กทม.จม 'ฝุ่น PM 2.5' ราว 6 เดือน ย่านบางนาป่วย'มะเร็งปอด'ได้ สูงกว่าย่านอารีย์
กทม.จมฝุ่น PM 2.5 ราว 6 เดือน เปิดผลวิจัยสารก่อมะเร็งใน PM 2.5 กทม. เจอ ‘นิกเกิล-อาร์เซนิก’มากสุด แต่ละเขตเสี่ยงเกิดมะเร็งต่างกัน ย่าน ‘บางนา’ อัตราเกิดได้มากกว่าย่านอารีย์ แถมช่วงมลพิษทางอากาศสูง เพิ่มซึมเศร้า 30% ชี้ปรับเกณฑ์ค่าฝุ่นลง ช่วยคนปลอดภัยจากมะเร็ง ถึง 67%
ภายในการประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 หัวข้อ “อากาศสะอาด:ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชนและประชาสังคม” ระหว่างวันที่ 3-4 ธันวาคม 2566 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ มีเวทีเสวนา "นโยบายและมาตรการจัดการมลพิษทางอาการที่ประเทศต้องการ" หัวข้อ "ระบบสุขภาพไทยพร้อมเผชิญโรค และผลกระทบจากมลพิษทางอากาศ" เหนือตอนบนตายจากมะเร็งปอดมากที่สุด
พญ.ภัทราวลัย สิรินารา ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อัตราตายจากโรคมะเร็งปอดในปี 2560 พบว่าา ภาคเหนือตอนบนมีอัตราสูงสุด คือ 34.08 ต่อแสนประชากร ตามด้วย กทม. 32.88 ต่อแสนประชากร ซึ่งช่วง 20 ปี ตั้งแต่ปี 2540 - 2560 พบว่า แนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยจังหวัดที่มีอัตราตายสูงสุด คือ
- ลำพูน 43.11 ต่อแสนประชากร สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภาค 1.5 เท่า
- ลำปาง 40.93 ต่อแสนประชากร
- พะเยา 38.03 ต่อแสนประชากร
- เชียงใหม่ 35.27 ต่อแสนประชากร
กทม.จมPM2.5 ราว 6 เดือน บางนาเสี่ยงมะเร็งกว่าอารีย์
ความสนใจเรื่อง มะเร็งจากฝุ่น PM 2.5 ไม่ได้ดูแค่เฉพาะตัวฝุ่น แต่ยังรวมไปถึงองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่น PM 2.5 ด้วย จึงได้ทำการศึกษาผลกระทบทางสุขภาพจากสารก่อมะเร็งในฝุ่น PM 2.5 ของประชาชนที่อาศัยใน กทม. โดยรวบรวมมาทุกธาตุโลหะหนักที่สามารถก่อมะเร็งได้ใน PM 2.5 ทั้งนี้ เดิมประเทศไทยมีการกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ไว้ที่ 50 มคก./ลบ.ม. แต่ มิ.ย. 2566 ประกาศลดเหลือ 37.5 มคก./ลบ.ม. จากการดูข้อมูลพบว่า กทม. จมฝุ่นประมาณ 6 เดือนต่อปี
“จากการศึกษาของคณะวิจัย พบสัดส่วนธาตุโลหะหนักในฝุ่น PM 2.5 เป็น นิกเกิลและอาร์เซนิกมากที่สุด ส่วนปริมณฑลจะเป็นตะกั่วเป็นหลัก ซึ่งการที่บ่งบอกธาตุโลหะหนัก จะทำให้เชื่อมไปที่แหล่งกำเนิด เพื่อควบคุมแหล่งกำเนิดมลพิษได้ต่อไป" พญ.ภัทราวลัยกล่าว
สำหรับการประเมินความเสี่ยงในการก่อให้เกิดโรคมะเร็งตลอดช่วงชีวิต (Excess Lifetime Cancer Risk : ELCR) จากฝุ่น PM 2.5 ผู้วิจัยพบว่า จังหวัดเดียวกัน ค่าความเสี่ยงการเกิดมะเร็งจากฝุ่น PM 2.5 ในแต่ละเขตไม่เท่ากัน อย่างเขตบางนาที่อุตสาหกรรมมาก ความเสี่ยงเกิดมะเร็งผู้ใหญ่อายุ 18-70 ปี อยู่ที่ 1 ต่อ 43,478 คน ส่วนย่านอารีย์เป็นที่อยู่อาศัย พบ 1 ต่อ 72,992 คน ส่วนกลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-6 ขวบ ในเขตบางนาพบเสี่ยงมะเร็งถึง 1 ต่อ 86,206 คน ย่านอารีย์อยู่ที่ 1 ต่อ 147,058 คน ซึ่งมีโอกาสเกิดมะเร็งมากกว่าอายุ 6-12 ขวบและวัยรุ่น 12-18 ปี
"จากการศึกษาโดยใช้โมเดลจำลองโอกาสลดความเสี่ยงมะเร็งจากฝุ่น หากปรับเกณฑ์ลดลงตามองค์การอนามัยโลกเหลือ 25 มคก./ลบ.ม. จะสามารถลดเสี่ยงการเกิดมะเร็งจากฝุ่นได้ 27.22% และหากเหลือ 15 มคก./ลบ.ม.ตามที่องค์กรอนามัยโลกประกาศปรับเกณฑ์ลงใหม่ จะสามารถเซฟประชากรให้ปลอดภัยจากมะเร็งที่เกิดจากฝุ่น PM 2.5 ถึง 67%" พญ.ภัทราวลัยกล่าว
ช่วงมลพิษทางอากาศสูง ซึมเศร้าเพิ่ม
ด้าน ผศ.พญ.วรวรรณ ศิริชนะ หน่วยโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มลพิษทางอากาศเป็นภัยเงียบ ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ และเสียชีวิต มีความสัมพันธ์กับการสัมผัสรับฝุ่น PM 2.5 เช่น หากสูดเข้าไปก็คือ ปอด หลอดลม เส้นเลือด นำไปสู่หัวใจ สมอง อวัยวะต่างๆ ผลข้างเคียงที่เห็นชัดเวลาพูดถึง คือ ระบบทางเดินหายใจเป็นหลัก โรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และมะเร็ง
ทั้งนี้ จากข้อมูลองค์การอนามัยโลกพบว่า ทุกปีทั่วโลกมีคน 7 ล้านคนตายก่อนวัยอันควร จากมลพิษทางอากาศในบรรยากาศทั่วไปและในครัวเรือน โดยพบว่ามาจากโรคปอดอักเสบ 21% , โรคหลอดเลือดสมอง 20% โรคหัวใจและหลอดเลือด 34% , โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง 19% และโรคมะเร็งปอด 7%
การศึกษาผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 ต่อคนที่อาศัยใน กทม. พบว่าการเพิ่มขึ้นของฝุ่น PM 2.5 ทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม. จะเพิ่มอัตราการเสียชีวิต 0.4% ในวันแรกที่มีการสัมผัส PM 2.5 คือยิ่งสัมผัสไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น , หากได้รับต่อเนื่อง 7 วันในกลุ่มผู้สูงอายุ เพิ่ม 1.57% โรคระบบการหายใจเพิ่มขึ้น 1.2% และโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น 0.5% ขณะที่การเข้ารักษาผู้ป่วยนอก เพิ่มขึ้นในส่วนของโรคระบบการหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคภูมิแพ้ และโรคตา
ผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 ยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายการรักษาที่ไม่เห็นในระบบ ไม่เคยถูกนำมาคิดการประเมินต้นทุนในการรักษาพยาบาล เพราะตามปกติกลุ่มเสี่ยงอาการกำเริบจะมา รพ. แต่กลุ่มที่เป็น Hidden Cost คือกลุ่มคนทำงานที่มีอาการก็รักษาตามอาการ โดยพบว่าช่วงที่มีมลพิษทางอากาศสูง นอกจากเจ็บคอ ไอ เสมหะ คันตาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มอาการเล็กน้อยดูแลตนเอง ยังพบภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้น 30.6% วิตกกังวลเพิ่มขึ้น 28.6% และความเครียดเพิ่มขึ้น 26.5% เพราะคนไม่อยากออกไปข้างนอก หยุดงาน ทำงานได้น้อยลง
"ผลกระทบจากปัญหามลพิษทางอากาศ ในแง่สุขภาพเพิ่มทั้งโรค เพิ่มการนอน รพ. เพิ่มอัตราการตาย ลดคุณภาพชีวิต ทำงานได้น้อยลง และแง่เศรษฐกิจ คือ เพิ่มรายจ่าย ลดรายได้ มองว่า เรื่องสุขภาพเป็นปลายทางที่ต้องเตรียมการป้องกัน แต่การจัดการที่ต้นทางเป็นสิ่งที่ต้องทำด้วย เพื่อคืนอากาศบริสุทธิ์เพื่อทุกคนเพื่ออนาคต" ผศ.พญ.วรวรรณกล่าว