'30 บาทรักษาทุกโรค' เปลี่ยนแปลงมากกว่าบัตรประชาชนใบเดียว
Quick Win สำคัญภายใต้นโยบาย “ยกระดับ 30 บาท” เป็นเรื่อง “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาฟรีทั่วไทย” แต่การรองรับให้บริการประชาชนกว่า 40 ล้านคน ที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีอีกหลายเรื่องที่จะต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกันด้วย เพื่อทำให้เกิดผลความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน
ธงหลักที่จะมุ่งไปในยุครัฐบาลใหม่ ที่มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นรมว.สาธารณสุข คือ “30 บาทพลัส” ซึ่งจะมีการขับเคลื่อนนโยบายแวดล้อม โดยเฉพาะบริการที่จะลดความแออัด ใช้บัตรประชาชนใบเดียว เทเลเมดิซีน สถานชีวาภิบาล จิตเวชครบวงจร มะเร็งครบวงจรด้วยการขยายกลุ่มเป้าหมายวัคซีน HPV และ50 เขต 50 รพ.
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจ ระหว่างลงพื้นที่ จ.ระนอง เมื่อเร็วๆ นี้ว่า บัตรประชาชนใบเดียวพร้อมจะนำร่องใน 4 เขตสุขภาพ แบบครบวงจร ไม่ใช่แค่การนำบัตรประชาชนไปใช้บริการ แต่เบื้องหลังคือ การบูรณาการข้อมูลบริการทั้งหมด เพื่อให้ความสะดวกผู้ป่วยมากขึ้น และไม่อยากให้มองว่าทุกคนจะต้องแห่ไปโรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่ง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเดินทางยังสูงเกินกว่าที่ประชาชนทุกคนพร้อมที่จะไป แม้อาจจะมีผลกระทบบ้าง แต่ถ้าทำหลายๆ มาตรการ เช่น ลดความแออัด จัดลำดับความสำคัญของผู้ป่วยดีๆ เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจ
ยกระดับหน่วยบริการใกล้บ้าน
นโยบายรัฐบาล ไม่ใช่แค่บัตรประชาชนใบเดียว แต่จะยกระดับสถานพยาบาลใกล้บ้านด้วย อย่างเช่น ในพื้นที่ กทม.จะเพิ่มสถานพยาบาล 120 เตียง 50 โรงพยาบาล 50 เขต หรือโรงพยาบาลต่างจังหวัดก็จะยกระดับขึ้นมา จะทำให้ความศรัทธาของประชาชนอยากจะไปใกล้บ้าน ไม่มีใครอยากจะไปไกลๆ ถ้ามีความมั่นใจ
ถ้าเขตสุขภาพใดทำสำเร็จแล้ว จากนั้นเขตอื่นๆ ก็จะขับเคลื่อนไปได้อย่างรวดเร็ว เชื่อว่าการที่โรงพยาบาลสามารถบูรณาการข้อมูลผู้ป่วยได้ จะเป็นการยกระดับบริการ เช่น อยู่ใกล้ รพ.สต.ก็เหมือนอยู่ใกล้หมอ จากเดิมไปเจอพยาบาล แต่การมีเทเลเมดิซีนก็สามารถพูดคุยกับแพทย์ได้ เหมือนไป รพ.สต.แล้วเจอแพทย์ ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาลถ้ามั่นใจว่าระบบไปแบบนี้
“ เชื่อว่าระยะยาวหรือระยะใกล้ ช่วยให้ประชาชนมั่นใจขึ้นว่าไม่ต้องวิ่งไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่
เพราะการเดินทางเป็นอุปสรรคสำคัญของประชาชนในการเข้ารับบริการ ยิ่งผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงจะเดินทางไปโรงพยาบาลแต่ละครั้งต้องเสียค่าเดินทางมาก เป็นต้น” นพ.จเด็จ กล่าว
จุดสำคัญต้องบูรณาการข้อมูล
กรณีพื้นที่ ที่มีสถานพยาบาลข้ามสังกัดหน่วยงาน นพ.จเด็จ กล่าวว่า จะมีคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพ(National Health Board) เพื่อบูรณาการข้ามสังกัด เช่น โรงพยาบาลรัฐต่างสังกัด แต่เมื่อมีนโยบายชัดเจน เป้าหมายของอนาคตจะไปถึงระดับที่โรงพยาบาลรัฐต่างจังหวัดจะบูรณาการข้อมูลร่วมกัน โดยการนำขึ้นสู่ระบบคลาวด์ ซึ่งอาจจะเริ่มจากกลุ่มโรงพยาบาลก่อน เช่น โรงพยาบาลสังกัด สธ.นำขึ้นสู่คลาวด์ก้อนหนึ่ง โรงพยาบาลแพทย์เป็นคลาวด์อีกก้อน และโรงพยาบาลทหารเป็นอีกคลาวด์ จากนั้นมีหน่วยงานมาช่วยเชื่อมแต่ละก้อนให้เป็นคลาวด์เดียวกัน เป็นการบูรณาการจากก้อนเล็กๆ เข้ามารวมกัน
“บัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกโรคทุกที่ นโยบายสำคัญคือ การบูรณาการข้อมูล ทำให้ประชาชนไม่ต้องวิ่งไปเอาใบส่งตัวจากโรงพยาบาลตามสิทธิ เป็นการให้ความสะดวกประชาชน ยกระดับบริการใกล้บ้าน” นพ.จเด็จ กล่าว
ความแตกต่างเมื่อยกระดับ 30 บาท
ความแตกต่างที่ประชาชนจะเห็นได้จากการยกระดับ 30 บาท อย่างเดิมมีระบบไปรับบริการที่ไหนก็ได้ในระดับปฐมภูมิ ไม่ต้องไปรับใบส่งตัว ถือเป็นความสำเร็จระดับหนึ่ง ซึ่งมีข้อมูลว่าประมาณ 20% ที่เข้ารับบริการข้ามจังหวัด และที่ออกไปนอกเขตสุขภาพมีเพียง 4% แต่การยกระดับในครั้งนี้ หากประชาชนต้องการรับบริการมากกว่านั้น ก็มีความสะดวกเพิ่มขึ้น รวมถึง หากทำให้สถานบริการใกล้บ้านมีความเข้มแข็ง เช่น กทม.มีหน่วยบริการมารองรับในระดับทุติยภูมิมากขึ้น ก็จะไม่ต้องวิ่งสะเปะสะปะไปที่ต่างๆ เป็นต้น
“ประชาชนจะได้รับบริการเพิ่มขึ้นทั้งส่วนของปริมาณ และคุณภาพ เช่น วัคซีนจะมีกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับมากขึ้น มีการตรวจคัดกรองเพิ่มจำนวนขึ้น รวมถึง มีจิตเวชครบวงจร มะเร็งครบวงจร หรือชีวภิบาลซึ่งเป็นการบริบาลชีวิตในช่วงท้ายหรือช่วงที่ต้องดูแลอย่างเข้มข้นจากเดิมที่อาจจะไม่ได้มีการพูดถึงก็จะมีการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น”นพ.จเด็จ กล่าว
กลไกเบิกจ่ายงบฯ
ระบบเบิกจ่ายงบประมาณ นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช.มีความพร้อมจัดระบบรองรับ เพราะเมื่อใช้บัตรประชาชนใบเดียว เมื่อมีการเสียบบัตร ข้อมูลจะวิ่งมาที่ สปสช.แล้วนำข้อมูลนี้มาการันตีว่ามีประชาชนไปรับบริการที่สถานบริการนั้นแล้ว และถ้าสามารถส่งข้อมูลตอนท้ายบริการมาประกบว่าวันนี้มีประชาชนมารับบริการ ก็จะมีการเชื่อมข้อมูลกัน พร้อมจ่ายเงิน ระบบก็จะไปดึงข้อมูลจากคลาวด์ของหน่วยบริการมา ซึ่งตรงนี้จะเป็นแรงจูงใจหนึ่งของโรงพยาบาล ทำแล้วได้เงินเร็ว ดังนั้น จะเป็นการเร่งเงินออกให้เร็วที่สุด
ในแง่ของการจัดสรรงบประมาณ นพ.จเด็จ กล่าวว่า กำลังหารือพิจารณาว่าจะมีการจัดงบประมาณเพิ่มเติมอย่างไร หรือลดทอนส่วนไหนลงหรือไม่ เพราะเมื่อมีนโยบายชัดเจน จะช่วยลดบริการบางส่วนลง แต่จะเพิ่มบริการบางอย่างขึ้น เช่น หากทำเรื่องเทเลเมดิซีน ทำให้คนไข้ในแผนกผู้ป่วยนอกลดลง อาจจะราว 25% และอีกส่วนที่ไม่เคยเข้ารับบริการเลยอีก10% ภาพรวมอาจจะเงินเพิ่มนิดหน่อย แต่ประชาชนจะได้รับบริการ 35%
“ระบบเดิมที่เป็นการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวก็จะยังจัดสรรให้หน่วยบริการเช่นเดิมในส่วนที่จ่ายเงินให้ไปก่อน แต่ส่วนที่ประชาชนไปรับบริการตามที่ต่างๆ ที่นอกสิทธิ สปสช.ก็ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพที่จัดการให้ ไม่อยากให้โรงพยาบาลตามสิทธิต้องไปวิ่งตามจ่าย”นพ.จเด็จ กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์