7จุดแข็ง แรงส่งไทยบรรลุเป้า "เมดิคัล ฮับ"

7จุดแข็ง แรงส่งไทยบรรลุเป้า "เมดิคัล ฮับ"

ไทยอันดับ 5 ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ  ปี 64  สร้างรายได้จากผู้ป่วยต่างชาติกว่า 1 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 47% “หมอชลน่าน”ย้ำไทยมีศักยภาพเป็นเมดิคัล ฮับ ชูจุดแข็ง 7 เรื่องแรงส่งไทยบรรลุเป้า  สธ.ลุยเศรษฐกิจสุขภาพ ขับเคลื่อน 6 นโยบายสำคัญ 

    เครือเนชั่นได้จัดงานมหกรรมมหกรรมการแสดงสินค้า และความรู้เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมั่งคั่ง ‘Health & Wealth Expo 2023’ ภายใต้แนวคิด The Journey of life  ณ Hall 5 – 6 ชั้น LG ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์  ได้รับเกียรติจาก นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข  เปิดงานและปาฐกถาพิเศษ Road Map to Thailand Medical Hub โดยมีผู้บริหารเครือเนชั่นและพันธะมิตรให้การต้อนรับ  

     นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยตั้งเป้าเป็นเมดิคัล ฮับ( Medical Hub) ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพและมีข้อเท็จจริงที่สนับสนุน โดยได้รับการจัดอันดับจาก Medical  Tourism Association ในปี 2020-2021 เป็นอันดับ 17  มีจุดเด่นที่ Medical Tourism Industry อยู่ในอันดับ 5 นอกจากนี้ กรุงเทพฯยังเป็นอันดับ 1 เมืองที่นักท่องเที่ยวเดินทางมามากที่สุดในโลก ส่วนจ.ภูเก็ต อันดับ 14 พัทยา จ.ชลบุรี อันดับ 15 
7จุดแข็ง แรงส่งไทยบรรลุเป้า \"เมดิคัล ฮับ\"

7 จุดแข็งสู่เมดิคัล ฮับ

         นพ.ชลน่าน กล่าวด้วยว่า สิ่งที่มั่นใจว่าประเทศไทยมีศักยภาพเป็น เมดิคัล ฮับ เนื่องจากมี จุดแข็ง 7 ข้อ ได้แก่ 1.แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่ชาวโลกรู้จัก 2. มีความพร้อมของสถานพยาบาลที่มีชื่อเสียง ได้มาตรฐานในระดับโลก 3. มีแพทย์และบุคลากรที่มีความรู้และเชี่ยวชาญ 4. อัตราค่าบริการในการรักษาพยาบาลมีความเหมาะสม 5.ผู้ให้บริการมีจิตใจในการบริการและการต้อนรับในเกณฑ์ที่สูง 6.มีการให้บริการด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบถ้วน และ 7.ประเทศไทยมีความโดดเด่นด้านการแพทย์ทางเลือกอย่างการแพทย์แผนไทย  

       สำหรับยุทธศาสตร์การแพทย์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Medical Hub พ.ศ. 2560-2569 มุ่งเน้นใน 4 เรื่อง ประกอบด้วย  ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub ) ศูนย์กลางบริการรักษาพยาบาล( Medical Service Hub)ศูนย์กลางยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ( Product Hub)และศูนย์กลางบริการวิชาการ  ( Academic Hub) อย่างไรก็ตาม เมื่อขับเคลื่อนทั้ง4 เรื่องนี้แล้ว ประชาชนคนไทยต้องไม่ถูกรบกวนในสิทธิที่ดี 

รายได้กว่า 1 หมื่นล้านบาท

       ปัจจุบันประเทศไทยมีสถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน 421 แห่ง สถานพยาบาลที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน  34,711 แห่ง สถานประกอบการเพื่อสุขภาพในประเทศไทย รวม 20,168 แห่ง แยกเป็น กิจการสปา 942 แห่ง  กิจการนวดเพื่อสุขภาพ 10,885 แห่ง  กิจการนวดเพื่อเสริมความงาม 7,640 แห่ง  และกิจการดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้มีภาวะพึ่งพิง  695 แห่ง  

      รายได้ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยต่างชาติ ในปี 2564 อยู่ที่ 11,903 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2563 เพิ่มขึ้น 47 % โดยสัญชาติที่เข้ามารับการรักษามากที่สุด 5 อันดับแรก คือ คูเวต กัมพูชา เมียนมาร์ ญี่่ปุ่น และจีน  จำนวนผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการเป็นการ 5 อันดับแรก เป็นการตรวจสุขภาพ โรคกระดูกและข้อ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางแมตาบอลิค และทันตกรรม 

สธ.ลุยเศรษฐกิจสุขภาพ

      นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า นโยบายกระทรวงสาธารณสุขในปี 2567 สิ่งที่มุ่งเน้นให้เห็นผลใน 4 ปี มี 13 นโยบาย ภายใต้นโนบายหลัก ยกระดับ 30 บาทพลัส มีเป้าหมาย 3 เรื่อง ได้แก่  1.แก้ไข ปัญหา เช่น รพ.กทม. 50 เขต 50 รพ. ปริมณฑลและเชียงใหม่ มะเร็งครบวงจร สุขภาพจิต/ยาเสพติด 2,วางรากฐาน การแพทย์ปฐมภูมิ สถานชีวาภิบาล สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ  และ3.สร้างเศรษฐกิจ  ดิจิตอลสุขภาพ ส่งเสริมการมีบุตร เศรษฐกิจสุขภาพ และนักท่องเที่ยวปลอดภัย  

      ในส่วนของมิติเศรษฐกิจสุขภาพและนักท่องเที่ยวปลอดภัย นอกจากส่งเสริมเรื่อง เมดิคัล ฮับ ใน 4 เรื่องแล้ว จะมีการขับเคลื่อนเรื่องของ Wellness Cityเขตสุขภาพละ 1 แห่ง,รับรอง Wellness Center 500 แห่ง ,อนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพชุมชน 100 รายการ ,สร้างงานสร้างอาชีพ นวดไทย Caregiver รวมถึง การทำให้แต่ละเขตสุขภาพมี Safety tourist 1 พื้นที่ และการมี 1 เขตสุขภาพ 1 Sky Doctor เพื่อส่งต่อผู้ป่วยในกรณีที่ต้องเข้ารับการรักษาในรพ.ที่มีศักยภาพสูงขึ้น  

        ตนได้ให้นโยบายกรมต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) และกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก อย่าให้มีคอขวด ให้ทะลุทะลวงออกในมิติส่งเสริมสุขภาพ เพื่อเอื้ออำนวยผู้ประกอบการ มีโอกาสสร้างรายได้มากขึ้น

    "ไทยมีความพร้อม มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการแพทย์นานาชาติ มีความพร้อมที่เอามิติสุขภาพสร้างความมั่งคั่ง เพียงแต่ทุกคนต้องเห็นคุณค่าและความสำคัญ ซึ่งสธ.พร้อมเต็มที่ที่จะรองรับและโอบอุ้ม”นพ.ชลน่านกล่าว  

      ด้านนายสมชาย มีเสน รองประธานกรรมการบริหาร เนชั่น กรุ๊ป กล่าวว่า วัตถุประสงค์ของการจัดงานต้องการแสดงสินค้า นวัตกรรม บริการ เนื่องจากเทรนด์โลกมีการเปลี่ยนแปลง ทุกคนคำนึงถึงสุขภาพกาย สุขภาพใจและสุขภาพกระเป๋า  โดยสุขภาพกาย สุขภาพใจมีเรื่องของโรงพยาบาลและรื่องสุขภาพต่าง ที่อยู่อาศัยเป็นส่วนของภาคอสังหาริมทรัพย์ การเงินที่ดีเป็นภาคธนาคาร และการเปลี่นรถยนต์เป็นรถอีวีที่จะมีส่วนสำคัญของการแก้ปัญหา PM2.5 ทั้งหมดเพื่อให้มีชีวิตที่ยืนยาว ลดภาระค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลภาครัฐในอนาคต และการมีสุขภาพที่ดีของประชาชนจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่ดีให้ครอบครัวและงานที่ดี 

7จุดแข็ง แรงส่งไทยบรรลุเป้า \"เมดิคัล ฮับ\"

            ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ปี 2560 - 2569) มี 7 ยุทธศาสตร์การพัฒนา ประกอบด้วย 1.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการจัดบริการสุขภาพ 2.พัฒนาบริการรักษาพยาบาล 3.พัฒนาบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ 4.พัฒนาบริการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 5.พัฒนาบริการวิชาการและงานวิจัยทางการแพทย์ (Academic Hub) 6.พัฒนายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ และ7.ส่งเสริมการตลาดและประชาสัมพันธ์

      ทั้งนี้ภายในงานมหกรรมการแสดงสินค้า และความรู้เพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขและมั่งคั่ง Health & Wealth Expo 2023 : The Journey of Life จัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-12 พ.ย. 66  ภายงานในงานมีเสวนา ‘เทรนด์สุขภาพ 2024’ ซึ่งตอนนี้เทรนด์ของสุขภาพ เน้นที่การป้องกันมากกว่าการรักษา โดยใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมทางการแพทย์ ตรวจร่างกายคัดกรองก่อนป่วย  และเทคโนโลยีป้องกันโรคจับสัญญาณโรค สามารถป้องกันโรคได้ โดยการตรวจ Genetic Testing Laboratory (ตรวจยีนผ่านพันธุกรรม)หรือการดูแลรักษาโรคแบบองค์รวม นวัตกรรมรักษาอาการปัสสาวะเล็ด ในผู้ชายและผู้หญิง

          นอกจากเสวนาสุขภาพ อาหารเสริมและความงามแล้วภายในงานยังมี โซนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ การลงทุนในกองทุน การออมในรูปแบบเงินฝากหรือประกันชีวิต และโซน EV for Green Life เมื่อรถ EV เทรนด์การใช้รถไฟฟ้า พร้อมทั้งอุปกรณ์ EV Charger เพื่อชีวิตแบบ green และเวทีกิจกรรมให้ความรู้ ทั้งการเงิน สุขภาพ ตลอดงานวันที่ 9-12 พ.ย. 66 เวลา 11.00-20.00 น.  ณ  Hall 5-6 ชั้น LG ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์