'บัตรประชาชนใบเดียว รักษาฟรีทั่วไทย' เป็นจริงหรือแค่โฆษณาหาเสียง
“ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค” นโยบายหลักด้านสาธารณสุขของพรรคเพื่อไทย(พท.)และรัฐบาลใหม่ ที่มี “นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว”นั่งตำแหน่งรมว.สาธารณสุขและประธานบอร์ดสปสช. กับโจทย์ใหญ่ที่วางไว้ “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่” จะเป็นได้จริงหรือแค่โฆษณาหาเสียง
“นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการใหม่ที่จะทำเป็นเรื่องยกระดับเพื่อที่จะให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น โดยใช้บัตรประชาชนสามารถเข้ารักษาได้ทุกที่ เป็นการครอบคลุมเรื่องของคุณภาพและประสิทธิภาพ”นพ.ชลน่านให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 5 ก.ย.2566
ทว่า ภายใต้นโยบายหาเสียงและการให้สัมภาษณ์ดังกล่าว ยังมีความคลุมเครือของนโยบายดังกล่าวว่ามีความหมายครอบคลุมเรื่อง “เข้ารับบริการทุกที่”ว่าอย่างไร จะหมายถึงเฉพาะบางโรค บางบริการดังเช่นที่ดำเนินมาแล้วเรื่องของ “มะเร็งรักษาทุกที่” หรือขยายมากขึ้น
สร้างเสริมสุขภาพทุกสิทธิทุกคน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้สัมภาษณ์ว่า เตรียมจะขอเข้าพบเพื่อปรึกษาหารือนโยบายกับรมว.สาธารณสุขร่วมกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ด้วย โดยส่วนที่เป็นปัญหายังเป็นเรื่องของการเข้าถึงบริการ ควาความแออัด ความสะดวกสบายและปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ประชาชนแต่ระบบบริการก็ต้องการให้เกิดการยกระดับสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา
จึงจะเห็นได้ว่านโยบายของรัฐบาลใหม่เป็นเรื่องของการให้ความสะดวกกับประชาชนและสิทธิประโยชน์ใหม่ๆ เช่น การฉีดวัคซีน`HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่เดิมมีการให้เฉพาะบางกลุ่ม อาจจะมีการขยายกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น หรือการตรวจคัดกรองมะเร็งตับและท่อน้ำดี เป็นต้น เน้นเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค
เรื่องนี้จะเป็นนิมิตหมายที่ดีเนื่องจากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีการวินิจฉัยแล้วว่าสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคนั้น สปสช.จะต้องดำเนินการครอบคลุมประชาชนคนไทยทุกคนในทุกสิทธิประกันสุขภาพภาครัฐไม่เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรคเท่านั้น
"ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของการยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค แต่จะต้องมีการปรึกษาร่วมกับสธ. หน่วยบริการและทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง”นพ.จเด็จกล่าว
รักษาทุกที่ ปฏิรูปครั้งใหญ่
สำหรับนโยบาย “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่” นพ.จเด็จ เชื่อว่าจะต้องมีการรื้อและปรับปรุงระบบเบื้องหลังอีกจำนวนมาก แม้ที่ผ่านมาจะมีการพยายามดำเนินการอยู่ก็ตาม แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ 100 % โดยเฉพาะข้อมูลบริการที่จะบูรณาการ ถ้าสามารถดำเนินการได้จริงก็จะเกิดประโยชน์กับประชาชนมากที่จะได้ไม่ต้องกลับไปรพ.ตามสิทธิเพื่อรับใบส่งตัว จึงมีความท้าทายสูงและเป็นการปฏิรูปครั้งใหญ่โดยการขับเคลื่อนคงต้องร่วมมือกันหลายฝ่าย
ในประเด็นความครอบคลุมของการใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับบริการได้นั้น นพ.จเด็จ มองว่า หากตีความเป็นไปได้ทั้ง 2 กรณี คือ 1.การใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับบริการได้ทุกที่ ไม่เฉพาะรพ.ตามสิทธิเท่านั้น และ2.ไปรับบริการที่รพ.ตามสิทธิโดยใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียว ไม่ต้องใช้เอกสารอื่น เพราะบัตรประชาชนใบเดียวควรจะมีข้อมูลการบริการของพี่น้องประชาชน ดังนั้น ไม่ว่าจะไปรับบริการรักษาที่ไหน จะมีความสะดวก
ความกังวลจากนโยบายนี้ที่อาจจะทำให้ประชาชนเลือกไปแต่เฉพาะรพ.ใหญ่ นพ.จเด็จ บอกว่า ต้องเคารพพี่น้องประชาชนว่าไม่ได้อยากไปรพ.ที่ไกลบ้านถ้าไม่จำเป็นจริงๆ และจากที่มีการนำร่องไปรักษาที่ไหนก็ได้ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางยังเป็นอุปสรรค โดยมีประมาณ 20 % ที่ไม่ไปในจังหวัดเดียวกัน แต่ส่วนใหญ่ 80 %ยังคงอยู่ในจังหวัดเดียวกัน เพราะค่าใช้จ่ายเดินทางข้ามจังหวัดค่อนข้างสูง และจะต้องเรียนถามรมว.ด้วยว่านโยบายส่วนนี้จะมาพร้อมกับการพัฒนาหน่วยบริการใกล้บ้านให้ดีขึ้นด้วยหรือไม่ เพราะถ้าทำส่วนนี้ได้ดี เป็นที่พึ่งได้ จะไม่มีใครอยากเดินทางไกลไปรับบริการ
“จากที่ทดลองนำร่องกรณีบริการปฐมภูมิเข้ารับการรักษาได้ทุกที่แล้ว ของใหม่จะเป็นการขยายมากกว่าที่เคยทำมาและสร้างความเข้มแข็งระบบเดิม อย่างไรก็ตาม จะต้องเข้ารับมอบนโยบายจากรมว.สาธารณสุขอีกครั้งว่าภายใต้นโยบายนี้นัยยะมีความหมายอย่างไร แต่มั่นใจจะเกิดประโยชน์กับประชาชนแน่นอนและพร้อมที่จะขับเคลื่อน จะเป็นการยกระดับบริการใกล้บ้านให้มีคุณภาพสูงขึ้น”นพ.จเด็จกล่าว
สถานชีวาภิบาลเป็นสิ่งใหม่
นพ.จเด็จ พูดถึงนโยบายสถานชีวาภิบาลด้วยว่า เดิมมีการจ่ายงบประมาณบางส่วนที่เกี่ยวข้องแต่เป็นลักษณะของการให้ยามอร์ฟีนที่บ้าน หรือการดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่บ้าน แต่จะต้องหารืออีกครั้งว่าจะต้องหมายรวมไปถึงการดูแลประคับประคอง (palliative care) หรือ hospice care ที่มีการดูแลระยะท้ายด้วย จะเป็นสิ่งใหม่และเป็นทิศทางนโยบายที่น่าสนใจมาก
โดยหลักต้องอยู่ที่เนื้อของการบริการ ซึ่งการดูแลผู้ป่วยที่บ้านมีบทเรียนแล้ว และต่างประเทศมีปัญหาเรื่องที่ต้องดูแลผู้ป่วยระยะท้ายในรพ.จนแน่นไปหมด ส่วนงบประมาณถ้าเกี่ยวข้องสปสช.และเป็นนโยบายก็ต้องดำเนินการ และจะเป็นการก่อสร้างสถานที่ใหม่หรือไม่ ยังไม่ทราบรายละเอียดแต่เป็นไปได้หลายรูปแบบ เพราะในต่างประเทศก็มีทั้งการใช้ที่บ้าน สถานที่ใหม่ที่เป็นทรัพยากรในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือวัด เป็นต้น
ต้องพัฒนาหน่วยบริการใกล้บ้าน
นิมิตร เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้มุมมองว่า มีบางอย่างใหม่ บางอย่างทำอยู่แล้ว เช่น บัตรประชาชนไปที่ไหนก็ได้ต้องทำให้เป็นจริงและให้มีความชัดเจนว่า “ไปที่ไหนก็ได้”มีนัยยะไปได้ทุกรพ.ทั่วประเทศเหมือนสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ไม่ได้ผู้ติดกับหน่วยบริการต้นสังกัดตามสิทธิ อย่างอยู่ต่างจังหวัดจะเข้ามารับบริการรพ.ในกทม.ได้หรือไม่ต้องพูดรายละเอียดให้ชัดเจน
เพราะปัจจุบันหากเป็นภายในจังหวัดเดียวกันสามารถไปรพ.ได้ทุกแห่งอยู่แล้ว แต่หากรับบริการข้ามจังหวัดในกรณีของผู้ป่วยมะเร็งก็รักษาได้ทุกที่ ขึ้นกับการประสานงานและที่ไหนว่าง คิวน้อย จึงเป็นการต่อยอดให้ดีและชัดเจนขึ้น
จะขยับนโยบายรักษาทุกที่ไปแบบสิทธิข้าราชการหรือไม่นั้น ระบบสามารถรองรับได้ แต่เป็นสิ่งที่จะต้องศึกษาผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมาการรับบริการได้ทุกที่ภายในจังหวัด ก็กำลังพัฒนาขีดความสามารถของหน่วยบริการให้รับช่วงส่งต่อกับมารองรับตรงจุดนี้ รวมถึง การบริหารจัดการงบประมาณสามารถทำได้ภายในจังหวัด หรือเขตสุขภาพ
จะทำให้เหมือนสิทธิข้าราชการเลยกต้องตัดสินใจว่าข้อดี ข้อเสีย อาจไปเจอโจทย์ที่คนไปออกันในรพ.ใหญ่ที่คนเชื่อถือ กลายเป็นต้องไปรพ.แต่เช้าแล้วนำรองเท้าไปจองคิวเหมือนอดีต เป็นสิ่งที่จะต้องพิจารณา
" ไม่ใช่เป็นแค่นโยบายโฆษณาหาเสียง ต้องดูข้อเท็จจริงว่าควรทำหรือไม่และทำในขอบเขตแค่ไหน ต้องนิยามฝว่าไปได้ทุกที่ต้องชัด”นิมิตรกล่าว
นิมิตร กล่าวด้วยว่า อีกนัยยะของการไปรักษาได้ทุกที่ อาจจะต้องมองเรื่องของการพัฒนาสถานพยาบาลทุกแห่งให้ดีขึ้น สามารถรองรับให้ประชาชนมั่นใจว่าไปที่ไหนก็เหมือนกัน คุณภาพการรักษา ยาและความรวดเร็วสะดวกแบบเดียวกัน จำเป็นที่ฝ่าย นโยบายต้องระบุเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญด้วย เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดภาระแฝงเกิดขึ้นจากการที่ต้องเดินทางไปรับบริการที่ไกล จึงต้องพัฒนาหน่วยบริการที่ใกล้บ้านก่อน
“หากจะลดความแออัดต้องทำให้รพ.เล็ก ใกล้บ้านมีคุณภาพที่ดีจนประชาชนไว้วางใจ และพร้อมไปรับการรักษา หมายความรัฐบาลหรือสธ.ต้องไปมุ่งว่าจะพัฒนาขีดความสามารถของรพ.ประจำอำเภอให้ดีขึ้นได้อย่างไร จนไม่จำเป็นต้องดิ้นรนไปรพ.จังหวัดหรือรพ.ในกทม.” นิมิตรกล่าว
รพ. 50 เขตควรต้องมี
ส่วนการที่จะสร้างตั้งรพ.120 เตียงให้ครบทั้ง 50 เขตของกทม. นิมิตร บอกว่า เป็นเรื่องใหม่ที่ดีมากและสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้เกิดขึ้น เนื่องจากการไม่มีรพ.ใกล้บ้านประจำเขตรองรับการให้บริการที่เพียงพอ เป็นปัญหาใหญ่มากของคนกทม. ในเรื่องงบประมาณที่จะนำมาก่อสร้างจะมีหรือไม่ ก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญของการลงทุน ถ้ารัฐบาลกลางทำต้องประสานกทม.ไปทำให้กทม.ทำหรือจะทำเองเป็นรพ.สังกัดสธ.ที่อยู่ในแต่ละเขตก็พิจารณามา
“การพัฒนาหน่วยบริการใกล้บ้านให้มีคุณภาพจะต้องทำไปพร้อมๆกับการขับเคลื่อนเรื่องบัตรประชาชน รักษาทุกที่ โดยจะต้องตั้งโจทย์ว่าจะทำให้ทุกที่บริการให้ได้ แล้วเปิดทางเลือกให้ประชาชน คนที่พร้อมและจำเป็นไปที่อื่นก็ไปได้ ส่วนคนที่ประสงค์จะรับบริการใกล้บ้าน ก็ควรได้รับคุณภาพที่ดี ต้องทำไปด้วยกัน หรือเบื้องต้นอาจจะเริ่มเป็นแบบเฉพาะโรคคล้ายโรคมะเร็งที่ดำเนินการอยู่แล้ว แต่ต้องลดอุปสรรคเรื่องความไม่รู้ของเจ้าหน้าที่ หรือการบันทึกข้อมูลที่กลัวว่าทำผิดแล้วจะเรียกเก็บเงินไม่ได้ ต้องปรับกฎระเบียบต่างๆ”นิมิตรกล่าว
ท้ายที่สุด นิมิตร บอกว่า หวังการเป็นนักการเมืองของรมว.สาธารณสุขคนใหม่ ที่รับฟังความเห็นอย่างรอบด้านจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ดึงการมีส่วนร่วม กล้าตัดสินใจและอยู่บนฐานประโยชน์ของผู้ป่วย