รัฐบาลใหม่ สปสช.ชงงบบัตรทองปี 67 ไปแล้ว 1.45 แสนล้านบาท
สปสช.ชงงบบัตรทองปี 67 ไปแล้ว 1.45 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3,800 ล้านบาท ประเมิน 37 นโยบายใหม่จากรัฐบาลใหม่ใช้เงินเพิ่ม 2 หมื่นล้านบาท รอ รมว.สธ.คนใหม่เคาะนโยบายชัดเจน จะชงงบขาขึ้นเพิ่มเติมรองรับ
เมื่อวันที่ 26 ส.ค. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมพร้อมของกองทุนบัตรทองเมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ ว่า บอร์ด สปสช.มีการมอบหมายให้สำนักงานฯ เตรียมพร้อมไว้เมื่อหลายเดือนแล้วว่าหากมีการเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ หรือนโยบายใหม่ๆ ซึ่งก็ได้มีการเตรียมการและเสนอต่ออนุกรรมการที่เกี่ยวข้องไว้แล้ว เท่าที่เราดูนโยบายของพรรคการเมืองที่คาดว่าจะเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็จะเป็นเรื่องของการยกระดับบัตรทอง 30 บาท ก็คงดูจากที่ประชาชนอาจมีความเดือดร้อน
เรื่องความแออัด การใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาลดความแออัด ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีในการนัดหมาย เทเลเมดิซีน เท่าที่ดูทุกพรรคการเมืองมีตรงนี้หมด หากจะดำเนินการดังกล่าวก็คิดว่าสามารถดำเนินการได้ โดยเราเตรียมงบประมาณที่ต้องใช้หรือกลวิธีต่างๆ ทั้งข้อบังคับระเบียบต่างๆ อย่างไรก็ตาม ก็คงรอความชัดเจนว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จะเป็นใคร
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะใช้งบประมาณส่วนใดมารองรับการขับเคลื่อนนโยบายใหม่ๆ เหล่านี้ นพ.จเด็จ กล่าวว่า จะของบประมาณเพิ่มเติม เพราะบางอย่างเราไม่ได้เตรียมงบประมาณไว้ ก็ต้องพูดกับทางผู้ที่จะมาดูแล ทั้งรัฐมนตรีและคณะกรรมการโดยตรงว่า งบประมาณที่เราเตรียมไว้เป็นงบประมาณพื้นฐาน หากมีนโยบายใหม่และมีความจำเป็นก็ต้องขออนุญาตมีการเสนอเข้าไป เพราะหลายเรื่องเรียนว่าไม่ได้เกิดจากข้อเสนอของสำนักงานฯ เราไม่ได้ตั้งงบประมาณไว้ เท่าที่คำนวณวงเงินงบประมาณไว้ไม่เกินประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท จากทุกๆ นโยบายประมาณ 37 นโยบายที่เราดูไว้ แต่ก็ต้องมาดูอีกทีว่าจะเอานโยบายไหนบ้าง
ถามต่อว่าได้เสนองบประมาณขาขึ้นของปีงบ 67 แล้วใช่หรือไม่ ต้องปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับนโยบายใหม่หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า เสนอ ครม.ไปแล้ว ถ้าจำไม่ผิดคือประมาณ 1.45 แสนล้านบาท ที่ไม่รวมเงินเดือนบุคลากร เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 3,800 ล้านบาท แต่ยังไม่เคยเข้าสภา เพราะยังไม่มีรัฐบาล ซึ่งสำนักงบประมาณเคยแนะนำตอนที่ประชุมบอร์ด สปสช. ว่า ให้สำนักงานฯ เตรียมพร้อมในเรื่องนี้ เพราะการจัดตั้งงบประมาณมีการล่าช้า ก็อาจจะต้องขยายเวลาในการเสนอ
ดังนั้น เมื่อมีความชัดเจนในส่วนของรัฐบาลใหม่ และนโยบายใหม่ว่าเป็นเรื่องใด งบประมาณเท่าไร เราก็จะเสนองบประมาณเข้าไปเพิ่มเติมแล้วจัดสรรเป็นงบขาลงมาพร้อมกัน ซึ่งเรามีการคำนวณไว้หมดแล้ว เพียงแต่ขอทราบทิศทางนโยบาย ความสำคัญและจะเอาเรื่องใดมาก่อน หรือจะมีเรื่องใหม่ที่ไม่เคยประกาศต่อสาธารณชนแต่มีความจำเป็น เป็นความเดือดร้อนของประชาชนที่เราจะเข้าไปดูแล
ถามอีกว่าใกล้จะเข้าปีงบประมาณ 2567 วันที่ 1 ต.ค. 2566 แล้ว แต่หากงบขาขึ้นขาลงยังไม่มีความชัดเจนในช่วงการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จะกระทบต่อการดูแลประชาชนและหน่วยบริการที่ต้องเกิดภาระงบประมาณหรือไม่จากงบที่ยังไม่มา นพ.จเด็จกล่าวว่า สำนักงบประมาณส่งสัญญาณแล้วว่าจะมีการใช้งบประมาณเหมือนเดิมไปพลางก่อน ความหมายคือกิจกรรมที่คิดว่าเป็นกิจกรรมพื้นฐานต้องดำเนินการต่อเนื่องไม่ให้ประชาชนเดือดร้อน ซึ่งตรงนี้งบประมาณปี 2567 ที่เได้รับมาก็มีความมั่นใจที่จะเดินหน้า วันที่ 1 ต.ค.ก็ทำงานได้เหมือนเดิม
แต่นโยบายใหม่เท่านั้นเองที่ต้องมาดู ส่วนหนึ่งเชื่อว่าอาจจะต้องเสนอต่อบอร์ด สปสช. ถ้ามีรัฐมนตรีใหม่ เพื่อให้ดูว่านโยบายเก่าที่เราเสนอในปี 2567 มีอะไรอยากให้คำแนะนำหรือมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่ไม่มากนัก เพราะเมื่อให้สิทธิประชาชนแล้ว จากประสบการณ์คือนโยบายส่วนใหญ่มักไม่ได้มีการตัดทอนแต่จะมีการเพิ่มสิ่งใหม่
ขั้นตอนของราชการที่บอกว่าใช้ไปพลางก่อน ก็คือจะมีการโอนงบประมาณมาให้ก่อน ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีที่สำนักงบประมาณ บอกว่าสปสช.สามารถขอวงเงินที่คิดว่าจะใช้เข้ามาก่อนได้เลย ไม่จำเป็นต้องเป็นร้อยละ 50 เหมือนหน่วยราชการอื่น เพาะเราเป็นกองทุนซึ่งเราม่ความจำเป็นต้องมีเม็ดเงินสดเข้าไปในระบบ เพราะฉะนั้น ต้องอัดฉีดเข้าไปตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ เพระาฉะนั้น คิดว่าปีนี้ไม่น่าจะมีปัญหาในเชิงเม็ดเงิน
ซึ่งเท่าที่ดูตัวเลขเร็วๆ อาจจะขอไปที่ร้อยละ 60 ของงบประมาณ 1.45 แสนล้านบาท เพราะเดิมรอขอร้อยละ 50 แต่ปีนี้คิดว่ามีการชะลออะไรบางอย่าง อาจจะของวดเงินขึ้นมาเพิ่มขึ้น เพระาบางอันเราขอให้หน่วยบริการมี Cash Flow เข้าไป โดยปกติจะแบ่งเป็นงวดเงิน แต่ทุกปีงวดเงินงวดแรกจะสูงหน่อย เพราะคุยกับ สธ.ว่าอยากให้เราลงเงินไปเยอะนิดหนึ่งในลักษณะของเหมาจ่าย ปีนี้เราจะยืนยันตรงนั้น ส่วนกิจกรรมที่คิดว่าต่อเนื่องก็จะขอให้เอาเม็ดเงินมาก่อน เพื่อให้หน่วยบริการมั่นใจให้บริการเต็มที่ ไม่ต้องกังวลว่าเม็ดเงินจะมาหรือไม่