'ดื่มสุรา'ทำลายสมอง ไม่ใช่แค่ทำให้ขาดสติ
“หมอประชาผ่าตัดสมอง” ตีแผ่อันตรายจากดื่มสุราทำสมองฝ่อ ป่วยสโตรก เกล็ดเลือดต่ำ เสี่ยงตาย พิการสูง “ป่อเต็กตึ๊ง” เปิดข้อมูลหลัง 4 ทุ่มเก็บเคสอุบัติเหตุ 80-90% เมาหัวราน้ำ แนะดื่มไม่ขับใช้รถสาธารณะแทน
เมื่อวันที่ 19 กันยายน 66 ที่โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ และเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมเสวนา หัวข้อ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับสมอง ...ความจริงของนักดื่ม” พร้อมแสดงละครสั้น สะท้อนชีวิตจริงสิงห์นักดื่ม-สูบ ผลกระทบและวันเฉียดตาย โดยเป็นการจำลองเรื่องจริงของนายรังสรรค์ ชื่นประเสริฐ ประธานชุมชนวัดอัมพวา เขตบางกอกน้อย โดยเครือข่ายละครเฉพาะกิจเธียเตอร์
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดเป็นสารเสพติดให้โทษชนิดหนึ่งที่มีผลกระทบทางสุขภาพและทางสังคมอย่างกว้างขวาง จากข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่า
- ทุกปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากพิษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 3 ล้านคน เป็นสาเหตุของโรคมากกว่า 230 ชนิด
- ทั้งนี้ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบแนวโน้มคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป 57 ล้านคน
- ดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจาก 28.40% ในปี 2560 เหลือ 28%
- โดยเพศชายดื่ม 46.4% เพศหญิงดื่ม 10.8%
- ในจำนวนนี้มี 5.73 ล้านคน เคยดื่มหนักในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็น 10.05% แบ่งเป็น
- ดื่มหนักประจำ 1.37 ล้านคน คิดเป็น 2.40%
- และดื่มหนักครั้งคราว 4.36 ล้านคน คิดเป็น 7.65 %
- ทั้งนี้ ผู้ดื่มหนักมีแนวโน้มลดลงจาก 11.9% ในปี 2560 เหลือ 10.05% ในปี 2564
นพ.พงศ์เทพ กล่าวต่อว่า จากการวิจัยต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยปี 2564 ได้ประมาณการความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 165,450.5 ล้านบาท หรือ 1.02% ของ GDP และคิดเป็น 2,500 บาทต่อหัวประชากร และต้นทุนทางอ้อมจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 159,358.8 ล้านบาท เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดผลกระทบ
1.ด้านสุขภาพ เช่น ป่วยโรคตับ โรคหัวใจขาดเลือด แอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน
2.ด้านสังคมและวัฒนธรรม เช่น เกิดความรุนแรงในครอบครัว ทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุทางถนน
3.ด้านเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ เช่น สูญเสียค่ารักษา หน้าที่การงานมีปัญหา ทรัพย์สินเสียหาย ขาดโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ การที่ผู้ชายไทยอายุคาดเฉลี่ยในปี 2564 เท่ากับ 73.5 ปี ต่ำกว่าผู้หญิงถึง 7 ปี ส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
“สสส. ร่วมกับเครือข่ายขับเคลื่อนงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วางยุทธศาสตร์ทั้งด้านนโยบาย ด้านวิชาการ ภาคประชาสังคม และการทำงานเชิงพื้นที่ เพื่อทำให้เกิดสังคมไทยห่างไกลจากภัยสุรา เพราะร่างกายเรามีร่างเดียว เปลี่ยนไม่ได้ ต้องดูแลให้ดีเพื่อให้ใช้ได้ยาวนาน จนถึงวัยชรา จึงอยากเชิญชวนให้ใช้โอกาสนี้งดเหล้าเข้าพรรษา หรือหาช่วงเวลาพักตับ ลดการทำลายสมอง พักการดื่มให้จริงจัง หรืองดดื่มได้จะดีที่สุด” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นพ.ประชา กัญญาประสิทธิ์ศัลยแพทย์ระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม กล่าวว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผลกระทบต่อสมองทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผลทางตรง ทำให้สมองมีอายุสั้นลง สมองฝ่อก่อนวัยอันควร เป็นอัลไซเมอร์เร็วกว่าที่ควรจะเป็น เช่น บางคนอาจจะเริ่มเลอะเลือนตอนอายุ 90 ปี แต่แค่ 50 ปี ก็เริ่มจำใครไม่ได้แล้ว ส่วนผลกระทบโดยอ้อม จะส่งผ่านระบบอื่นๆ ของร่างกาย เช่น
1.ระบบหลอดเลือด หลอดเลือดหัวใจ ระบบการเผาผลาญของตับ แอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดอักเสบ เสื่อมสภาพ เกิดการอุดตัน หรือเปราะแตก สามารถเกิดสโตรกได้มากกว่าคนที่ไม่ดื่ม
2.ทำให้หน้าที่ในการผลิตสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวของตับทำงานได้น้อยลง ทำให้เกล็ดเลือดน้อยลง
3.ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงขณะดื่ม เส้นเลือดรับแรงดันไม่ได้ก็แตก เส้นเลือดในสมองแตก
4.เกิดอุบัติเหตุ จะทำให้เลือดออกมาก หยุดไหลช้า หรือเลือดไหลไม่หยุด ผ่าตัดยาก เพราะห้ามเลือดยาก เพิ่มความเสี่ยงในการพิการและเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ดังนั้น สิ่งสำคัญคือดื่มต้องไม่ขับ
นายจิรัฐติกร บรรจงกิจ ผู้ควบคุมหน่วยกู้ชีพป่อเต็กตึ้ง กล่าวว่า จากประสบการณ์ให้การช่วยเหลือการบาดเจ็บ พบว่าช่วงหลัง 4 ทุ่ม 80% ของจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากความเมา และวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ หรือหยุดเทศกาล จะเพิ่มเป็นกว่า 90% ซึ่งการช่วยเหลือทำได้ยากลำบาก เพราะคนเมาครองสติไม่ได้ สับสน ให้ข้อมูลวกวน บางครั้งทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทำลายของบนรถพยาบาล
ขอเสนอให้มีการตั้งด่านตรวจมากขึ้น ผับ บาร์ต้องร่วมรณรงค์ให้คนที่ดื่มไม่ขับรถ ใช้บริการรถสาธารณะ หรือบริการคนขับรถแทน ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีโครงการเมาไม่ขับกลับกับป่อเต็กตึ๊ง โทรไปที่สายด่วน 1418 ขอให้เจ้าหน้าที่ป่อเต็กตึ๋งช่วยขับรถกลับบ้านได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ในฐานะคนทำงานปลายน้ำไม่อยากให้ภาครัฐมีนโยบายขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทุกวันนี้ปัญหาที่เราแบกรับก็หนักมากพอแล้ว
นายรังสรรค์ ชื่นประเสริฐ ประธานชุมชนวัดอัมพวา เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ อายุ 58 ปี กล่าวว่า เริ่มกินเหล้า สูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 17 ปี จนอายุ 27 ปี ทำงานเป็นเอนจิเนีย คุมช่าง หลังเลิกงานก็กินดื่มตามร้านต่างๆ ทำพฤติกรรมแบบนี้ติดต่อกันหลายปีจนเริ่มสังเกตว่า สุขภาพเริ่มแย่ลง ดื่มน้อยแต่มึนเหมือนคนเมามาก จึงเริ่มหยุดดื่มหันมาดูแลสุขภาพ แต่ก็ไม่ได้กินยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
จนมีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น เดินไม่ตรง นั่งแล้วหาย มีอาการบ้านหมุน จึงไปพบแพทย์ แต่ระหว่างที่รอพบแพทย์อาการกลับกำเริบ แสบตา ลิ้นแข็งพูดไม่ชัด แขนขาซีกหนึ่งเป็นอัมพาต อีกข้างอ่อนแรง ซึ่งเป็นอาการของโรคเรื้อรังที่เป็นผลพวงมาจากการดื่มเหล้า สูบบุหรี่มานานแม้จะเลิกแล้วก็ตาม แต่หากเมื่อไหร่ที่ละเลยสุขภาพ ก็จะทำให้อาการกำเริบได้ ส่วนเพื่อนๆ ที่เคยกินดื่มด้วยกันก็เริ่มป่วย และเสียชีวิตไปหลายคน จึงอยากเชิญชวนให้ลด ละ เลิกดื่มอย่างจริงจังก่อนจะสายเกินไป