อัปเดต 'สายพันธุ์โควิด-19'ในไทย คาด EG.5 แนวโน้มเพิ่มขึ้น

อัปเดต 'สายพันธุ์โควิด-19'ในไทย คาด EG.5 แนวโน้มเพิ่มขึ้น

แม้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยจะลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงพบผู้ป่วย และผู้เสียชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง อย่าง ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว

Keypoint:

  • สายพันธุ์ย่อยโอมิครอนในปัจจุบัน ยังคงแบ่ง 2 กลุ่ม คือ VOI : 3 สายพันธุ์ ได้แก่ XBB.1.5 ,XBB.1.16  และ VUM: 7 สายพันธุ์ ได้แก่ BA.2.75 ,BA2.86, CH.1.1, XBB, XBB.1.9.1, XBB.1.9.2 และXBB.2.3
  • สายพันธุ์XBB.1.16 ยังคงเป็นสายพันธุ์ที่ระบาดมากสุดในประเทศไทยส่วนสายพันธุ์ที่ต้องจับตาเฝ้าระวัง คือ  EG.5 คาดมีแนวโน้มระบาดมากขึ้น
  • ยืนยันในไทยไม่พบสายพันธุ์ BA.2.86 และสายพันธุ์HK.3 พบเพียง 2 ราย ปัจจุบันหายเป็นปกติแล้ว ย้ำประชาชนปฎิบัติตามมาตรการดูแลตนเอง ฉีดวัคซีนปีละครึ่ง

ปัจจุบันยังไม่สามารถคาดการณ์การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ว่าแนวโน้มการกลายพันธ์อาจทำให้เซื้ออ่อนแรงลงหรือรุนแรงขึ้นสิ่งที่สามารถลดความรุนแรงของเชื้อได้

'XBB.1.16'สายพันธุ์ระบาดมากสุดในไทย

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวประเด็น 'อัปเดตสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย และโอมิครอน HK.3' โดยมีนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่าสถานการณ์ของโควิดในปัจจุบัน ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้เกือบจะปกติ แต่ในทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถวางใจได้ ต้องมีการติดตามข้อมูลต่างๆ อย่างใกล้ชิด

ขณะนี้ องค์การอนามัยโลก ได้มีการจัดชั้นสายพันธุ์โอมิครอนในรูปแบบเดิม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ VOI : 3 สายพันธุ์ ได้แก่ XBB.1.5 ,XBB.1.16 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการระบาดมากสุดในประเทศไทย ส่วน EG.5  เป็นสายพันธุ์ที่จับตาต้องเฝ้าระวัง โดยในประเทศไทยประมาณ 23 ราย  ส่วนสายพันธุ์ที่เฝ้าระวัง VUM: 7 สายพันธุ์ ได้แก่ BA.2.75 ,BA2.86, CH.1.1, XBB, XBB.1.9.1, XBB.1.9.2 และXBB.2.3

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

'วันสารทจีน' 2566 สิ่งที่ต้องระวังเกี่ยวกับสุขภาพ

ครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงตั้งคณะแพทยศาสตร์ในสถาบันพระบรมราชชนก

 

เฝ้าระวัง EG.5 คาดแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ถ้าดูแนวโน้มการแพร่ระบาดทั่วโลก พบว่าขณะนี้สถานการณ์ดีขึ้น มีผู้ป่วยโควิด-19 ลดน้อยลง ซึ่งสายพันธุ์ที่ลดลงคือ XBB.1.15 จาก 14.5 ตอนนี้เหลือเพียง 11.0  ส่วนสายพันธุ์ที่ทรงตัวพบการแพร่ระบาดขึ้นๆ ลงๆ มีหลายสายพันธุ์ เช่น XBB.1.16, BA2.75 ,CH1.1, XBB, XBB1.9.1 และXBB2.3 และสายพันธุ์ที่มีการระบาดเพิ่มมากขึ้น คือ EG.5 จาก10.2 มาตอนนี้ 21.1 และคาดว่าน่าจะเบียดตัวอื่นในอนาคตอันใกล้

สำหรับประเทศไทยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์ EG.5 จำนวน 15 ราย และล่าสุดอีก 8 ราย รวมเป็น 23 ราย และอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในประเทศไทย ซึ่ง EG.5 เริ่มมีฐานกว่ามากขึ้น แต่สายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดในประเทศไทยจำนวนมาก ยังคงเป็นสายพันธุ์ XBB.1.16

 

ผู้ป่วยโควิดสายพันธุ์ HK.3 เพียง 2 ราย

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าพบผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์HK.3 นั้น ต้องย้อนกลับไปดูสายพันธุ์ก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการกลายพันธุ์ของ EG5.1.1.1.3 = XBB.1.9.2.5.1.1.3 โดยขณะนี้พบผู้ป่วยสายพันธุ์HK.3  ทั่วโลก จำนวน 127 ตัวอย่างจาก 12 ประเทศ  และประเทศไทย พบเพียง 2 รายเท่านั้น ซึ่งมีข้อสันนิษฐานว่าสายพันธุ์ดังกล่าวทำให้มีการแพร่เชื้อเร็วขึ้น ติดเชื้อได้ไวมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่ได้สรุป ต้องมีการติดตามต่อไป

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า 2 รายที่พบในประเทศไทยนั้นมาจากครอบครัวเดียวกัน เป็นเพศชาย อายุ 65 ปีสัญชาติไทย และเพศหญิงอายุ 11 ปี สัญชาติไทย เบื้องต้นพบว่าไม่มีอาการหนัก และหายเป็นปกติแล้ว ดังนั้น กรณีที่มีการนำผลวิเคราะห์ความได้เปรียบในการเติบโต พบ HK.3 ซึ่งมีการกลายพันธุ์ที่ตัวโปรตีนหนามหรือสไปก์โปรตีน ตำแหน่งที่เปลี่ยนแปลงคือ L455F และ F456L มีข้อสันนิษฐานว่าแพร่เชื้อเร็วขึ้นหรือไม่ หลบภูมิดีขึ้นหรือไม่ เกาะเซลล์ผู้ป่วยมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งต้องติดตามข้อมูลต่อไป แต่ข้อสันนิษฐานแบบนี้อาจไม่เป็นจริงเสมอไปต้องมีการตรวจสอบ

ส่วนกรณีที่ทาง ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสผ่านเฟสบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุถึงปรากฏการณ์กลายพันธุ์คู่-พลิกขั้วของไวรัสโควิด-19 ทำให้เกิด XBB สองสายพันธุ์ใหม่ขึ้น

หนึ่งในนั้น คือ HK.3 พบแล้วใน 10 ประเทศทั่วโลก  ซึ่งเชื้อนี้เหนือกว่าสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทยถึง 95% นั้น อยากทำความเข้าใจว่า ตามการคำนวณ % อาจมีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากจำนวนข้อมูลมีจำกัด ในทางสถิติอาจไม่มีนัยสำคัญ จึงไม่อยากให้สรุปว่าสายพันธุ์ HK.3 มีความได้เปรียบสูงกว่าสายพันธุ์ XBB.1.16 ที่ระบาดในไทย  เพราะต้องดูข้อมูลจริงๆ ที่เกิดขึ้น

ยืนยันไทยไม่พบสายพันธุ์ BA.2.86

ส่วนกรณี BA.2.86 จากฐานข้อมูลกลางโควิด-19 โลก หรือจีเสส (GISAID) พบผู้ป่วยสายพันธุ์ดังกล่าว 21 ราย  และยังไม่มีการพบในประเทศไทย  ซึ่งการที่ทีมนักวิจัย Dr.Leshan ถอดรหัสพันธุกรรมตัวอย่างไวรัสจากน้ำเสียที่เก็บจากกรุงเทพมหานครในช่วงปลายเดือนกรกฎภาคมที่ผ่านใน ในเฉพาะส่วน S-Gene ไม่ใช่ทั้งตัวไวรัส แล้วนำไปเทียบกับรหัสพันธุกรรม BA.2.86 ใน GISAID แล้วพบว่าสอดคล้องกันนั้น ในความเป็นจริงอาจจะสรุปแบบนั้นไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นการตรวจจากผู้ป่วยจริงๆ และบอกว่ามีสารพันธุกรรมบางอย่างคล้ายไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวอาจเป็นข้อสรุปที่ไม่สมเหตุสมผล

นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อไปว่า สำหรับสายพันธุ์ EG.5 ที่มีแนวโน้มจะพบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นนั้น จะเป็นสายพันธุ์ที่มีการแพร่ระบาดได้เร็วขึ้น ติดเชื้อเร็วขึ้น แต่ไม่ได้มีอาการรุนแรง ดังนั้น อยากให้ประชาชนปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรค ล้างมือบ่อยๆ  ใส่หน้ากากอนามัย และควรจะมีการฉีดวัคซีน เพราะต่อให้มีการพัฒนากลายพันธุ์ ฉีดวัคซีนอาจจะมีผลลดลงบ้าง แต่ก็ยังช่วยในเรื่องของอาการรุนแรง อาการป่วยหนักได้

“ยุคนี้อาจจะไม่ค่อยมีปัญหามากเหมือนก่อนหน้านี้ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนแล้ว ซึ่งสายพันธุ์ EG.5  ที่มีแนวโน้มระบาดเพิ่มขึ้น และสามารถแพร่เร็ว ติดง่ายขึ้นแต่อาการไม่รุนแรงนั้น ยังคงแนะนำให้ฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรฉีดปีละครั้ง”นพ.ศุภกิจ กล่าว