'เกาหลีใต้' วิกฤติ อัตราเกิดตกต่ำ ไม่มีใครอยากเป็นกุมารแพทย์
เมื่ออัตราการเกิดของเกาหลีใต้ต่ำสุดในโลก จึงประสบปัญหาขาดแคลนกุมารแพทย์ เพราะไม่ค่อยมีแพทย์อยากเรียนด้านนี้ เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลน้อยและเงินเดือนต่ำ
เกาหลีใต้ประสบปัญหาขาดแคลนกุมารแพทย์ ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถหากุมารแพทย์มาทำหน้าที่ได้ และเพิ่มความเสี่ยงด้านสุขภาพของเด็ก ๆ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากอัตราการเกิดของเกาหลีใต้ต่ำสุดในโลก จึงไม่ค่อยมีแพทย์อยากเรียนด้านนี้
ข้อมูลจากสถาบันโซล คลังสมองของรัฐบาล เผยว่า จำนวนคลินิกและโรงพยาบาลเด็กในเมืองหลวงลดลง 12.5% ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาจนถึงปี 2565 เหลือเพียง 456 แห่งเท่านั้น ขณะที่คลินิกจิตเวชเพิ่มขึ้น 76.8% ในช่วงเวลาเดียวกัน
กุมารแพทย์ 7 คนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ต้นตอของปัญหาขาดแคลนแพทย์ มาจากอัตราการเกิดตกต่ำสู่ระดับ 0.78 ในปี 2565 หรือค่าเฉลี่ยจำนวนบุตรต่อผู้หญิง 1 คน เหลือเพียง 0.78 คนเท่านั้น และระบบประกันสุขภาพยังไม่สอดคล้องตามสถานการณ์ ส่งผลให้กุมารเวชศาสตร์ขาดแคลนทรัพยากร และแพทย์ต่างหลีกเลี่ยงการเรียนสาขานี้ เพราะมองว่าเป็นสาขาที่ไม่มีอนาคต
เงินเดือนกุมารแพทย์ต่ำกว่าเพื่อน
ข้อมูลจาก Health Insurance Review and Assessment Service (HIRA) ระบุว่า กุมารแพทย์ เป็นสาขาแพทย์ที่ได้รับเงินเดือนน้อยที่สุด โดยได้รับเงินต่ำกว่าเงินเดือนแพทย์เฉลี่ย 57%
ข้อมูลจากรัฐบาลเผยว่า โรงพยาบาลสามารถรักษากุมารแพทย์ไว้ได้ 16.3% ของแพทย์ที่หาได้ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ ขณะที่ในปี 2556 มีแพทย์อยู่ที่ 97.4%
ดร.ซอง แดจิน จากโรงพยาบาลกูโร มหาวิทยาลัยเกาหลี กังวลว่า การขาดแคลนกุมารแพทย์อาจฉุดความสามารถของทีมรักษาที่ให้บริการรักษาเด็กฉุกเฉิน
ค่ารักษาต่ำไม่พอเลี้ยงชีพ
แผนกกุมารเวชศาสตร์ มักมีปัญหาเกี่ยวกับงบค่ารักษาต่ำ เนื่องจากระบบประกันสุขภาพไม่ปรับปรุงให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยเด็กที่ลดลง
ดร.อิม ฮยอนแท็ก ประธานสมาคมกุมารแพทย์เกาหลี อธิบายว่า ค่ารักษาเด็กในเกาหลีตามระบบประกันสุขภาพอยู่ที่ 10 ดอลลาร์ต่อคน หรือราว 350 บาท ดังนั้น คลินิกเด็กจะอยู่รอดได้ ต้องมีเด็กเข้ารักษาประมาณ 80 คนต่อวัน แต่ปัจจุบันเด็กเกิดน้อยลงแล้ว
ค่ารักษาเด็กของเกาหลีใต้ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับค่าบริการให้คำปรึกษากับกุมารแพทย์ออสเตรเลีย เบื้องต้นอยู่ที่ 335 ดอลลาร์ออสเตรเลีย และโรงพยาบาลเด็กทั่วไปในสหรัฐอยู่ที่ 208 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง
แผนกรักษาเด็กลดลง
โรงพยาบาลโซฮวา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลเด็กที่เก่าแก่ที่สุดในเกาหลีใต้ ระงับบริการการรักษาในวันเสาร์ช่วงบ่ายและวันอาทิตย์ เป็นครั้งแรกในรอบ 77 ปี เพราะขาดแคลนเจ้าหน้าที่ บางโรงพยาบาลก็ลดบริการรักษาตอนกลางคืน และปิดห้องรักษาเด็กฉุกเฉิน
เมื่อเดือน พ.ค. มีเด็กชายวัย 5 ขวบ เสียชีวิตจากการติดเชื้อทางเดินหายใจ หลังไม่สามารถหาเตียงได้ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม
ปัญหาเหล่านี้ล้วนทำให้คู่รักเกาหลีใต้ต่างกังวลเกี่ยวกับการมีลูก เพราะมีบริการรักษาเด็กไม่เพียงพอ
“ลี จูยุล” อาจารย์จากสาขาสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนัมโซล เตือนว่า งบประมาณที่ใช้กระตุ้นอัตราการเกิดต่ำอาจไม่ได้ผล ถ้าการจัดทรัพยากรด้านการดูแลเด็กล้มเหลว
ด้านกระทรวงสวัสดิการสุขภาพและครอบครัวทราบว่า ระบบกุมารเวชศาสตร์มีข้อจำกัด แต่รัฐบาลกำลังดำเนินมาตรการหลายอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
กระทรวงสาธารณสุข บอกว่า ได้เสนอมาตรการค่าธรรมเนียมรักษาและค่าสินไหมทดแทนเพื่อหนุนขีดจำกัดของกุมารเวชศาสตร์ ทั้งยังเสนอให้มีศูนย์รักษาเด็กที่มีรัฐสนับสนุนมากขึ้น และกำหนดให้โรงพยาบาลขนาดใหญ่คงแผนกรักษาเด็กฉุกเฉินไว้