13 เขต 'Sky Doctor' ยกระดับการแพทย์ฉุกเฉิน ส่งผู้ป่วยทางอากาศ

13 เขต 'Sky Doctor' ยกระดับการแพทย์ฉุกเฉิน ส่งผู้ป่วยทางอากาศ

ยกระดับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จัดระบบลำเลียงนำส่งทางอากาศ Sky Doctor จัดตั้ง ครบทั้ง 13 เขตสุขภาพ จำนวน 20 หน่วยทั่วประเทศ เพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วย ช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที หนุนนโยบายนักท่องเที่ยวปลอดภัย บรรลุเป้าหมาย Quick Win 100 วัน

       การขับเคลื่อนตามแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉิน ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2566-2570 มีเป้าหมายให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ ปลอดภัย นำไปสู่การลดการสูญเสียชีวิต และความพิการจากการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ภายใต้แนวทาง 3 ด้าน และการจัดระบบ  One Region One Sky Doctor (OROS)

         เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 ที่ศูนย์การประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทารา ถนนแจ้งวัฒนะ ในการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติ ครั้งที่ ประจำปี 2566 ภายใต้หัวข้อ “การวิจัยและนวัตกรรมการแพทย์ฉุกเฉิน” National EMS Forum 2023: Research and Innovation on Emergency Medicine ซึ่งจัดโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมเป็นเครือข่ายผู้ปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินจากทั่วประเทศกว่า 3,000 คน

         นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานว่า  ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นระบบบริหารจัดการเพื่อการดูแลผู้ป่วย ฉุกเฉิน ก่อนนำส่งดูแลรักษาที่สถานพยาบาล โดยต้องบริหารจัดการ ให้เกิดระบบนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่มีมาตรฐาน ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ หัวใจสำคัญของการช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน คือ การเข้าถึง การรักษาเฉพาะทางได้อย่างรวดเร็ว และทันท่วงที มุ่งให้เกิดความครอบคลุม ทั่วถึง และเท่าเทียม 

Sky Doctor เพิ่มการเข้าถึง

        ในหลายพื้นที่ของประเทศ ที่มีปัญหาด้านการเข้าถึงตัวผู้ป่วยฉุกเฉิน  จากการที่เป็นพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร บนเกาะ พื้นที่ในทะเล หรือในเมืองที่การจราจรติดขัด ดังนั้น ระบบบริการนำส่งหรือลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ จึงมีความสำคัญยิ่ง ที่จะต่อยอดการบริการการแพทย์ฉุกเฉินของไทยให้ยกระดับสู่มาตรฐานสากล

           อีกทั้ง ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ  เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ที่ต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือของ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อยกระดับระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ ให้ได้มาตรฐาน ทันเวลา ทันต่อสถานการณ์ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยมีมาตรการยกระดับระบบการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ One Region One Sky Doctor (OROS) ที่ใช้เฮลิคอปเตอร์นำทีมแพทย์ไปรับตัวผู้ป่วย ถือเป็นของขวัญปีใหม่อย่างหนึ่งให้ประชาชน

          ทว่าแม้จะมีการพัฒนางานด้านการแพทย์ฉุกเฉินมาอย่างต่อเนื่อง แต่ในปัจจุบันยังพบปัญหาการเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล เพิ่มมากขึ้น การเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่ลดลง รวมถึงผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉิน ณ จุดเกิดเหตุ ภายใน 8 นาทีน้อยลง รวมถึงยังพบปัญหาแนวโน้มการเสียชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น

 3ด้านยกระดับการแพทย์ฉุกเฉิน
         ในการแก้ไขปัญหา นายสันติ กล่าวว่า  ได้กำหนดทิศทางและแนวนโยบายการยกระดับระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย 3 ด้าน ดังนี้

1.ด้านประชาชน ได้แก่ การสร้างความรอบรู้และวัฒนธรรม ความปลอดภัยให้กับประชาชน การอบรมความรู้และทักษะ CPR (ซีพีอาร์) และการใช้ AED (เออีดี) กำหนดให้ อสม. มีความรู้ทางการแพทย์ฉุกเฉิน และมีอาสาสมัครฉุกเฉินชุมชนทุกครัวเรือน ทำให้ประเทศไทย มีศูนย์เรียนรู้ชุมชนด้านการแพทย์ฉุกเฉินครบทุกตำบล รวมทั้งจัดหา ชุดปฐมพยาบาลเครื่อง AED ประจำหมู่บ้าน/ชุมชน

       2.ด้านระบบการปฏิบัติการ ประกอบด้วย การเพิ่มความครอบคลุม ของหน่วยปฏิบัติการแพทย์ เพิ่มและพัฒนาบุคลากรการแพทย์ฉุกเฉิน ให้ได้มาตรฐานและมีจำนวนเพียงพอ พัฒนาคุณภาพ มาตรฐานระบบบริการ รวมทั้งส่งเสริมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดำเนินงาน และบริหารจัดการการแพทย์ฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล

และ3.ด้นการอภิบาลระบบ ได้แก่ แก้ไข/ปรับปรุงกฎหมายที่เอื้อต่อ ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน พัฒนาระบบดิจิทัลการแพทย์ฉุกเฉินให้มี ประสิทธิภาพ รวมทั้งการบูรณาการงบประมาณและการทำงานสนับสนุน ระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ
13 เขต \'Sky Doctor\' ยกระดับการแพทย์ฉุกเฉิน ส่งผู้ป่วยทางอากาศ
ตั้งทีม Sky Doctor ครบ 13 เขต

        ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าว่า ตามนโยบาย ในการ ยกระดับ 30 บาท Quick Win 100วัน ในเรื่องนักท่องเที่ยวปลอดภัย โดยการจัดตั้งทีมการแพทย์ฉุกเฉินทางอากาศ หรือ Sky Doctor นั้น  สพฉ. ร่วมกับกระทรวง สาธารณสุข และภาคีเครือข่าย ได้เร่งดำเนินการฝึกอบรมหลักสูตร Basic HEMS ให้กับทีม แพทย์ทั่วประเทศ เพื่อให้มีการจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการแพทย์ระดับเฉพาะทาง สาขาฉุกเฉิน การแพทย์ทางอากาศ ในทุกเขตสุขภาพ รวมถึงประสานความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อเพิ่มทรัพยากร และซักซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติการการลำเลียงทางอากาศ

            ปัจจุบันมีหน่วยปฏิบัติการแพทย์ระดับเฉพาะทาง สาขาฉุกเฉิน การแพทย์ทางอากาศ หรือ Sky Doctor ครบทั้ง 13 เขตสุขภาพ จำนวน 20 หน่วยทั่วประเทศ บรรลุเป้าหมาย Quick Win 100 วัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วย สามารถรองรับเทศกาลปีใหม่ที่กำลังจะมาถึง ที่จะมีนักท่องเที่ยวเดินทาง ไปเที่ยวยังที่ต่าง ๆ ของประเทศ หากมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน ก็สามารถที่จะช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที