ป่วยพุ่งตายเพิ่ม 'ฝีดาษวานร' ระบาด แพทย์เตือนงดฟรีเซ็กส์
นครราชสีมา สคร.9 ชี้ป่วยพุ่งตายเพิ่ม โรคฝีดาษวานร ระบาด แพทย์เตือนงดฟรีเซ็กส์ กลุ่มเสี่ยงงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า
กรณีโรคฝีดาษวานรระบาด ผงะโคราชป่วยแล้ว 3 ราย ส่อเพิ่มขึ้น งดฟรีเซ็กส์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 นายแพทย์ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เปิดเผยว่า โรคฝีดาษวานร นับเป็นโรคติดต่อที่ยังต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ส่วนใหญ่จะติดจากการสัมผัสใกล้ชิดแบบแนบเนื้อ กับผู้ที่มีผื่น ตุ่ม หรือหนอง รวมถึงการใช้ของส่วนตัวร่วมกันกับผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานร สถานการณ์โรคฝีดาษวานร ในประเทศไทย (ข้อมูล ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2566) พบผู้ติดเชื้อรวม 668 ราย เสียชีวิต 2 ราย เป็นชาวไทย 602 ราย ชาวต่างชาติ 63 ราย ไม่ระบุสัญชาติ 3 ราย
กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ กลุ่มอายุ 30-39 ปี (280 ราย) ตามด้วยอายุ 40-49 ปี (139 ราย) และกลุ่มอายุ 25-29 ปี (132 ราย) จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ
- กรุงเทพฯ
- ชลบุรี
- นนทบุรี
- ภูเก็ต
ในเขตสุขภาพที่ 9 มีผู้ป่วยโรคฝีดาษวานร จำนวน 6 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต แยกเป็นรายจังหวัด ดังนี้ จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ป่วย 3 ราย จังหวัดบุรีรัมย์ มีผู้ป่วย 2 ราย จังหวัดชัยภูมิ มีผู้ป่วย 1 ราย และจังหวัดสุรินทร์ มีผู้ป่วย 1 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ธ.ค. 2566)
แพทย์เตือนงดฟรีเซ็กส์
ขณะนี้ยังพบผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เน้นย้ำ กลุ่มเสี่ยงงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าหรือผู้ที่มีอาการสงสัยฝีดาษวานร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ติดเชื้อเอชไอวี เพราะหากติดเชื้อฝีดาษวานรอาจทำให้อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
อาการโรคฝีดาษวาน
หากมีอาการสงสัยให้รีบไปพบแพทย์ตรวจรักษาทันที สำหรับ อาการของโรคฝีดาษวานรที่พบบ่อยได้แก่ มีผื่น มีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ ต่อมน้ำเหลืองโต และอาการคัน
การรักษาโรคฝีดาษวาน
สำหรับการรักษานั้น หากผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ไม่มีโรคอื่นร่วมด้วย จะรักษาตามอาการ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง มีโรคประจำตัวร่วม เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี จะให้ยาต้านไวรัส Tecovirimat (TPOXX) โดยเร็ว ซึ่งผลการรักษาส่วนใหญ่จะอาการดีขึ้น แต่มีบางรายที่ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรงทำให้เสียชีวิต โดยกระทรวงสาธารณสุขได้กระจายยาต้านไวรัสดังกล่าวไปไว้ที่โรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดที่พบการระบาดแล้ว
ทั้งนี้ โรคฝีดาษวานร สามารถป้องกันได้ โดยหลีกเลี่ยงการมีพฤติกรรมเสี่ยงที่จะทำให้การติดเชื้อโรคฝีดาษวานรและงดมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า เพื่อป้องกันตนเองและลดการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น รวมถึงไม่สัมผัสใกล้ชิดแนบเนื้อกับผู้ที่มีผื่น ตุ่มหรือหนอง แนะนำให้ล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น และขอความร่วมมือหน่วยงานสาธารณสุขทุกจังหวัดเฝ้าระวัง และติดตามกลุ่มเสี่ยงพร้อมทั้งสื่อสารให้ความรู้วิธีการป้องกัน
หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำในการปฏิบัติตัวสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422