ไขคำตอบ 'น้ำตาลเทียม'กับผู้ป่วยเบาหวาน พร้อมเครื่องวัดน้ำตาลจากลมหายใจ

ไขคำตอบ 'น้ำตาลเทียม'กับผู้ป่วยเบาหวาน พร้อมเครื่องวัดน้ำตาลจากลมหายใจ

14 พฤศจิกายน วันเบาหวานโลก อีก 7 ปี ผู้ป่วยเบาหวานจะเพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านคน ส่วนไทยมีผู้ป่วยสะสมกว่า 3.3 ล้านคน  1 ปีเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคน  ไขคำตอบน้ำตาลเทียม ผู้ป่วยควรใช้หรือไม่  พร้อมนวัตกรรมเครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดจากลมหายใจ ผู้ป่วยไม่เจ็บตัว 

Keypoints:

  •       จำนวนผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกกว่า 500 ล้านคน คาดว่าในอีก 7 ปีจะเพิ่มขึ้นอีก 100 ล้านคน  ขณะที่ประเทศไทยมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 3 แสนคนต่อปี 
  •       ปัจจัยเสี่ยง การป้องกันเบาหวาน และภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ป่วยด้วยโรคเบาหวาน และน้ำตาลเทียม ผู้ป่วยควรทานหรือไม่ 
  •       นวัตกรรมตรวจวัดระดับน้ำตาลจากลมหายใจ ช่วยผู้ป่วยเบาหวานไม่ต้องเจ็บตัวจากการที่ต้องเจาะปลายนิ้ว อยู่ระหว่างขอขึ้นทะเบียนกับอย.

         สมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation: IDF) ได้กำหนดให้วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี เป็นวันเบาหวานโลก ในปี พ.ศ. 2566  ได้กำหนดประเด็นสารคือ Diabetes :  Know your risk, Know your response เบาหวาน รู้ว่าเสี่ยง รู้แล้วต้องเปลี่ยน มุ่งเน้นการรู้ถึงความเสี่ยงของโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อน ให้ความสำคัญของการเข้าถึงข้อมูล ความรู้ และการดูแลที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยง
อีก 7 ปีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่ม 100 ล้านคน

       นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า ข้อมูลจาก IDF Diabetes Atlas ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากถึง 537 ล้านคน มากกว่า 90% เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกือบครึ่งหนึ่งยังไม่ได้รับการวินิจฉัย

     คาดว่าภายในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็น 643 ล้านคน และภายในปี 2588 จะเพิ่มมากถึง 783 ล้านคน

     สถานการณ์โรคเบาหวานในประเทศไทย ข้อมูลจากรายงานสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข  พบอุบัติการณ์โรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 มีผู้ป่วยรายใหม่ เพิ่มขึ้น 3 แสนคนต่อปี ในปี พ.ศ. 2565 มีผู้ป่วยโรคเบาหวานสะสมจำนวน 3.3 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2564 มากถึง 1.5 แสนคน

          การคัดกรองผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่ในปี 2566 พบว่า การคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานในประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป ยังไม่ได้รับการคัดกรองโรคเบาหวานมากถึง 5 ล้านคนจากเป้าหมายทั่วประเทศ 22 ล้านคน

          ดังนั้น ประชาชนที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองโรคเบาหวานปีละ 1 ครั้ง ค่าระดับน้ำตาลในเลือดควรน้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ซึ่งหากตรวจพบตั้งแต่เริ่มแรกและรักษาได้เร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงและอาจถึงแก่ชีวิตได้
ปัจจัยเสี่ยงและการป้องกันเบาหวาน

         ปัจจัยเสี่ยงโรคเบาหวานเกิดจากการมีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน มีภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน รอบเอวเกิน เป็นโรคความดันโลหิตสูง ชอบรับประทานอาหารรสหวาน มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ สูบบุหรี่ และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 

 การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรคเบาหวาน

  • เลือกรับประทานอาหารให้หลากหลาย  เน้นผัก ผลไม้ และธัญพืชต่างๆ
  • ลดอาหารประเภทหวาน มัน เค็ม
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง
  • ทำจิตใจให้แจ่มใส นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน
  • ไม่สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  •  หากมีอาการปัสสาวะบ่อยและมาก กระหายน้ำ หิวน้ำบ่อย กินจุหิวบ่อย น้ำหนักลด เป็นแผลง่ายและหายยาก คันตามผิวหนัง ตามัว และชาตามปลายมือปลายเท้า ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนจากเบาหวาน

     ทั้งนี้ โรคเบาหวานเกิดจากการทํางานของฮอร์โมนผิดปกติส่งผลให้เกิดภาวะนํ้าตาลในเลือดสูง หากน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้อวัยวะเสื่อมสภาพเป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตา ไต หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง

       โรคเบาหวานที่พบได้บ่อยที่สุด คือ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน ในระยะแรกอาจไม่มีอาการ  มักตรวจพบเมื่อเช็คสุขภาพโดยบังเอิญในผู้ที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนร่วมด้วย
        การดูแลป้องกันผู้ป่วยโรคเบาหวานไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทำได้โดยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดี ควบคุมอาหารลดอาหารหวาน มัน เค็ม พบแพทย์สม่ำเสมอ ใช้ยาตามแพทย์สั่ง หากมีอาการผิดปกติให้แจ้งแพทย์ที่รักษาห้ามปรับยาเอง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หมั่นตรวจเท้าด้วยตัวเอง หากเป็นแผลควรรีบไปพบแพทย์ ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ไขคำตอบ \'น้ำตาลเทียม\'กับผู้ป่วยเบาหวาน พร้อมเครื่องวัดน้ำตาลจากลมหายใจ
น้ำตาลเทียมกับผู้ป่วยเบาหวาน  

     พ.อ.หญิง พญ.สิรกานต์ เดชะวณิช อายุรแพทย์ หัวหน้าแผนกโภชนาศาสตร์คลินิก รพ.พระมงกุฎเกล้า  กล่าวในรายการเบหวานสัญจร ของสมาคมโรคเบาหวารแห่งประเทศไทยฯว่า  สารให้ความหวาน  แบ่งเป็น
1.สารให้ความหวานที่ให้พลังงาน  คือ น้ำตาลทั่วไป หรือน้ำตาลแท้  เช่น น้ำตาลทราย น้ำเชื่อม น้ำผึ้ง และกลุ่มน้ำตาลแอลกอออล์ ชื่อมักจะลงท้ายด้วย อัล เช่น ในหมากฝรั่งไซลิทัล ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก เป็นต้น
2.สารให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงาน ที่มาจากธรรมชาติ เช่น สารสกัดจากหญ้าหวาน สารสกัดจากผลหล่อฮังก๊วย และจากการสังเคราะห์ คือ น้ำตาลเทียม
     สารให้ความหวานที่ให้พลังงงาน ไม่ควรบริโภคเกิน 6 ช้อนชาต่อวัน ส่วนกลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์จะมีความปลอดภัย แต่จะมีผลข้างเคียงเล็กน้อย มักจะไม่ดูดซึมที่กระเพาะอาหาร พอถึงลำไส้เล้กอาจจะดุดซึมเล้กน้อย พอถึงลำไส้ใหญ่ แบคทีเรียจะเปลี่ยนรูปให้อยู่ในลักษณะแก๊ส เพราะฉะนั้นถ้ารับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลกลุ่มนี้มากเกินไป จะทำให้ไม่สบายท้อง หรือท้องเสียได้

        และกลุ่มที่ไม่ให้พลังงาน  มีการเตือนมากมาย แต่โดยรวมปัจจุบันมีการใช้สารที่หวานกว่าน้ำตาลทรายหลายเท่ามากๆ  ตั้งแต่ 50 -20,000 เท่า จึงใช้ปริมาณน้อยมากในอาหาร วันนึงใช้ปริมาณน้อยมาก จึงค่อนข้างปลอดภัยในการใช้ชีวิตประจำวัน” พ.อ.หญิง พญ.สิรกานต์กล่าว

       เมื่อมีการทบทววนอย่างเป็นระบบแล้ว มีการกำหนดค่าสูงสุดที่รับประทานได้อย่างปลอดภัยต่อวัน กรณี แอสปาแตม ไม่ควรเกิน 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน ถ้าเทียบเป็นซอง หากน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม ประมาณ 75 ซอง ซึ่งรับประทานไม่ถึง เป็นต้น

       หญ้าหวานที่นำมาเป็นสารให้ความหวาน สามารถใช้ได้เพราะเป็นกลุ่มสารให้ความหวานไม่ให้พลังงานที่มาจากธรรมชาติ  ความหวานที่ได้ประมาณ 50-300 เท่าที่มากกว่าน้ำตาลทราย หากมีอย.ก็สามารถรับประทานได้อย่างปลอดภัย แต่ใช้ในปริมาณน้อย 
        “ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 ถ้าเป็นน้ำตาลแท้ไม่ควรรับประทาน หรือลดเครื่องดื่มที่มีการเติมน้ำตาบเพิ่มเข้าไป เพราะจะเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยน้ำตาลขึ้นสูง ส่วนที่ว่าควรแนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานใช้น้ำตาลเทียมใส่ในอาหารแทนดีหรือไม่ ผู้ป่วยเบาหวานและประชาชนทั่วไปควรพยายามลดพฤติกรรมกินหวาน ไม่ใช่มาหาแนวทางว่าจะกินแหวานแบบไหนดี เพราะไม่อยากให้เป็นคนที่ติดหวาน และลดการทานหวาน ซึ่งทั้งน้ำตาลแท้ควรกินได้อย่างจำกัด เช่นเดียวกับน้ำตาลเทียมก็ควรใช้ทุกอย่างในปริมาณน้อย  และกินหวานน้อยดีกว่า”พ.อ.หญิง พญ.สิรกานต์ กล่าว

ไขคำตอบ \'น้ำตาลเทียม\'กับผู้ป่วยเบาหวาน พร้อมเครื่องวัดน้ำตาลจากลมหายใจ

เครื่องวัดระดับน้ำตาลในเลือดจากลมหายใจ

        ในผู้ป่วยโรคเบาหวานบางราย จำเป็นต้องมีการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกวันตามที่แพทย์แนะนำ เพื่อใช้ประกอบการรับประทานยาหรือฉีดอินซูลิน โดยการวัดใช้เครื่องตรวจที่จะต้องมีการเจาะเลือดที่ปลายนิ้ว ทำให้ผู้ป่วยจะต้องเจ็บตัวเป็นประจำทุกวัน 

          ช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2566 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ บริษัท เฮลท์ อินโนวิชั่น จำกัด ได้มีการลงนามความร่วมมือด้านการวิจัยโครงการพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดลมหายใจเพื่อบอกสภาวะสุขภาพ

      กรมการแพทย์ ได้มีส่วนร่วมกับภาคเอกชน ในการวิจัย พัฒนา นวัตกรรมชิ้นสำคัญ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีชั้นสูง ที่สามารถตรวจวัดสภาวะทางสุขภาพด้วยลมหายใจ โดยเริ่มจากการตรวจหาปริมาณน้ำตาลของผู้ป่วยเบาหวาน  ซึ่งมีการศึกษาวิจัยที่รพ.ราชวิถี และรพ.สงฆ์ ผลความแม่นยำอยู่ที่มากกว่า 90 % ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการขั้นตอนการยื่นขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)

          รนนท์ พงศาจารุ ประธานบริษัท บริษัท เฮลท์ อินโนวิชั่น จำกัด กล่าวว่า หลังจากวิจัยและพัฒนาอย่างเข้มข้นตลอดระยะเวลา 14 ปีบริษัทฯ ได้ค้นพบนวัตกรรมสำหรับใช้ประเมินระดับน้ำตาลจากลมหายใจ อุปกรณ์ดังกล่าวสามารถวิเคราะห์ตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่เกี่ยวข้องกับระดับน้ำตาลจากลมหายใจและให้ผลลัพธ์แบบเรียลไทม์ โดยไม่ต้องมีการใช้เข็มเจาะ ซึ่ง ได้จดสิทธิบัตรไปแล้ว 13 ประเทศ กับ 1 ทวีป