วิเคราะห์ ‘นโยบายสาธารณสุข’ รัฐบาลใหม่ ครม.เศรษฐา 1 ในมือ 'เพื่อไทย'
หาก 'ครม.เศรษฐา 1' รัฐบาลใหม่เป็นไปตามโผ ‘รมว.สาธารณสุข’จะมีชื่อว่า ‘นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย(พท.) ซึ่ง 'นโยบายสาธารณสุข' ที่หาเสียงไว้เรื่องหลัก คือ ‘ยกระดับ 30บาทรักษาทุกโรค’ แต่ยังไม่เห็นอะไรแตกต่างมากนักจากที่ผ่านมา
Keypoints:
- เจาะความสัมพันธ์พรรคเพื่อไทยแกนนำรัฐบาลใหม่กับกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) รวมถึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ว่าที่รมว.สาธารณสุขตามโผ ครม.เศรษฐา 1 ก่อนหวนคุมกระทรวงนี้ในรอบ 10 ปี
- 10 นโยบายสาธารณสุขที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ในการเลือกตั้ง เน้นเรื่องหลักยกระดับ 30บาทรักษาทุกโรค เมื่อรัฐบาลใหม่มาคุม
- วิเคราะห์นโยบายสาธารณสุขพรรคเพื่อไทย ยกระดับ แต่ยังไม่แตกต่าง แม้มีเรื่องโดนใจ แต่ต้องใช้งบประมาณมาก โจทย์ใหญ่รัฐบาลใหม่
นโยบายสาธารณสุขเป็นสิ่งที่สร้างคะแนนนิยมให้กับพรรคไทยรักไทย(ทรท.)รากเหง้าของพท.เป็นอย่างมาก จาก “นโยบาย 30บาทรักษาทุกโรค” ที่ทำให้คนไทยทุกคนมีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เข้ารับการรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นสิ่งที่ “นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์”และทีมได้มีการศึกษาวิจัยและเสนอให้พรรคการเมือง โดยทรท.หยิบมาเป็นนโยบาย
พท.หวนคุมสธ.ในรอบ 10ปี
โควต้ารมว.สาธารณสุขเป็นของพรรคพท.ในยุคที่ “เศรษฐา ทวีสิน”เป็นนายกรัฐมนตรี เท่ากับว่าคนในสังกัดพรรคนี้จะหวนกลับมาคุม “กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)”อีกครั้งในรอบ 10 ปี หลังจากล่าสุด คือ “นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์”เมื่อปี 2555
และในรอบ 20 ปี คนของทรท.เดิม ไม่ว่าในฐานะพรรคทรท.หรือพรรคพลังประชาชน เข้ามาเป็นรมว.สาธารณสขมากที่สุดถึง 8 คน จากทั้งหมด 14 คน ตั้งแต่คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ,นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล,พินิจ จารุสมบัติ,ไชยา สะสมทรัพย์,ชวรัตน์ ชาญวีรกูล,ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ,วิทยา บุรณศิริ และนพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์
ทว่า นับตั้งแต่นโยบาย 30บาทรักษาทุกโรค ก็ยังไม่มีนโยบายด้านสาธารณสุขใดที่จะครองใจคนได้เทียบเท่า ไม่ว่าจะมีรมว.จากพรรคการเมืองไหน หรือแม้แต่คนรากเดียวกับพท.ก็ตาม
“นพ.ชลน่าน”คือใคร
ขณะที่ “นพ.ชลน่าน” ว่าที่รมว.สาธารณสุขตามโผนั้น เรียกได้ว่าเป็น “ลูกหม้อ”พรรคทรท. มาตั้งแต่ยุคก่อตั้งในปี 2543 และได้รับเลือกเป็นส.ส.จ.น่าน
สำหรับการทำงานในสธ.นั้น นอกจากในฐานะข้าราชการประจำจะเคยเป็น
- แพทย์ประจำโรงพยาบาลเวียงสา จ.น่าน
- และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จ.น่านแล้ว
ในทางการเมือง ปี 2547 เป็นผู้ช่วยเลขานุการรมว.สาธารณสุข
- ปี 2548 เป็นเลขานุการรมว.สาธารณสุข
- และปี 2555 เป็นรมช.สาธารณสุข โดยมีนพ.ประดิษฐเป็นรมว. ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
จากผลงานนโยบายในอดีตและการกลับมาคุมสธ.อีกครั้งของพท. รวมถึง การวางตัวบุคคลที่จะเข้าดำรตำแหน่งเป็นทั้งแพทย์และผู้ที่เคยทำงานเกี่ยวโยงกับสธ.มาก่อนทั้งในฐานะข้าราชการและนักการเมือง จึงแบกความคาดหวังที่สูงมากของประชาชนเอาไว้ด้วย ว่าจะต้องมีการพัฒนาเชิงระบบและอะไรใหม่ๆที่มากขึ้น
นโยบายสาธารณสุขเพื่อไทย
นโยบายหลักด้านสาธารณสุขของพท.ในรอบนี้ คือการ “ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค” โดยมี 10 นโยบายย่อย ได้แก่
1.นัดหมอจากบ้าน นัดคิวออนไลน์ เลือกเวลาพบแพทย์ล่วงหน้าได้ ไม่ต้องเสียเวลาทั้งวันที่รพ.
2.ตรวจเลือดใกล้บ้าน เจาะเลือด ตรวจแล็ปจากคลินิกใกล้บ้านแล้วรับการรักษาที่รพ.ในวันถัดไป
3.บัตรประชาชนใบเดียว รักษาฟรีทั่วไทย
4.เลือกหมอ เลือกรพ.ได้เอง เพราะประวัติการรักษา ถูกเก็บในคลาวด์ ข้อมูลไม่รั่วไหล รักษาได้ทุกรพ. ส่งต่อ หรือเปลี่ยนหมอได้ทันที
5.ลดขั้นตอน ลดภาระบุคลากรทางการแพทย์ ด้วยระบบที่ช่วยจัดตารางงานบุคลากรอย่างชัดเจน ประชาชนไม่ต้องรอนาน แพทย์พยาบาล ไม่ต้องเหนื่อยเพิ่ม
6.รับยาใกล้บ้าน ตรวจเสร็จ กลับบ้านได้เลยรับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน โรคเรื้อรังอาการคงที่รับยาที่ร้านขายยาใกล้บ้าน
7.ตรวจ/รับยา วัคซีนป้องกันมะเร็งฟรีผู้หญิงรับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกฟรี ผู้ชายตรวจคัดกรอง/รับยาป้องกันมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี
8.สุขภาพจิตรักษาใกล้บ้าน โรงพยาบาลใกล้บ้านมีแผนกจิตเวชที่เข้าถึงได้ทันที ปรึกษาจิตแพทย์และนักจิตวิทยาผ่านเทเลเมดิซีน 9.สถานชีวาภิบาล ดูแลผู้ป่วยติดเตียงและผู้ป่วยระยะสุดท้ายครอบครัวไร้กังวล ลูกหลานวัยทำงานไม่เสียรายได้
และ10.กทม.50เขต 50 รพ. กทม.ต้องมีรพ.รัฐขนาด 120 เตียงขึ้นไปประจำทุกเขต
ยกระดับแต่ไม่ต่าง
จะเห็นได้ว่า นโยบายหลักนั้น ยังเป็นคงเป็นการสานต่อนโยบายครองใจคนในอดีต ด้วยการ“ยกระดับ 30บาทรักษาทุกโรค” ซึ่งเป็นลักษณะของการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆให้กับประชาชนมากขึ้น อย่างเช่น ตรวจเลือดใกล้บ้าน,รับยาใกล้บ้าน ,การรับวัคซีนมะเร็งปากมดลูก
รวมถึง การนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อแก้ปัญหาระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง “ความแอออัดของสถานพยาบาล” ที่นับเป็นหนึ่งในโจทย์หินของการพัฒนาระบบในอดีต โดยพท. จะให้มีการ นัดหมอจากบ้าน นัดคิวออนไลน์ เลือกเวลาพบแพทย์ล่วงหน้าได้, การนำประวัติการรักษาเก็บในคลาวด์ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถรักษาได้ทุกรพ. ส่งต่อ หรือเปลี่ยนหมอได้ทันที หรือการใช้เทเลเมดิซีนในการรับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิต
ทว่า ทั้ง 2 ส่วนนั้นล้วนเป็นสิ่งที่มีการดำเนินการอยู่แล้วแทบทั้งสิ้น ซึ่งสธ.มีนโยบาบเรื่อง “smart Hospital”อยู่แล้ว และในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ก็ได้มีการค้นพบและเริ่มต้น “นวัตกรรม”ต่างๆมากมาย ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาเรื่องความแออัด ขณะเดียวกันก็สร้างความสะดวกและลดภาระค่าใช้จ่ายจากการเดินทางให้กับประชาชนได้ด้วย เช่น ตรวจเลือด รับยาใกล้บ้าน หรือส่งยาทางไปรษณีย์ เป็นต้น
ขณะที่นโยบาย “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาฟรีทั่วไทย”นั้น ต้องรอความชัดเจนว่าในเรื่องจะเป็นไปในทิศทางใด จะหมายความถึง “การใช้บัตรประชาชนใบเดียวในการเข้ารับการรักษาโดยไม่ต้องใช้บัตรอื่น”ซึ่งก็มีการทำอยู่แล้ว หรือจะเป็นการ “ใช้บัตรประชาชนใบเดีบว แล้วให้ประชาชนเข้ารับการรักษาในรพ.ใดก็ได้ ไม่ใช่เฉพาะในรพ.ตามสิทธิ์” ซึ่งก็จะนับเป็นเรื่องใหม่ที่ว้าวเลยทีเดียว เพราะคนไข้จะเข้ารับรักษาที่ใดก็ได้ แต่จะส่งผลต่อการเลือกรพ.ใหญ่ๆและเกิดการกระจุกตัวคนไข้ในรพ.ไม่กี่แห่งหรือไม่
โดนใจแต่ใช้งบฯมาก
ส่วนนโยบายที่น่าจะโดนใจ “บุคลากร” คือ “การลดภาระงาน” ที่เป็นอีกหนึ่งปัญหาของระบบ แม้ปัจจุบันจะมีรพ.ที่ทำงานนอกเวลาราชการ เกิน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์อยู่ราว 65 แห่ง โดยพท.จะใช้ “ระบบที่ช่วยจัดตารางงานบุคลากรอย่างชัดเจน” อาจช่วยให้บุคลากรไม่ต้องเสียเวลาไปกับการนั่งจัดตารางงานและคงจะรวมไปถึง การที่ระบบน่าจะ “แสดง”ชั่วโมงการทำงานของบุคลากรแต่ละคน ก่อนที่จะจัดตารางงานด้วย เพื่อไม่ให้ใคร “ควงเวรมากน้อยต่างกันนัก”
แน่นอนเป็นการช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่จะ “ลดภาระงาน” ให้เหลือชั่วโมงการทำงานนอกเวลาราชการ ไม่เกิน 60 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือถึงระดับไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ตามประกาศแพทยสภาได้จริงหรือไม่ ท่ามกลางจำนวนบุคลากรที่ไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก และมีการลาออกจากเหตุภาระงานและไม่ได้อัตราบรรจุข้าราชการเป็นประจำทุกปี
สิ่งที่เป็นเรื่องใหญ่ และพท.มีนโยบายตอบสนองในเรื่องนี้ คือ การรองรับสังคมผู้สูงอายุ ที่อาจจะทำให้จำนวนผู้ป่วยติดเตียงเพิ่มขึ้นด้วย โดยการจัดตั้ง “สถานชีวาภิบาล” ซึ่งจะต้องรอความชัดเจนของรูปแบบที่จะดำเนินการ ว่าจะเป็น “ก่อสร้าง”สถานที่ใหม่ หรือจะเป็นรูปแบบให้ท้องถิ่นบริหารจัดการแบบใดหรือไม่ ถ้าก่อสร้างก็คงต้องใช้งบประมาณอย่างมาก
สุดท้าย รพ.ขนาด 120 เตียง 50 แห่ง ใน 50 เขต เป็นนโยบายที่คงเกิดขึ้นจากการเห็นปัญหาในช่วงโควิด-19ที่ผ่านมา ซึ่งในพื้นที่กทม.นั้น หน่วยบริการปฐมภูมิในระบบบัตรทอง 30บาทรักษาทุกโรค จะเป็นลักษณะของคลินิกเอกชนที่ไม่ได้รับผู้ป่วยไว้ข้างคืน
ส่วนรพ.ส่วนใหญ่ก็ให้บริการโดยภาคเอกชน จึงค่อนข้างติดขัดอยู่ไม่น้อยในการส่งต่อคนไข้ ซึ่งการจะสร้างรพ. 50 แห่ง ย่อมต้องใช้งบประมาณมหาศาลทีเดียว ท่ามกลางภาวะที่รัฐมีหนี้เงินกู้
ต้องของบฯเพิ่มราว 2 หมื่นลบ.
ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2567 สำนักงานหลักประกันสุขภาพาแห่งชาติ(สปสช.) มีการเสนอของบประมาณบัตรทอง 30 บาทที่ไม่รวมเงินเดือนบุคลากร ไปแล้ว 1.45 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3,800 ล้านบาท
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายใหม่ๆของรัฐบาลใหม่เรื่องของยกระดับบัตรทอง จะต้องของบประมาณรองรับเพิ่มเติม เพราะบางส่วนไม่ได้เตรียมงบประมาณไว้ ก็จะต้องหารือกับรัฐมนตรีและคณะกรรมการโดยตรงว่า งบประมาณที่เตรียมไว้เป็นงบประมาณพื้นฐาน หากมีนโยบายใหม่และมีความจำเป็นก็ต้องมีการเสนอเข้าไป เท่าที่คำนวณวงเงินงบประมาณไว้ไม่เกินประมาณ 2 หมื่นกว่าล้านบาท จากทุกๆ นโยบายที่พิจารณาไว้
“เมื่อมีความชัดเจนในส่วนของรัฐบาลใหม่ และนโยบายใหม่ว่าเป็นเรื่องใด งบประมาณเท่าไหร่ ก็จะเสนองบประมาณเข้าไปเพิ่มเติมแล้วจัดสรรเป็นงบขาลงมาพร้อมกันทั้ง2ส่วน ซึ่งสปสช.มีการคำนวณไว้แล้ว แต่ต้องขอทราบทิศทางนโยบาย ความสำคัญและจะเอาเรื่องใดมาก่อน หรือจะมีเรื่องใหม่ที่ไม่เคยประกาศต่อสาธารณชนแต่มีความจำเป็น เป็นความเดือดร้อนของประชาชนที่จะเข้าไปดูแล"นพ.จเด็จกล่าว