Quick Win 13 นโยบายสาธารณสุข ปี 67 รัฐบาลใหม่
“หมอชลน่าน” ประกาศ Quick Win ใน 13 นโยบาย 27 จังหวัด 4 เขตสุขภาพ ใช้บัตรประชาชนใบเดียว 30บาทรักษาทุกโรคได้ทุกที่ เบื้องต้นครอบคลุมเฉพาะรพ.ในสังกัดสธ. ก่อน คาดเริ่มได้ภายใน 100 วัน- 50 เขต 50 รพ.ขนาด 120 เตียง ที่แรกเขตดอนเมือง ก่อสร้างใหม่รอพิจารณางบฯ
Keypoints :
- นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ประกาศ Quick Win ใน 13 นโยบายสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2567 ภายใต้รัฐบาลใหม่
- เลือก 4 เขตสุขภาพ ครอบคลุม 27 จังหวัด เริ่มใช้บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกโรค
- เสนอเพิ่มการผลิตแพทย์รองรับการปฏิบัติงานในรพ.สต. 25,000 คน ใช้งบประมาณราว 1 แสนล้านบาท ใน 12 ปี เฉลี่ยปีละ 10,000 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 20 ก.ย.2566 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข แถลงภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงอย่างเป็นทางการครั้งแรกว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ในระยะสั้นและเร่งด่วน(Quick Win 100 วัน)ที่สามารถตอบโจทย์ประชาชนได้โดยเร็วและเห็นผล เพื่อให้แต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปเร่งรัดดำเนินการ ภายใต้ 13 นโยบายซึ่งแต่ละนโยบายมี Quick Win ประกอบด้วย
1.พัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริและโครงการเฉลิมพระเกียรติของพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ คือ คัดกรองมะเร็งผู้ต้องขังทุกราย ,รพ.อัจฉริยะต้นแบบในรพ.เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 10 แห่ง และรพ.เทพรัตนเวชชานุกูลฯ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ,สุขศาลาพระราชทานผ่านการรับรองคุณภาพทุกแห่ง
ตั้งรพ.เขตดอนเมือง
2.โรงพยาบาล กทม. 50 เขต 50 โรงพยาบาล และปริมณฑล ขนาด 120 เตียง จะประกาศตั้งรพ.แรกในเขตดอนเมือง ซึ่งจะมีการก่อสร้างใหม่ ส่วนงบประมาณอยู่ระหว่างการพิจารณา
3.สุขภาพจิต/ยาเสพติด ให้มีมินิธัญญารักษ์ดูแลบำบัดผู้ติดยาเสพติดทุกจังหวัด และงานจิตเวชทุกอำเภอ
4.มะเร็งครบวงจร ฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มอายุ 11-20 ปี หรือระดับชั้น ป.5- มหาวิทยาลัยปี 2 จำนวน 1 ล้านโดส ในเดือนตุลาคมนี้ ,คัดกรองพยาธิใบไม้ตับ 1 แสนคนในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
5.สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร มีการตั้งทีมแคร์ดีพลัสในสถานบริการทุกระดับ ด้วยการให้ความรู้ ความเข้าใจระบบสุขภาพกับญาติและคนไข้ โดยเฉพาะในแผนกฉุกเฉินและส่วนงานที่มีความแออัด ,บรรจุข้าราชการพิเศษครบทุกตำแหน่ง และได้รับสิทธิเลื่อนเงินเดือนในช่วงลาศึกษาต่อ จากเดิมที่จะหยุดการขึ้นเงินเดือนไว้ 3 ปี
6.การแพทย์ปฐมภูมิ ตรวจเลือด รับยา การแพทย์ทางไกลเทเลเมดิซีน 1 จังหวัด 1 รพ. และ 1 อำเภอ 1 โรงเรียน อนามัยโรงเรียน
7.สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ ขึ้นทะเบียนเบิกจ่ายเป็นเรียลไทม์บุคคลมีปัญหาสถานะและสิทธฺ กลุ่มเฉพาะ 5 จังหวัด
8.สถานชีวาภิบาล ตั้งจังหวัดละ 1 แห่ง อาจจะในสถานที่ที่มีอยู่แล้วของพื้นที่ เช่น รพ.ชุมชน หรือวัด เป็นต้น ,Hospital @Home หรือโฮมหวอด และมีคลินิกผู้สูงอายุทุกรพ.
9. พัฒนาโรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย เติมเต็มศักยภาพให้ รพช.ที่จะรับการดูแลในระดับทุติยภูมิ มีการกำหนดเป้าหมาย เพิ่มศักยภาพ วินิจฉัยโรคด้วยเครื่องซีที เครื่อง MRI
27จ.บัตรประชาชนใบเดียว
10.ดิจิทัลสุขภาพ เป็นโครงการบัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกโรคได้ทุกที่ โดยจะเริ่มนำร่องระยะต้น 4 เขตสุขภาพ จำนวน 27 จังหวัด ได้แก่
- เขตสุขภาพที่ 1 ครอบคลุม 8 จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน
- เขตสุขภาพที่ 4 ครอบคลุม 8จังหวัด สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา และปทุมธานี
- เขตสุขภาพที่ 9 ครอบคลุม 4จังหวัด นครราชสีมา ชุยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์
- และเขตสุขภาพที่ 12 ครอบคลุม7 จังหวัด พัทลุง ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ซึ่งเป็นเขตสุขภาพที่มีการเสนอความพร้อมว่าสามารถดำเนินการได้
“ภายใต้นโยบายนี้ประชาชนในสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค จะสามารถไปรับบริการในสถานพยาบาลได้ทุกที่ในทุกโรค ไม่เฉพาะรพ.ตามสิทธิเท่านั้น เบื้องต้นจะครอบคลุมเฉพาะรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุขก่อน เนื่องจากรพ.ใน 4 เขตสุขภาพดังกล่าวมีการทำฐานข้อมูลผู้ป่วยในระบบดิจิทัลอยู่แล้ว เหลือเพียงการนำของแต่ละรพ.ในเขตนำข้อมูลขึ้นสู่คลาวด์ จากนั้นเมื่อผู้ป่วไปรับบริการที่รพ.สังกัดสธ.ในเขตเดียวกัน แพทย์ที่ได้รับอนุญาตก็จะสามารถดูข้อมูลคนไข้ได้ คาดว่าจะเริ่มให้บริการรูปแบบนี้ได้ภายใน 100 วัน ตั้งใจให้เป็นของขวัญปีใหม่ประชาชน ”นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า ส่วนการเชื่อมประสานรูปแบบนี้ไปยังสถานพยาบาลนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้น ในอนาคตเมื่อมีคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และนพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นเลขานุการ ซึ่งเป็นคณะกรรมการที่ดูนโยบายระบบสุขภาพของประเทศที่บูรณาการทุกหน่วยงาน ก็จะพิจารณาดำเนินการในส่วนเชื่อมต่ออื่นๆ
เพิ่มกลุ่มโรคคัดกรองทารกแรกเกิด
11.ส่งเสริมการมีบุตร ตั้งคลินิกส่งเสริมการมีบุตร จังหวัดละ 1 แห่ง และคัดกรองทารกแรกเกิดจากเดิม 24 กลุ่มโรค เพิ่มเป็น 40 กลุ่มโรค
12.เศรษฐกิจสุขภาพ ประกาศให้มี Wellness Community เขตสุขภาพละ 1 แห่ง และอาจจะเพิ่มเติมเป็นรายจังหวัดที่มีความพร้อม คือ เชียงใหม่และน่าน ,ขึ้นทะเบียน Wellness center 500 แห่ง ,ออกใบอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน 100 รายการ และสร้างงานสร้างอาชีพ 500 คน เช่น นวด
และ13.นักท่องเที่ยวปลอดภัย ให้มีพื้นที่ Safety เขตสุขภาพละ 1 แห่ง ,สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) จัดให้มี 1 เขต 1 Skydoctor
ด้านสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า ได้นำเสนอนโยบายเพิ่มเติมในการให้มีแพทย์ไปประจำที่รพ.สต.แต่ละแห่ง 3 คน เพื่อลดต้นทุนในการเดินทางไปเข้ารับการรักษาของประชาชน ซึ่งจะต้องมีการผลิตแพทย์รองรับเพิ่มเติม จากที่มีรพ. 8,500 แห่ง จะต้องผลิตรองรับ 25,000 คน เฉลี่ยใช้งบประมาณ 4 ล้านบาทต่อคน จะใช้งบประมาณลงทุนราว 1 แสนล้านบาท ใน 12 ปี เฉลี่ยปีละ 10,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นความจำเป็นในการกระจายรักษาพยาบาลลงไปในท้องถิ่น ซึ่งรมว.ได้รับไปหารือในคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพต่อไป