90 มัสยิด 5 จังหวัดชายแดนใต้ ขับเคลื่อน “มัสยิดปลอดบุหรี่”

90 มัสยิด 5 จังหวัดชายแดนใต้ ขับเคลื่อน “มัสยิดปลอดบุหรี่”

คนสูบบุหรี่ในศาสนสถานสูง 21%  สสส.-ภาคีเครือข่าย MOU ขับเคลื่อน “มัสยิดปลอดบุหรี่” 90 แห่ง ใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ สร้างเสริมสุขภาพเชิงรุก กำหนด 5 คุณสมบัติผ่านเกณฑ์ หวังลดป่วยจากบุหรี่ ลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเฉลี่ย 352,000 ล้านบาทต่อปี

  สถานการณ์การสูบบุหรี่มีแนวโน้มที่ลดลง จากสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุด ปี 2564 มีผู้สูบบุหรี่ 9.9 ล้านคน คิดเป็น 17.4% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป โดยภาคใต้มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดในทุกรอบการสำรวจ มีอัตราการสูบบุหรี่อยู่ที่ 22.4% โดยจังหวัดที่มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุด 5 ลำดับแรกล้วนอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และยังพบการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะโดยเฉพาะศาสนสถานในทุกศาสนามากถึง 21%

       เมื่อเร็วๆนี้  ที่โรงแรมญันนะตีย์ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย มูลนิธิคนเห็นคน สมาคมเครือข่ายงดเหล้าและลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ มูลนิธิเภสัชกรรมชุมชน และศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การขับเคลื่อนมัสยิดปลอดบุหรี่ 5 จังหวัดภาคใต้

บุหรี่เป็นสิ่งต้องห้ามของมุสลิม

ประสาน ศรีเจริญ ผู้แทนจุฬาราชมนตรี กล่าวว่า ศาสนาอิสลามให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของมนุษยชาติในการทำให้มีสุขภาพที่ดี  ในส่วนของการสูบบุหรี่นั้น  จุฬาราชมนตรีได้มีคำวินิจฉัยแล้วว่าเป็นสิ่งต้องห้าม ดังนั้น การจะทำให้มัสยิดปลอดบุหรี่ได้ ผู้นำองค์กรระดับพื้นที่ในมัสยิดจะต้องทำหน้าที่ 3 อย่าง คือ  1.เรียกร้อง ประกาศให้ประชาชนทำสิ่งดีงาม 2.มีอำนาจในการออกระเบียบในการปฏิบัติของมัสยิดนั้นๆ จึงสามารถออกประกาศได้ว่าปริมณฑลมัสยิดต้องไม่มีการสูบบุหรี่  รวมถึง คณะกรรมการประจำมัสยิดต้องเป็นตัวอย่างที่ดีในการไม่สูบด้วยและ3.มีสิทธิห้ามปรามสิ่งที่ศาสนาปฏิบัติ ซึ่งการสูบบุหรี่นั้น เป็นสิ่งที่ศาสนาห้ามชัดเจน   
สูญเสียทางเศรษฐกิจกว่า 3แสนลบ./ปี

สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า  สสส. มุ่งมั่นขับเคลื่อนสังคมไทยให้เป็นสังคมปลอดบุหรี่ โดยเฉพาะการลดปัญหายาสูบในพื้นที่ภาคใต้ โดยร่วมลงนาม MOU กับภาคีเครือข่าย เพื่อส่งเสริมให้มัสยิดใน 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สงขลา สตูล ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 90 แห่ง เป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่ที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ โดยจะกำหนดทิศทางการดำเนินงาน ถ่ายทอดความรู้ที่เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ และการจัดกิจกรรมรณรงค์ มัสยิดเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่อย่างถาวร และลดปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต

      ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ องค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขไทย ปี 2564 พบแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่มากกว่า 80,000 คน คิดเป็น 18% ของการเสียชีวิตทั้งหมด ในจำนวนนี้เสียชีวิตจากควันบุหรี่มือสองกว่า 6,000 คน คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจเฉลี่ย 352,000 ล้านบาทต่อปี

      และองค์การสหประชาชาติ ให้คำแนะนำการควบคุมยาสูบของไทยให้มีประสิทธิภาพ ต้องใช้เงินลงทุน 2,500 ล้านบาทต่อปี ซึ่งน้อยกว่า 1% ของความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการสูบบุหรี่ และภายใน 15 ปี จะช่วยลดคนเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ 35,790 คน ลดคนป่วยจากโรคไม่ติดต่อ 169,117 คน
5 คุณสมบัติมัสยิดปลอดบุหรี่

          ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย(สสม.) กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ถือเป็นการยกระดับการขับเคลื่อนมัสยิดปลอดบุหรี่ใน 5 จังหวัดภาคใต้ สู่การเป็น “มัสยิดปลอดบุหรี่ที่มีมาตรฐานเดียวกัน” โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญคือ 1.พื้นที่รอบมัสยิดต้องมีพื้นที่ปลอดบุหรี่ไม่น้อยกว่า 10 เมตร 2.มีมาตรการควบคุมยาสูบเป็นลายลักษณ์อักษร 3.มีกระบวนการช่วยเลิกบุหรี่ เช่น เชิญชวนให้เลิกบุหรี่ การให้คำปรึกษา 4.มีเทศนาทุกวันศุกร์เรื่องการต้านสิ่งมึนเมา (คุฏบะฮ์ลาคอมรฺ)

90 มัสยิด 5 จังหวัดชายแดนใต้ ขับเคลื่อน “มัสยิดปลอดบุหรี่”

       หรือเทศนาต้านบุหรี่และยาสูบ และ5.มีมุมให้ความรู้พิษภัยบุหรี่ เป็นจุดนิทรรศการของมัสยิด ซึ่งจะทำให้มัสยิดปลอดบุหรี่ทั้งประเทศมีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ชาวมุสลิมที่มาประกอบศาสนกิจและประชาชนในชุมชนใกล้เคียงมีสุขภาวะที่ดี ปลอดโรคที่เกิดจากบุหรี่และปัจจัยเสี่ยงสุขภาพอื่น ๆ

เมื่อมีการ MOU แล้วภาคีเครือข่ายจะเข้าไปดำเนินการสนับสนุนมัสยิดปลอดบุหรี่ โดย สสม.จะจัดทำคู่มือ หลักสูตรการอบรม และประสานการตรวจรับรอง และติดตามประเมินผล  ส่วนเครือข่ายองค์กรงดเหล้า มูลนิธิคนเห็นคน ศูนย์กิจกรรมภาคของสสน. จะสรรหาผู้ที่จะทำการตรวจรับรอง เสริมการทำงานในการให้คำปรึกษาเลิกบุหรี่แก่พื้นที่ และสายด่วนพาเลิกบุหรี่ เภสัชอาสาพาเลิกบุหรี่ หน่วยงานสาธารณสุข เป็นหน่วยงานสนับสนุนหลักหากมัสยิดแต่ละแห่งมีผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่และกระบวยการที่ต้องทำให้มัสยิดผ่านเกณฑ์ปลอดบุหรี่   

“มัสยิด ถือเป็นศาสนสถานที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนมุสลิม จึงควรมีบทบาทสำคัญในการควบคุมการบริโภคยาสูบ มูลนิธิฯ ได้ดำเนินงานมัสยิดปลอดบุหรี่ร่วมกับ สสส. มากว่า 10 ปี  ได้พัฒนาให้เกิดต้นแบบมัสยิดปลอดบุหรี่ทุกภูมิภาค 847 แห่ง คิดเป็น 21% ของมัสยิดทั่วประเทศ”ศ.ดร.อิศรากล่าว