Keypoints:
- สถานการณ์การเข้าบำบัดยาเสพติดในปีงบประมาณ 2566 มีเกือบ 2 แสนราย อาชีพ 5 อันดับแรกมีนักเรียน นักศึกษาด้วย
- แก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ มุ่งเน้นเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ให้เข้ารับการบำบัดยาเสพติด ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เร่ง 3 นโยบายQuick Win ขับเคลื่อนรองรับคนเข้ารับการบำบัด
- แนวทางที่ใช้ในการบำบัดยาเสพติด ปัจจัยที่จะทำให้บำบัดสำเร็จ อัตราการกลับเข้ารักษาซ้ำ และช่องทางต่างๆที่จะประสานขอเข้ารับการบำบัดทั้งในกทม.และภูมิภาค
รัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติด ประกาศเป็นวาระแห่งชาติภายใต้ความร่วมมือของทุกหน่วยงาน โดยยึดหลักเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วยสนับสนุนให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง โดยมีกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติ ดยาเสพติด ภายใต้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564
ตัวเลขการบำบัดยาเสพติด
จากข้อมูลการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติดทั่วประเทศ ในปีงบประมาณ 2566 ของ ระบบข้อมูลการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดของประเทศ (บสต.) และสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)
- ผู้เข้ารับการบำบัด ทั้งหมด 186,104 ราย
- อายุมากกว่า 39 ปี จำนวนมากที่สุด
- อายุน้อยสุด ต่ำกว่า 7 ปี
- อาชีพ 5 อันดับแรก รับจ้าง 95,043 ราย ว่างงาน 32,732 ราย การเกษตร 30,518 ราย การค้าขาย 7,438 ราย นักเรียน นักศึกษา 4,805 ราย
- ยาเสพติดที่ใช้ 3 อันดับแรก ยาบ้า 84.54 % เฮโรอีน 4.05 % กัญชา 3.46 %
- จำแนกผู้ป่วย ผู้ใช้ 11.95% ผู้เสพ 62.91%ผู้ติด 25.09 % ไม่ระบุ 0.06%
ข้อมูลผู้ป่วยกลับเข้ารักษาซ้ำที่สบยช.
ปี 2562 จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 5,638 ราย ,กลับเข้ารักษาซ้ำ 39.41 %
ปี 2563 จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 5,188 ราย ,กลับเข้ารักษาซ้ำ 34.95 %
ปี 2564 จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 4,140 ราย ,กลับเข้ารักษาซ้ำ 35.17 %
ปี 2565 จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 6,106 ราย ,กลับเข้ารักษาซ้ำ 36.49 %
ปี 2566 จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด 7,139 ราย ,กลับเข้ารักษาซ้ำ 37.09 %
ยาบ้า มีต่ำกว่า 5 เม็ดครอบครองเพื่อเสพ
เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2566 ในการประชุมหารือร่างกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ.....ที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าร่วม อาทิ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) กฤษฎีกา กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และศาลยุติธรรม เป็นต้น
มีมติร่วมกันเห็นชอบให้กำหนดปริมาณเมทแอมเฟตามีน หรือ ยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ดว่าสันนิษฐานว่ามีไว้ใช้คอบครองเพื่อเสพ ให้เข้ารับการบำบัดรักษาโดยจากนี้จะมีการรับฟังความคิดเห็นและประชาพิจารณ์ เสนอต่อนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณาของครม. เพื่อออกเป็นกฎกระทรวงสาธารณสุข ตามที่ประมวลกฎหมายยาเสพติดฯกำหนดให้รมว.สาธารณสุขลงนามในกฎกระทรวง
ครอบครองต่ำกว่ากำหนดก็ผิด
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การกำหนดจำนวนเม็ดยาที่ให้สันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพนั้น หมายความว่าต้องไปดูพฤติกรรมด้วย แม้ถือครอง 1 เม็ดหากมีพฤติกรรมค้าก็เป็นผู้ค้า ไม่ได้สิทธิเป็นผู้เสพ แต่ในการรักษาก็ต้องให้บริการผู้ป่วยทุกคน ไม่ว่าจะถือครอง 5 เม็ด 10 เม็ด 100 เม็ด โดยหากจะเข้ากระบวนการรักษา ต้องไปดำเนินการตามกฎหมายเรื่องการค้า นำเข้า ส่งออกก่อน
" ตอนนี้วิธีการป้องกัน ปราบปราม บำบัดฟื้นฟู เป็นช่องทางคืนคนสู่สังคม เชื่อว่าบำบัดรักษาฟื้นฟูคืนคนดีสู่สังคมได้ เป็นหลักการกฎหมายฉบับนี้ คือ ผู้เสพเป็นผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่การบำบัดรักษาฟื้นฟู และสมัครใจ ไม่บังคับบำบัด เพราะต้องการให้โอกาสเป็นคนดี”นพ.ชลน่านกล่าว
3 นโยบาย Quick win
นโยบายหลักของสธ.ที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการให้เห็นผลภายใน 100 วัน(Quick win) โดยมีเป้าหมายการดำเนินการ 3 เรื่อง คือ
1.จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ ดูแลผู้ป่วยยาเสพติดระยะยาวให้ครอบคลุม 76 จังหวัดทั่วประเทศ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลชุมชนที่ประสงค์จัดตั้งมินิธัญญารักษ์ 146 แห่ง รองรับผู้ป่วยยาเสพติดได้ทั้งสิ้น 1,957 เตียง แบ่งเป็น รูปแบบ Intermediate Care 692 เตียง และ Long Term Care1,265 เตียง โดยจะเปิดบริการผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดในรูปแบบมินิธัญญารักษ์ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2566
2.มีหอผู้ป่วยจิตเวชทุกจังหวัด โดยปัจจุบันมีเตียงจิตเวช 7,796 เตียง หอผู้ป่วยจิตเวช (Ward) 69 แห่งใน 58 จังหวัด คิดเป็น 76.32 % ของจังหวัดทั่วประเทศ
และ3.มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดทุกอำเภอปัจจุบันโรงพยาบาลชุมชน ทั้งหมด 776 แห่ง มีกลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติดแล้ว 626 แห่ง คิดเป็น 80.67% ที่เหลืออีก150 แห่ง อยู่ระหว่างการดำเนินการ
กระบวนการบำบัดยาเสพติด บริการฟรี
กระบวนการบำบัดยาเสพติด รักษา รูปแบบที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ มี 2 รูปแบบหลัก คือ แบบผู้ป่วยนอก รักษาในรูปแบบกาย จิต สังคมบำบัดแบบไป-กลับ และแบบผู้ป่วยใน เน้นกระบวนการบำบัดให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจให้เข้มแข็ง มีครอบครัวเป็นหลักสำคัญ นอกจากนี้ ปัจจุบันเพิ่มการรักษาแบบHospital care @ Home เข้ามาโดยใช้บ้านเป็นเสมือนหอผู้ป่วย ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ ติดต่อสื่อสารผ่านทาง DMS Telemed และ Application ห่วงใย
ทั้งนี้ การรักษาแบบ Hospital care @ Home ผู้ป่วยต้องไม่มีอาการทางยาเสพติดและไม่มีโรคแทรกซ้อนทางกายและจิตเวชที่รุนแรง ทางครอบครัวหรือญาติมีความพร้อมในการดูแล สามารถใช้ Smart phone, Computer หรือ Tablet ได้ ซึ่ง 3 รูปแบบจะได้รับการดูแลจากแพทย์และทีมสหวิชาชีพ ให้การบำบัดรักษาอาการขาดยารวมถึงภาวะแทรกซ้อนทางกาย ทางจิต โดยการให้ยาจนอาการดีขึ้นและให้การฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย จิตใจ
นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผอ.สบยช. กล่าวว่า ปัจจุบันการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดในภาครัฐไม่ว่าจะเป็น สบยช. หรือโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาค หรือ “มินิธัญญญารักษ์” จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เพราะมีงบประมาณที่จัดสรรสำหรับผู้ป่วยยาเสพติด และงบประมาณจากสิทธิ์บัตรทอง นอกจากนี้ ยังมีการสนับสนุนในส่วนของวิชาการ มีการพัฒนาศักยภาพ รวมถึงร่วมปฏิบัติและร่วมฝึกทักษะการทำงานในพื้นที่ อีกทั้งยังมีหน้าที่ในการกำหนดมาตรฐาน กำกับติดตาม เพื่อให้ผู้เข้ารับบริการได้รับการบริการอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน
ปัจจัยบำบัดสำเร็จ
นพ.บุรินทร์ สุรอรุณสัมฤทธิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวว่า การบำบัดจะสำเร็จหรือไม่ หรืออัตรากลับมาเสพซ้ำ ขึ้นกับหลายปัจจัย คือ
1.การเข้าถึงบริการบำบัดยาเสพติดที่รวดเร็วหรือไม่
2.เสพหนัก เสพนาน มีอาการทางจิตหรือไม่ โดยผู้เสพราว 30 %หรือมากกว่านี้จะมีอาการทางจิต ซึ่งหากไม่มีปัจจัยเหล่านี้โอกาสหายเร็วมากขึ้น
3.แรงสนับสนุนของเพื่อน คือ ชุมชน คนรอบตัว คนใกล้ตัว ใกล้ใจ มีการสื่อสารหรือมีรูปแบบการดูแลอย่างไรให้รู้สึกปลอภัย
4.มาตรการทางกฎหมายและสังคม ทำอย่างไรให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่กระตุ้นให้กลับมาเสพซ้ำ
และ 5.การติดตามต่อเนื่องโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งสาธารณสุขและชุมชนช่วยดูแล
สถานที่รองรับการบำบัดยาเสพติด
หากประสบปัญหาเกี่ยวกับยาและสารเสพติดสามารถ ขอรับคำปรึกษาเรื่องยาและสารเสพติดได้ที่
- สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165
- สายด่วนเลิกยาเสพติด ผ่านศูนย์ดำรงธรรม 1567ตลอด 24 ชั่วโมง
- ผ่านช่องทางLine Official ‘ห่วงใย’เพื่อประเมินตัวเองเกี่ยวกับการติดสารเสพติดและการให้คำปรึกษา
และสามารถเข้าบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่
- สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.)
- โรงพยาบาลธัญารักษ์ส่วนภูมิภาค 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี
- โรงพยาบาลใกล้บ้าน
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th