โรงเรียนปลอดบุหรี่ สร้างต้นแบบ "รุ่นใหม่ไม่แคร์บุหรี่"

โรงเรียนปลอดบุหรี่ สร้างต้นแบบ "รุ่นใหม่ไม่แคร์บุหรี่"

ช่วยเด็กไทยโตไปไม่สูบ ถอดสูตรความสำเร็จ "โรงเรียนปลอดบุหรี่ต้นแบบและแอลกอฮอล์" อีกหนึ่งแนวทางสกัดนักสูบหน้าใหม่ ทำได้จริง สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก เริ่มต้นจากโรงเรียน ขยายสู่บ้าน และชุมชน

"นักสูบหน้าใหม่" คืออีกโจทย์ท้าทายที่ประเทศไทย ต้องผลักดันให้จำนวนลดลง เพราะแม้เด็กเยาวชนไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อนในวันนี้ แต่เขายังมีโอกาสเสี่ยงที่จะเปลี่ยนใจนำไปสู่การตัดสินใจสูบได้อย่างง่ายดายในอนาคต หากมองถึงแนวทางที่จะสกัดกั้นไม่ให้เยาวชนไทยถลำลึก ก้าวสู่วงจรการทำร้ายสุขภาพได้นั้น อาจต้องเริ่มทั้งจากที่ "บ้าน" และ "โรงเรียน"

"โรงเรียนปลอดบุหรี่ต้นแบบและแอลกอฮอล์" จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่เกิดขึ้นจากการผลักดันของ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยการสนับสนุนของ สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่จับมือร่วมกับเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ที่เล็งเห็นว่า การจะส่งเสริมให้เด็กไทยห่างไกลบุหรี่ได้ ต้องเริ่มที่ "โรงเรียน"

โรงเรียนปลอดบุหรี่ สร้างต้นแบบ \"รุ่นใหม่ไม่แคร์บุหรี่\"

ครูคือบทบาทสำคัญ ทำให้โรงเรียนปลอดบุหรี่

น่าดีใจว่า หลังเปรียบเทียบข้อมูลอัตราการสูบบุหรี่ ในกลุ่มเยาวชน อายุ 15-19 ปีจากสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2564 พบว่า เยาวชนไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ 6.2% หรือลดลงจาก ปี 2560 ที่มีอัตราการสูบบุหรี่ 9.7% ขณะที่การสำรวจจำนวนนักสูบหน้าใหม่ในปี 2564 ยังพบว่า มีจำนวนนักสูบหน้าใหม่ลดลงเหลือ เพียง 155,813 คน ซึ่งลดเกือบสามเท่าเมื่อเทียบกับในปี 2560 ที่มีนักสูบถึง 447,084 คน  

แต่ข่าวดีดังกล่าว ไม่ได้เกิดจากความบังเอิญ หากเบื้องลึกตัวเลขแห่งความสำเร็จ ล้วนเป็นผลพวงจาก "ความพยายาม" ของคนหลากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่มาร่วมสร้างสรรค์ทั้งมาตรการต่าง ๆ และพัฒนากิจกรรมป้องกันนักสูบหน้าใหม่

โรงเรียนปลอดบุหรี่ สร้างต้นแบบ \"รุ่นใหม่ไม่แคร์บุหรี่\"

"ครูคือบทบาทสำคัญที่จะทำให้โรงเรียนปลอดบุหรี่" เป็นคำกล่าวแรกของ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวถึงคีย์ซักเซสสำคัญ ในเวทีงานเชิดชูเกียรติ 10 โรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และแอลกอฮอล์ พื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมเล่าถึงที่มาของโครงการโรงเรียนปลอดบุหรี่ พบว่า มีการสูบบุหรี่ทั้งจากบุคลากรและนักเรียนในโรงเรียน แม้ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามการสูบบุหรี่แล้วก็ตาม 

"เราอยากให้คนละเลิกการสูบบุหรี่ไปตามกฎหมายจริงๆ สำหรับงานรณรงค์การไม่สูบบุหรี่มีเป้าหมายสองด้าน อันดับแรกช่วยคนติดให้เลิกสูบได้ และสองคือ ป้องกันไม่ให้คนที่ไม่เคยสูบติดบุหรี่ เราอยากให้มาตรการสองอย่างนี้เกิดทั่วประเทศ จึงต้องช่วยกันขับเคลื่อนคนละนิดหน่อย รวมถึงการให้เด็กมีส่วนร่วม Health and education เป็นคอนเซ็ปต์ที่อยากให้เกิดขึ้น ซึ่งไม่มีอะไรสำคัญเท่าการสร้างให้เยาวชนมีสติปัญญาและสุขภาพแข็งแรง" ศ.นพ.ประกิต กล่าว

ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงคือ บุหรี่ไฟฟ้า กำลังแพร่ระบาดในเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ธรรมดาลดลงเหลือ 5% แต่วัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงเกิน 20% ขึ้นไป โดยบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายของนักสูบหน้าใหม่ที่ไม่เคยสูบมาก่อน และเมื่อติดก็เลิกยากเพราะสารนิโคตินเข้มข้น ซึ่งจากการวิจัยพบว่าสมองวัยรุ่นที่ได้รับนิโคตินจะทำให้พร้อมรับสารเสพติดอื่นๆ ไปด้วย คุณครูทุกท่านมีส่วนที่ทำให้ภาพรวมอัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชนเราลดลงไป และหากทุกโรงเรียนทั่วประเทศทุกสังกัด กำหนดนโยบายการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแนวทาง 7 มาตรการเพื่อสถานศึกษาปลอดบุหรี่

โรงเรียนปลอดบุหรี่ สร้างต้นแบบ \"รุ่นใหม่ไม่แคร์บุหรี่\"

7 มาตรการสู่ความสำเร็จ

"โรงเรียนปลอดบุหรี่ต้นแบบและแอลกอฮอล์" มีการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2564 โดยในเฟสแรกได้ดำเนินโครงการโรงเรียนปลอดบุหรี่ในพื้นที่กรุงเทพฯ สนับสนุนให้โรงเรียนต่างๆ ขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตพื้นที่ที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานครเขต 1 และ เขต 2 จนเกิดเครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่พื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 74 โรงเรียน และมี 10 โรงเรียน ที่ได้พัฒนายกระดับและผ่านเกณฑ์ประเมินสู่การเป็นโรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่สำคัญหลายโรงเรียนยังมีจุดเด่นชัดด้านการพัฒนาจนเกิดนวัตกรรมเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ คือ เกิดการขับเคลื่อนงาน กิจกรรม ผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือกระบวนการใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ โดย การทำสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีใหม่ๆ ซึ่งแตกต่างจากวิธีปฏิบัติเดิมที่เคยทำมาก่อน และเกิดการพัฒนาต่อยอดจากเดิมด้านการควบคุมยาสูบและแอลกอฮอล์ในโรงเรียน

หากย้อนรอยความสำเร็จของโรงเรียนปลอดบุหรี่ฯ จะพบว่ามีคีย์ซักเซสแนวทางการทำงานผ่าน 7 มาตรการด้วยกัน ได้แก่

  1. กำหนดนโยบายโรงเรียนปลอดบุหรี่
  2. การบริหารจัดการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่
  3. จัดสภาพแวดล้อมตามกฎหมายโรงเรียนปลอดบุหรี่
  4. สอดแทรกเรื่องบุหรี่ในการจัดการเรียนรู้  
  5. นักเรียนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนโรงเรียนปลอดบุหรี่
  6. ดูแลช่วยเหลือนักเรียนไม่ให้สูบบุหรี่
  7. มีกิจกรรมร่วมระหว่างโรงเรียนกับชุมชน

ชุลีพร วงษ์พิพัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กล่าวว่า กทม. สนับสนุนและมีนโยบายให้โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร ต้องปลอดบุหรี่และแอลกอฮอล์ รวมถึงปลอดกัญชาทุกรูปแบบ ตามที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้แถลงไว้ และคาดหวังว่าหากทุกโรงเรียนได้ดำเนินงานตาม 7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ซึ่งเป็นมาตรการที่เข้มแข็ง และเข้มข้นที่สุดที่จะช่วยปกป้องเยาวชนจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ป้องกันการเกิดนักสูบ นักดื่มหน้าใหม่ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นด่านแรกที่จะช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้ก้าวไปสู่สิ่งเสพติดชนิดอื่นได้ 

ยิ่งสม่ำเสมอ ยิ่งลด

รศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เล่าถึงผลการสำรวจการวิจัย เรื่องผลการสำรวจโอกาสเสี่ยงในการสูบบุหรี่ของนักเรียนในภูมิภาคของประเทศไทย (Susceptibility to smoking and determinants among never-smoking high school students: A representative nationwide study in Thailand) ที่สนับสนุนโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ว่า เป็นการสำรวจนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จาก 12 จังหวัด ทุกภูมิภาคของไทย จำนวน 3,156 คน พบว่า มีนักเรียน 72.4% ระบุว่า เรียนอยู่ในโรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำ ในขณะที่เหลืออีก 27.6% ระบุว่า เรียนอยู่ในโรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบนานๆ ครั้ง

โรงเรียนปลอดบุหรี่ สร้างต้นแบบ \"รุ่นใหม่ไม่แคร์บุหรี่\"

ความน่าสนใจของการวิจัยนี้คือ การชี้ให้เห็นว่า โรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำ มีนักเรียนที่อยากทดลองสูบบุหรี่น้อยกว่าคือเพียง 13.6% ในขณะที่โรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบนานๆ ครั้ง มีนักเรียนที่อยากทดลองสูบบุหรี่สูงถึง 23.9% ตอกย้ำว่า โรงเรียนที่จัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำมีนักเรียนที่อยากทดลองสูบบุหรี่น้อยกว่าโรงเรียนที่จัดกิจกรรมแบบนานๆ ครั้ง เกือบ 2 เท่า  

"การรณรงค์โรงเรียนปลอดบุหรี่ ไม่ใช่การมุ่งเน้นเพื่อควบคุมการสูบบุหรี่ แต่เป็นการณรงค์เพื่อให้ความรู้ที่เข้มข้น เป้าหมายไม่ได้เพียงลดแค่ลดโอกาสเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่ในกลุ่มที่ไม่เคยสูบบุหรี่หรือนักสูบหน้าใหม่ แต่ยังเป็นการลดโอกาสที่บุคลากรในโรงเรียนและนักเรียนจะได้รับผลกระทบจากการเป็นบุหรี่มือสอง" รศ.ดร.จักรพันธ์

รศ.ดร.จักรพันธ์ กล่าวอีกว่า มีอีกงานวิจัยมีการบอกว่า การรับรู้มาตรการปลอดบุหรี่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการรับรู้โทษทางสุขภาพของบุหรี่ สะท้อนว่ายิ่งมีการรณรงค์ ให้ความรู้อย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้ยิ่งการลดจำนวนนักสูบในโรงเรียนโดยเฉพาะนักสูบหน้าใหม่มีประสิทธิภาพขึ้น

สำหรับการรับรู้การดำเนินมาตรการ โรงเรียนปลอดบุหรี่ฯ มากน้อยแค่ไหน พบว่า 70% เรียนอยู่ในโรงเรียนที่มีการจัดกิจกรรมปลอดบุหรี่เป็นประจำ อีก 30% บอกว่าเรียนอยู่ในโรงเรียนที่จัดกิจกรรมเป็นบางครั้งหรือไม่สม่ำเสมอ แม้แต่เด็กไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน ยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมจากขั้นที่ไม่สนใจมาเป็นขั้นลังเลใจ และนำไปสู่การตัดสินใจสูบ โดยเฉพาะหากมีเพื่อนสนิทที่สูบ มีโอกาสที่จะทดลองในอนาคต ซึ่งหากได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษของบุหรี่เขาจะได้มีการตัดสินใจที่ถูกต้อง

การวิจัย ยังพบว่า ปัจจัยเร้าที่นำมาสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นนักสูบคือ การอาศัยอยู่ในบ้านที่มีผู้สูบ 23-24% และการออกไปนอกบ้านแล้วเจอคนสูบบุหรี่ สามารถทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบหรือความสนใจใคร่รู้นำไปสู่การลังเลที่จะสูบ รวมถึงการโฆษณาบุหรี่ผ่านสื่อออนไลน์วิจัยพบว่าเยาวชนพบเห็นมากถึง 85.8% 

"ยังโชคดีที่มีเด็กอีก 73% บอกว่าเคยเห็นสื่อหรือโฆษณาต่อต้านบุหรี่ของ สสส. ส่วนการได้รับข้อความรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ทางโทรทัศน์หรืออินเตอร์เน็ต ยังพบว่า นักเรียนในกลุ่มที่พบเห็นข้อความรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบเป็นประจำมีสัดส่วนของคนที่อยากทดลองสูบบุหรี่น้อยกว่านักเรียนในกลุ่มที่พบเห็นข้อความรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แบบนานๆ ครั้ง เกือบ 2 เท่า ดังนั้น การจัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในโรงเรียนโดยเน้นกิจกรรมที่สร้างการรับรู้ถึงนักเรียนโดยตรงเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง และการเผยแพร่ข้อความรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ทางโทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต จึงช่วยป้องกันนักเรียนไม่ให้อยากทดลองสูบบุหรี่ได้จริง" รศ.ดร.จักรพันธ์ กล่าว

บุหรี่เป็นสิ่งเสพติดที่ลองได้ง่ายที่สุด

สุภาพร แสงสมาน ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดปากบ่อ เล่าถึงเหตุจูงใจที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนปลอดบุหรี่ สำหรับปัจจัยความสำเร็จในการทำงาน เธอให้ข้อมูลว่า อันดับแรกผู้บริหารต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง 7 มาตรการ ในการจัดสิ่งแวดล้อมและกิจกรรม รวมถึงการสำรวจนักเรียนกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นนักสูบหน้าใหม่ เพื่อให้มีระบบช่วยเหลือที่แข็งแกร่ง 

"เราคิดว่าบุหรี่เป็นสิ่งเสพติดชนิดแรกที่นักเรียนของเราจะมีโอกาสได้ลองง่ายที่สุด ก่อนจะนำไปสู่การวงจรสิ่งเสพติดอื่นๆ ซึ่งเราบูรณาการเข้าไปในกลุ่มสาระวิชา ที่ดำเนินการอยู่แล้ว ทำให้เด็กๆ เองเขาก็สามารถดำเนินการเอง โครงการนี้เราไม่ได้ทำเฉพาะในโรงเรียน แต่ยังทำกับชุมชน ขยายไปสู่บ้านปลอดบุหรี่ สำหรับก้าวต่อไปของเรา ไม่ได้หยุดแค่โรงเรียนปลอดบุหรี่ต้นแบบ แต่เรายินดีให้ความรู้ว่าเราทำอย่างไรตาม 7 มาตรการ ผ่านศูนย์การเรียนรู้ให้กับโรงเรียนอื่นๆ และชุมชน" สุภาพร กล่าว

พิมล มาประกอบ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดพระเชตุพน กล่าวว่า โรงเรียนวัดพระเชตุพน เป็นโรงเรียนในเขตพุทธาวาส ขนาดเล็กมีนักเรียนเพียง 88 คน ครู 9 คน ขณะเดียวกันในบริเวณโรงเรียนก็ใกล้แหล่งท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวมาชมวัดเป็นประจำ ซึ่งยังสูบบุหรี่ในบริเวณโรงเรียน จึงอยากสร้างความตระหนักให้เด็กและเยาวชนเรื่องนี้

"เราจึงต้องใช้กระบวนการมีส่วนร่วม และ 7 มาตรการ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการประกาศนโยบายเพื่อบอกให้รู้ว่าทุกคนมีบทบาทหน้าที่ต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง เขาก็จะพร้อมที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนอกจาก รร. เป็นเขตปลอดบุหรี่แล้ว ยังขยับการขับเคลื่อนลงสู่ชุมชน นำนวัตกรรมนวดฝ่าเท้า ออกกำลังกายด้วยท่าฤาษีดัดตนมาช่วยผู้ปกครองที่ต้องการลดละเลิกบุหรี่ ที่ได้ให้ความสนใจ ต้องการความรู้ตรงนี้ เราถ่ายทอดให้เด็กไปถ่ายทอดผู้ปกครองต่อ อีกทางหนึ่งเรามีกิจกรรมเยี่ยมบ้านเพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนนักท่องเที่ยวเราก็จัดบริเวณให้ทราบว่าเป็นเขตปลอดบุหรี่ ที่ไม่มีแค่สติ๊กเกอร์ แต่จัดทำเสมือนจุดเช็คอินและทำป้ายสแตนดี้ ซึ่งนักท่องเที่ยวเองก็เข้าใจสิทธิ์ตรงนี้ว่าเด็กต้องได้รับความปลอดภัย" พิมล กล่าว

ธนิดา จั่นเหล็ก ครูโรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ เผยถึงความกังวลใจที่เกิดขึ้น จนนำมาสู่การเป็นแกนนำขับเคลื่อนโรงเรียนปลอดบุหรี่ว่า ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ามีราคาไม่แพง หาซื้อง่าย เก็บรักษาง่าย และเวลาสูบไม่รู้ว่ามีกลิ่นบุหรี่กำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มนักเรียนเยาวชน เป็นแรงจูงใจสำคัญ เพราะรู้ว่าพิษไม่ต่างกัน ซึ่งหลังจากดำเนินโครงการความเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ โรงเรียนสะอาดมากขึ้น จุดอับที่เด็กชุมนุมสูบกันเมื่อก่อนก็น้อยลง ไม่มีก้นบุหรี่ทิ้งลงพื้น เรามีเด็กประมาณสามพันกว่าคน เมื่อผู้บริหารโรงเรียนประกาศนโยบาย ทุกภาคส่วนก็มีความร่วมมือและช่วยเหลือเต็มที่ในการทำงานขับเคลื่อน รวมถึงตัวเด็กที่ต้องให้เขาคิดเอง ตัดสินใจ เขาถึงจะอยากเลิกได้จริง

ณนิรันดร์ คำไกร ครูโรงเรียนจันทร์ประดิษฐารามวิทยาคม เป็นอีกหนึ่งรายที่เห็นความสำคัญของโครงการนี้ และยินดีทุ่มเทเวลาในการขับเคลื่อนเธอเล่าว่าโรงเรียนมีต้นทุนที่ดีในการแก้ปัญหาเรื่องสารเสพติด และเมื่อเข้าสู่กระบวนการของ 7 มาตรการยิ่งทำให้เป็นระบบขึ้น เธอบอกว่า โรงเรียนเป็นระดับมัธยม นักเรียนอยู่ในช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นวัยเสี่ยง โดยทางโรงเรียนมีความพร้อมที่จะสร้างความตระหนักและการให้ความรู้เรื่องบุหรี่ มีการคัดกรองผู้ดูแลมาตรการทั้ง 7 ส่วนกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนปฏิบัติ ทำให้เขามีการค้นพบตัวเอง เขาเติบโตไปพร้อมกับกิจกรรมที่ทำทั้งการแสดงบนเวที การจัดทำสื่อยุคใหม่เข้ากับวัย เช่น Tiktok กีฬา ดนตรี เป็นต้น 

"เราไม่พูดเรื่องสูบบุหรี่โดยตรง แต่เรามีกิจกรรมที่ทำให้เขาห่างจากเรื่องบุหรี่ไปได้เอง ยอมรับว่าตอนแรกเราเองไม่มั่นใจเลย เพราะไม่มีความรู้ด้านนี้ ไม่แน่ใจว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร แต่หลังได้ดำเนินการ 7 มาตรการทำให้เห็นได้ชัดว่า ใครๆ ก็ทำได้ เพราะมีภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วม สิ่งสำคัญมากๆ คือนโยบายโรงเรียน ให้ความสำคัญเรื่องนี้มาก" ครูณนิรันดร์ กล่าว

10 โรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สังกัดกรุงเทพมหานคร

  1.  โรงเรียนวัดปากบ่อ มีผลงานเด่นคือ มีนวัตกรรมเรื่องบุหรี่ที่เกิดจากการสอดแทรกในการเรียนการสอนและมีการทดลองใช้กับผู้สูบบุหรี่ ได้แก่ นวัตกรรมชาโปร่งฟ้าบอกลาบุหรี่ และคุกกี้ anti-smoking
  2. โรงเรียนวัดพระเชตุพน มีผลงานเด่นคือ ฤๅษีดัดตนช่วยแก้อาการอยากสูบบุหรี่ สมุนไพรช่วยเลิกบุหรี่ ซึ่งได้สอนให้แก่นักเรียนและได้ไปถ่ายทอดให้กับผู้ปกครองที่สูบบุหรี่ และมีการสอนนวดกดจุดเลิกบุหรี่ โดยให้นักเรียนไปนวดให้ผู้ปกครองที่สูบบุหรี่
  3. โรงเรียนวัดสุวรรณคีรี มีผลงานเด่นคือ มีการสอนหลักสูตรเกราะป้องกันชีวิต ใช้สอนให้นักเรียนรู้จักการปฏิเสธหรือหน้าที่ของคำว่า "ไม่" เป็นวิธีสำคัญที่สุดวิธีหนึ่งที่จะช่วยป้องกันนักเรียนจากภัยรูปแบบต่างๆ ซึ่งบุหรี่เป็นภัยใกล้ตัวที่นักเรียนพบเจอทั้งในบ้านและชุมชน
  4. โรงเรียนวัดอัมพวา มีผลงานเด่นคือ บรรยากาศปลอดบุหรี่ ณ โรงเรียนวัดอัมพวาสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1
  5. โรงเรียนจันทร์ประดิษฐารามวิทยาคม มีผลงานเด่นคือ ส่งเสริมให้นักเรียนทำกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง
  6. โรงเรียนทวีธาภิเศก มีผลงานเด่นคือ โครงการตาสับปะรด แจ้งเบาะแส เฝ้าระวังพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ด้วยการนำ QR แจ้งเบาะแส ไปติดในชุมชน เพื่อให้ผู้ปกครองและชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลและเฝ้าระวังพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของนักเรียน
  7. โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล มีผลงานเด่นคือ นักเรียนแกนนำกลุ่ม We care ถ่ายทอดการทำงานรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น
  8. โรงเรียนมัธยมวัดหนองแขม มีผลงานเด่นคือ นักเรียนแกนนำที่สามารถจัดกิจกรรมสร้างกระแสรณรงค์ในโลกออนไลน์ แม้อยู่ภายใต้สถานการณ์โควิด และสามารถเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้เรื่องบุหรี่แก่น้องนักเรียนใหม่
  9. โรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ มีผลงานเด่นคือ การดูแลช่วยเหลือนักเรียนให้เลิกบุหรี่ แบบ Case Conference: ให้คำปรึกษาแก่นักเรียนที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ทางระบบออนไลน์ 
  10. โรงเรียนศีลาจารพิพัฒน์ มีผลงานเด่นคือ นักเรียนแต่งเพลงรณรงค์ไม่สูบบุหรี่และยาเสพติด โดยมีครูเป็นพี่เลี้ยง

ต้องการข้อมูลโรงเรียนปลอดบุหรี่ สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์  smokefreeschool หรือเฟซบุ๊ก smokefreeschool ต้องการขอสื่อรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่สามารถขอรับสื่อฟรีได้ที่เว็บไซต์  smokefreezone หรือโทร. 0-2278-1828