได้แก่ ระบบราชการที่เน้นอำนาจบนลงล่างในทุกระดับ ทำให้ไม่เหมาะกับยุคที่คนต้องการอิสระทางความคิด การทำงาน และความเป็นธรรม นอกจากนี้ยังเป็นระบบงานที่ไม่เอื้อต่อสมดุลชีวิต มีงานที่ไม่จำเป็น เช่น งานเอกสารจากการสั่งการนโยบายต่างๆ ถาโถมเข้ามาสู่ระดับปฏิบัติการ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมในการทำงานที่ไม่เอื้อต่อการทำงานอย่างมีสวัสดิภาพและประสิทธิภาพ
2. ปัญหาของคนในสังคมไทย ที่หลงใหลได้ปลื้มกับความสุขสบายหรูหราฟู่ฟ่า และคลั่งไคล้ระบบทุนนิยมตะวันตก จึงอยากได้ อยากมี ความเป็นมาตรฐานระดับโลก มองการรักษาพยาบาลแบบซื้อขายสินค้าหรือบริการ ไม่เตรียมใจรับกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้นได้ในกระบวนการตรวจรักษา ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากปัญหาเชิงระบบที่มีหน่วยงานหลายต่อหลายแห่งพยายามประชาสัมพันธ์ สร้างแบรนด์มาตรฐานโรงพยาบาล ซึ่งแทนที่จะเกิดผลดี กลับเกิดผลเสีย เพราะทำให้คนเข้าใจกันผิดว่ามาตรฐานแปลว่าต้องไม่มีความผิดพลาด
3. ปัญหาของคนที่มาเรียนจนจบเป็นแพทย์ เป็นปัญหาตั้งแต่คนที่เข้ามาเรียนแพทย์ ที่หากรู้อยู่ว่าไม่อยากเรียน ก็ไม่ควรฝืนเรียน เพราะไม่มีแรงใจตั้งแต่ต้น แต่หากอยากเรียน จะด้วยเพราะอยากรู้จักชีวิตและร่างกายคน อยากดูแลคน อยากรักษาคนให้หายจากเจ็บป่วย อยากเห็นคนพ้นทุกข์ แม้จะไม่เก่ง ก็สามารถฝึกให้เก่งได้ เวลาทำงานก็จะมีความสุข
สิ่งที่ควรทำ ลดปัญหาขาดแคลนแพทย์
รศ.นพ.ธีระ ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหา หมอขาดแคลนว่าหากเร่งผลิตเพิ่มจะยิ่งจะเละเทะ ซึ่งสิ่งที่ควรเร่งทำคือ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานและใช้ชีวิต ที่พัก อาหาร เครื่องมือเทคโนโลยี สวัสดิการ ช่องทางการจ้างงาน เพิ่มช่องทางการศึกษาต่อยอดความรู้ทักษะ
สำหรับทั้งรัฐ เอกชน และต่างประเทศที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ปรับระบบการทำงาน รู้ขีดจำกัดของระบบ ตามศักยภาพจริงของแต่ละที่ สร้างแรงจูงใจเชิงบวก ไม่ใช่เน้นแต่สร้างข้อบังคับข้อจำกัดเชิงลบ เร่งผลิตจำนวนเพิ่ม แต่ปัจจัยแวดล้อมทางสังคมที่สำคัญมากกลับไม่กระเตื้อง สุดท้ายจะเกิดปัญหาหนักหนาเรื้อรังระยะยาวเกินกว่าจะจัดการได้