ฝุ่น PM 2.5 ส่องร่าง ‘กฎหมายอากาศสะอาด’ โทษปรับเป็นพินัย 50 ล้านบาท

ฝุ่น PM 2.5 ส่องร่าง ‘กฎหมายอากาศสะอาด’ โทษปรับเป็นพินัย 50 ล้านบาท

จัดการฝุ่น PM 2.5 ร่าง 'กฎหมายอากาศสะอาด' กำหนดมาตรการลด ควบคุมแหล่งกำเนิด  ผู้กระทำผิดโทษปรับสูงสุด 50 ล้านบาท กรณีลอยข้ามแดน  คนแพร่ข่าวเท็จเจอโทษด้วย   

Keypoints:       

  •  ‘กฎหมายอากาศสะอาด’ ที่ผ่าน  ครม. คุมแหล่งกำเนิด 9 ประเภท เผาในที่โล่งต้องขอผู้ว่าฯ สั่งห้ามใช้ยานพาหนะปล่อยมลพิษ  เจ้าของแหล่งก่อมลพิษข้ามแดนเข้าไทย ต้องรับผิดชอบชดใช้ ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหาย
  • เครื่องมือ และมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด ที่ระบุไว้ในกฎหมายอากาศสะอาดฉบับ ครม.
  • กำหนดโทษผู้ฝ่าฝืน ต่ำสุดปรับ 5,000 บาท สูงสุด  50 ล้านบาท กำหนดไว้ด้วยคนที่แพร่ข่าวเท็จเจอโทษเช่นกัน         

      นึกแล้วก็ดูจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าพอสมควร เมื่อ ‘อากาศ’ ที่มีอยู่ทั่วไป เป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนเท่าเทียม เพราะต้องหายใจเอาอากาศเข้าไป เพื่อให้มีชีวิตอยู่เหมือนกันทั้งหมดไม่ว่ายากดีมีจน เชื้อชาติ สัญชาติ อายุ เพศใด

      แต่ฝุ่น PM 2.5 วันนี้ และสถานการณ์มลพิษทางอากาศ กลายเป็นเสมือนฤดูกาลหนึ่งของประเทศที่เข้ามาแทนในช่วงหน้าหนาว  ทำให้ ‘คนไทย’ ต้องร้องขอ ‘อากาศสะอาดไว้หายใจ’

       “บุคคลทุกคนมีสิทธิในการได้รับอากาศสะอาด”เป็นสิ่งที่กำหนดไว้ในร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ….. ซึ่ง ครม. มีมติอนุมัติหลักการ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 หรือเรียกว่า ‘กฎหมายอากาศสะอาด’
ฝุ่น PM 2.5 ส่องร่าง ‘กฎหมายอากาศสะอาด’ โทษปรับเป็นพินัย 50 ล้านบาท

ห้ามใช้ยานพาหนะก่อมลพิษ
     หนึ่งในสาระสำคัญที่กำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับนี้คือ มาตรการการลด และควบคุมมลพิษทางอากาศจากแหล่งกำเนิด จำแนกได้ 4 ประเภท แหล่งกำเนิดประเภทสถานที่ถาวร แหล่งกำเนิดประเภทเผาในที่โล่ง แหล่งกำเนิดประเภทยานพาหนะ และแหล่งกำเนิดประเภทมลพิษข้ามแดน

         อย่างน้อยต้องมีแหล่งกำเนิดมลพิษในอากาศในแต่ละจังหวัด ดังนี้

  1. แหล่งกำเนิดมลพิษจากการเผาป่า
  2. แหล่งกำเนิดมลพิษจากพื้นที่เกษตร
  3. แหล่งกำเนิดมลพิษจากการเผาในที่โล่ง
  4.  แหล่งกำเนิดมลพิษจากยานพาหนะ
  5. แหล่งกำเนิดมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม
  6. แหล่งกำเนิดมลพิษจากการก่อสร้าง
  7. แหล่งกำเนิดมลพิษจากสถานที่ประกอบกิจการ
  8. แหล่งกำเนิดมลพิษในอากาศที่อยู่นอกราชอาณาจักรไทย
  9. แหล่งกำเนิดมลพิษในอากาศอื่นๆ

    ยกตัวอย่าง มาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทยานพาหนะ
  • ยานพาหนะที่จะนำมาใช้จะต้องไม่ก่อให้เกิดมลพิษเกินกว่ามาตรฐานควบคุม มลพิษจากแหล่งกำเนิดที่กำหนด
  • กรณีพบว่ามีการใช้ยานพาหนะโดยฝ่าฝืนมาตรฐานควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิด ให้เจ้าพนักงานอากาศสะอาดออกคำสั่งห้ามใช้ยานพาหนะนั้นโดยเด็ดขาด หรือจนกว่าจะได้มี การแก้ไขปรับปรุง

PM 2.5 มลพิษข้ามแดนต้องชดใช้

     ส่วนของมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดประเภทมลพิษข้ามแดน เช่น 

  • เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษในอากาศนอกราชอาณาจักรไทย ที่ก่อให้เกิดหรือมีส่วนก่อให้เกิดภาวะมลพิษในอากาศแพร่กระจายเข้ามาในราชอาณาจักรไทย จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชน ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดในราชอาณาจักร และต้องรับผิดชอบชดใช้ ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าเสียหาย

        ค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้เสียหายรายบุคคล ให้หมายความรวมถึง ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้องซึ่งรัฐต้องจ่ายไปกับการบำบัด ขจัด เยียวยา และความสูญเสียหรือเสียหาย ทางเศรษฐกิจ ทางสิ่งแวดล้อม ทางสุขภาพอนามัยต่อประชาชนและราชอาณาจักรไทย

       ไม่ว่าการแพร่กระจาย ของมลพิษนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจ หรือประมาทเลินเล่อ เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเหตุสุดวิสัยปรากฏการณ์ธรรมชาติหรือภัยสงครามที่ไม่ อาจหลีกเลี่ยงหรือป้องกันได้
 เครื่องมือ-มาตรการทางเศรษฐศาสตร์

เครื่องมือ และมาตรการทางเศรษฐศาสตร์เพื่ออากาศสะอาด ได้แก่ เครื่องมือหรือ มาตรการเพื่อสร้าง และเพิ่มหรือลดแรงจูงใจ หรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ในทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกัน บำบัด ขจัด หรือลดมลพิษในอากาศ หรือส่งเสริมให้มี อากาศสะอาด รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงเครื่องมือหรือมาตรการดังต่อไปนี้

1.ภาษีอากรสำหรับอากาศสะอาด

2.ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษในอากาศ

3.ระบบฝากไว้ได้คืน

4.การกำหนด และโอนสิทธิในการระบายมลพิษในอากาศ

5.การประกันความเสี่ยง
6.มาตรการอุดหนุน สนับสนุน หรือส่งเสริมบุคคลหรือกิจกรรมสำหรับอากาศสะอาด
7.เครื่องมือหรือมาตรการอื่นที่คณะกรรมการนโยบายอากาศสะอาดประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด
ฝุ่น PM 2.5 ส่องร่าง ‘กฎหมายอากาศสะอาด’ โทษปรับเป็นพินัย 50 ล้านบาท

กำหนดโทษของคนก่อมลพิษ - แพร่ข่าวเท็จ
     ในส่วนของการกำหนดโทษผู้กระทำผิด มีทั้งโทษปรับ และจำคุก  โดยปรับเป็นพินัยต่ำสุด 5,000 บาท สูงสุด 50 ล้านบาท โทษจำคุก ต่ำสุด 1 ปี สูงสุด 5 ปี  อาทิ
         เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษใด ฝ่าฝืนมาตรา 55 คือ เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษในอากาศนอกราชอาณาจักรไทย ที่ก่อให้เกิดหรือมีส่วนก่อให้เกิดภาวะมลพิษในอากาศแพร่กระจายเข้ามาในราชอาณาจักรไทยจนก่อให้เกิด ความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมหรือสุขภาพอนามัยของประชาชนในราชอาณาจักรไทย

      มีความผิดทางพินัยต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 2 ล้านบาท และชำระค่าปรับเป็นพินัยอีกไม่เกินวันละ1 ล้านบาท โดยให้โทษปรับเป็นพินัยอย่างสูงรวมกันไม่เกิน 50 ล้านบาท

       นอกจากนี้  ผู้ใดแพร่หรือไขข่าวที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับอันตรายจากแหล่งกำเนิดมลพิษใด โดยมีเจตนาที่จะทำลายชื่อเสียงหรือความไว้วางใจของสาธารณชนต่อการดำเนินกิจการโดยชอบด้วยกฎหมาย ของแหล่งกำเนิดมลพิษนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
        หากการแพร่หรือไขข่าวตามวรรคหนึ่งกระทำโดยการประกาศโฆษณาหรือออกข่าวทาง หนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือสื่อสารมวลชนอย่างอื่น ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
     
      ทั้งนี้  ค่าปรับที่ได้จากการเปรียบเทียบ และค่าปรับเป็นพินัยตามความในหมวดนี้ไม่ต้อง นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน และให้นำส่งเข้ากองทุนสิ่งแวดล้อมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์