สปสช. เตรียมเชื่อมโยงข้อมูล 'บัตรทอง' รองรับ บัตร ปชช. รักษาทุกที่

สปสช. เตรียมเชื่อมโยงข้อมูล 'บัตรทอง' รองรับ บัตร ปชช. รักษาทุกที่

สปสช. เตรียมปรับใช้การเชื่อมโยงข้อมูล 'ยืนยันหลังการรับบริการจริง' กับผู้ป่วย 'บัตรทอง' ลดขั้นตอนการรับบริการ-ลดความแออัดระหว่างยืนยันตัวตน-พิสูจน์การรับบริการได้ รับนโยบาย 'บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่' 4 จังหวัดนำร่อง

เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.สุรทิน มาลีหวล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 6 ระยอง ลงพื้นที่เยี่ยมชมและรับฟังความคิดเห็น เพื่อพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลการยืนยันตัวตนหลังเข้ารับบริการของสิทธิข้าราชการเพื่อนำมาปรับใช้กับผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทอง 30 บาท) รองรับ 'บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่' ณ โรงพยาบาลสมุทรปราการ ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ โดยมี นพ.เกรียงศักดิ์ คำอิ่ม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการ และเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับ 

 

นพ.เกรียงศักดิ์ คำอิ่ม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมุทรปราการ เปิดเผยว่า สำหรับการเข้ามารับบริการของสิทธิข้าราชการในโรงพยาบาลที่ผ่านมาต่อปี มีอยู่ประมาณ 7.3% ของผู้เข้ามารับบริการแบบผู้ป่วยนอก (OPD) ทั้งหมด ซึ่งจะมีวิธีการยืนยันตัวตนว่าได้เข้ารับบริการแล้วหรือที่เรียกกันว่าการปิดสิทธิอยู่ 2 แบบ 3 วิธี ได้แก่ วิธีแรกจะเป็นการปิดสิทธิผ่านเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลด้วยเครื่อง EDC หรือเครื่องรูดบัตร ส่วนวิธีที่ 2 แบบแรกจะเป็นการปิดสิทธิผ่านตู้อัตโนมัติ KIOSK และแบบที่สองจะเป็นการปิดสิทธิผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง

 

สปสช. เตรียมเชื่อมโยงข้อมูล \'บัตรทอง\' รองรับ บัตร ปชช. รักษาทุกที่

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

 

อย่างไรก็ดี การปิดสิทธิผ่านตู้อัตโนมัตินั้นจะคล้ายกับการยืนยันตัวตนก่อนเข้ารับบริการ ซึ่งจะสามารถปิดสิทธิหลังจากเข้ารับบริการได้โดยไม่จำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตนก่อน ส่งผลให้ประชาชนสามารถรับบริการได้อย่างรวดเร็วขึ้น รวมถึงยังช่วยลดความแออัดของโรงพยาบาลได้ เพราะประชาชนไม่ต้องยืนรอตามจุดยืนยันตัวตนต่างๆ ของโรงพยาบาล 

 

“การใช้วิธีปิดสิทธิหรือยืนยันว่าได้เข้ารับบริการแล้วผ่านตู้อัตโนมัติก็จะคล้ายกับการยืนยันตัวตน ซึ่งประชาชนสิทธิบัตรทองก็อาจจะสามารถใช้ระบบเดียวกันได้” นพ.เกรียงศักดิ์ กล่าว 

 

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า การลงมาเยี่ยมชมระบบการเชื่อมต่อข้อมูลการยืนยันตัวตนหลังเข้ารับบริการของสิทธิข้าราชการในครั้งนี้ คาดว่าจะนำไปปรับใช้กับผู้ป่วยระบบสิทธิบัตรทองรองรับ 'บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่' ตามนโยบายยกระดับ 30 บาท ใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดแพร่ จังหวัดเพชรบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดนราธิวาสที่ประชาชนสามารถเข้ารับบริการในหน่วยบริการได้ทุกเครือข่าย 

 

ขณะเดียวกันก็ยังสอดคล้องกับที่ สปสช. เคยแจ้งไว้เมื่อคราวประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2566 ว่า จะปรับระบบการจ่ายเงินให้หน่วยบริการเร็วขึ้นไม่เกิน 72 ชั่วโมง หลังจากโรงพยาบาลส่งข้อมูลเพื่อเบิกจ่าย ซึ่งวิธีการที่ทำให้เห็นชัดว่ารวดเร็วที่สุดคือการใช้ตู้อัตโนมัติที่ใช้เพียงบัตรประชาชาชน หรือ QR Code สแกนก่อนรับยา

 

สปสช. เตรียมเชื่อมโยงข้อมูล \'บัตรทอง\' รองรับ บัตร ปชช. รักษาทุกที่

 

“ในการยกระดับบัตรทอง ถ้าใช้กลไกนี้จะทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรอ มาถึงใช้ตู้รับยาเสร็จแล้วจบเลย ฉะนั้นเชื่อว่า 3 วิธีในการปิดสิทธิหรือยืนยันตัวตนหลังเข้ารับบริการจะช่วยทำให้รู้ว่ามีผู้ป่วยเข้ามารับบริการจริง ซึ่งถ้า สปสช. รู้ว่าเกิดบริการก็จะสามารถจ่ายเงินให้เร็วขึ้น และอาจจะขยายไปทั่วประเทศได้” นพ.จเด็จ ระบุ  

 

นพ.จเด็จ ระบุว่า สปสช. มีความพร้อมในเรื่องของการจ่ายเงินอย่างรวดเร็ว แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการส่งข้อมูลของแต่ละโรงพยาบาล เชื่อว่าจะสามารถจ่ายเงินได้ต่ำกว่า 3 วัน หากระบบสามารถเชื่อมต่อกันได้แบบไร้รอยต่อ อย่างไรก็ดี ต้องดูว่าภายใน 4 จังหวัดนำร่องจำเป็นต้องต้องมีตู้อัตโนมัติ 150 ตู้หรือไม่สำหรับจำนวนโรงพยาบาลประมาณ 50 แห่ง รวมถึงจะต้องพูดคุยกับธนาคาร และหน่วยงานพัฒนาระบบ ซึ่งก็จะต้องไปดู และสื่อสารกันอีกครั้งในภาพใหญ่ของประเทศว่าจะขับเคลื่อนอย่างไรให้เกิดเป็นระบบที่มีความสะดวก เพราะส่วนนี้ถือเป็นองค์ประกอบที่จะทำให้ สปสช. สามารถจ่ายเงินให้หน่วยบริการได้อย่างรวดเร็วขึ้น

 

ทั้งนี้ จากการที่ได้ลงมาเห็นการทำงานของโรงพยาบาลสมุทรปราการทำให้เห็นว่าที่ผ่านมาการยืนยันตัวตนสำหรับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่ยังมีปัญหา เช่น ประชาชนยังต้องยืนรอหน้าห้องบัตร ฯลฯ ซึ่งใช้บัตรประชาชนเสียบเข้าตู้ หรือใช้ QR Code หลังเข้ารับบริการก่อนรับยาก็จะสามารถพิสูจน์ได้เช่นเดียวกันว่ามีการมารับบริการจริง

 

“เราสามารถยกเลิกการยืนยันตัวตนก่อนเข้ารับบริการได้เลย สปสช. ขอรู้อย่างเดียวว่ามีคนรับบริการแล้วเพื่อที่จะจ่ายเงิน ซึ่งเราก็จะดูระบบธนาคารด้วยว่าจะโอนเงินอย่างไรให้เร็วขึ้น จะลดขั้นตอนสำคัญไปอีกขึ้นตอนคือการเปิดสิทธิ สำหรับ สปสช. เอาแค่ปิดสิทธิหรือยืนยันตัวตนหลังเข้ารับบริการแล้วจบเลย” นพ.จเด็จ กล่าว