ยกระดับ 30บาทรักษาทุกโรค เทเลเมดิซีนจิตเวชครบวงจร-ชีวาภิบาล
ทิศทางพัฒนาและขยายเทเลเมดิซีน สิทธิ 30บาทรักษาทุกโรค เล็งต่อยอดเชื่อมรพ.ชุมชน ใช้เพิ่มบริการจิตเวชครบวงจร-ชีวาภิบาล
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์ระหว่างการลงพื้นที่รพ.ระนองพร้อมด้วย นางพนิต มโนการ ผู้อำนวยการสปสช.เขต 11 สุราษฎร์ธานีว่า เทเลเมดิซีนเป็นหนึ่งในรูปแบบบริการที่ สปสช. พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นมาโดยตลอด เพราะเป็นรูปแบบบริการที่มีต้นทุนต่ำเมื่อเทียบกับการเดินทางมาโรงพยาบาล แต่สามารถให้การดูแลประชาชนได้เป็นวงกว้าง
ลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้ป่วย ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ได้พิสูจน์แล้วว่าระบบเทเลเมดิซีนสามารถใช้งานได้จริง รพ.ต่างๆ ได้นำระบบนี้มาดูแลสุขภาพประชาชน ทั้งในส่วนของผู้ป่วยโควิด-19 เอง และผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อและไม่เหมาะที่จะมาโรงพยาบาล
ทั้งนี้ ก่อนที่จะนำระบบมาใช้กับคนไข้ จะมีเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมบ้านและตรวจสอบระบบสัญญาณอินเตอร์เน็ตของคนไข้ว่าสามาถรองรับได้หรือไม่ โดยระบบที่นำมาใช้มีทั้ง DMS ของกรมการแพทย์ เฟซไทม์ หรือไลน์ ซึ่งยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ทุกบ้านจะมีโทรศัพท์มือถือ ถ้าสัญญาณของคนไข้ไม่ดี ก็อาจจะให้เจ้าหน้าที่รพ.สต.ไปอยู่ที่บ้านคนไข้ในช่วงเวลานัดหมายเพื่อให้แพทย์ได้คุยกับคนไข้
“เทเลเมดิซีนไม่ได้ปฏิเสธไม่ให้แพทย์พบคนไข้ แต่เป็นการมาเสริมสิ่งที่ไม่เคยได้ให้ได้รับมากขึ้น จากที่สปสช.ประเมินการรับบริการเทเลเมดิซีนของคนไข้ พบว่ามีความพึงพอใจมาก เนื่องจากยังได้รับยาอย่างต่อเนื่อง ระหว่างที่รับยาหากต้องการตรวจเลือดสามารตรวจที่รพ.สต.ใกล้บ้านหรือเจ้าหน้าที่ไปตรวจที่บ้านและส่งมาตรวจที่รพ. ทำให้รู้ผลเลือดและวิเคราะห์โดยแพทย์สั่งจ่ายยา หรือปรับยาให้ตามผลเลือดหรืออาการที่เกิดขึ้น แต่ถ้าผู้ป่วยจำเป็นต้องตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมหรือมานอนรพ.ก็จะมีรถไปรับผู้ป่วย”นพ.จเด็จกล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า สปสช. ได้มีการต่อยอดด้วยการขยายกลุ่มโรคให้ผู้ให้บริการเทเลเมดิซีน จากเดิมที่รักษาเฉพาะผู้ป่วยโควิด-19 มาวางแนวทางในการขยายการดูแลไปสู่กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังในอนาคต ส่วนของรพ.ระนอง การให้บริการผ่านเทเลเมดิซีนถือเป็นจุดเด่นในการให้บริการผู้ป่วยในเรือนจำ และพื้นที่ห่างไกล บนเกาะต่างๆ โดยทุกแผนกพยายามเพิ่มการเข้าถึงบริการของผู้ป่วย โดยการใช้เทเลเมดิซีนถึงบ้านในผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการได้
นอกจากนี้ จะมีการขยายต่อคือการทำระบบเทเลเชื่อมต่อกับรพ.ชุมชน เพื่อที่ใช้ในกรณีที่หากมีผู้ป่วยนอนอยู่ในรพ.ชุมชนแล้วต้องการปรึกษาแพทย์เฉพาะทางที่รพ.จังหวัดแล้วให้การรักษา โดยที่แพทย์ปลายทางสามารถเห็นผู้ป่วย และสั่งเจาะเลือด ตรวจแล็ป สั่งยาที่จะไปรักษาได้ เป็นโครงการต่อไปที่จะดำเนินการ
รวมถึง ทิศทางนโยบายต่างๆที่มีการวางลง เช่น การให้บริการจิตเวชครบวงจร หรือการดูแลผู้ป่วยภาวะท้ายหรือชีวภิบาล(palliative care) จะเป็นรูปแบบหนึ่งที่นำเทเลเมดิซีนมาให้บริการได้เช่นกัน ด้วยการเทเลเมดิซีนไปที่บ้านผู้ป่วย โดยสปสช.ก็จะพิจารณาเรื่องกลไกการเบิกเงินต่างๆ ซึ่งเมื่อรพ.ให้บริการก็จะเก็บข้อมูลและส่งไปเบิกที่สปสช. แล้วโอนเงินค่าเทเลเมดิซีนให้รพ. โดย
“เชื่อว่าหากนำมาใช้อย่างเหมาะสม จะช่วยลดปริมาณงานในรพ.ได้ราว 25 % แต่ละปีทั่วประเทศมีผู้มารับบริการ 200 ล้านครั้ง ก็จะลดลงได้ 50 ล้านครั้ง ช่วยลดความแออัดแน่นอน และประชาชนอีก 10 กว่าล้านคนที่ไม่เคยมารับบริการเลย จะได้เข้ามารับบริการ เป็นการยกระดับหลักประกันสุขภาพครั้งใหญ่ เพิ่มการเข้าถึงบริการ”นพ.จเด็จกล่าว