3 ชุดตรวจคัดกรองโรคร้าย ด้วยตนเองที่บ้าน

3 ชุดตรวจคัดกรองโรคร้าย ด้วยตนเองที่บ้าน

3 ชุดตรวจคัดกรองโรคร้าย ด้วยตนเองที่บ้าน ลดปัญหาอาย ไม่กล้าไปตรวจ ช่วยประชาชนคัดกรองโรคได้เร็ว เข้ารับการดูแลรักษาได้ทัน 

Keypoints:

  • ด้วยข้อจำกัดของการตรวจบางโรค ผู้ป่วยมีความอายที่จะให้บุคลากรทางการแพทย์ตรวจ หรือเป็นโรคที่ไม่ต้องการให้ใครรับรู้ ไม่กล้าที่จะไปตรวจที่สถานพยาบาล ทำให้ขาดโอกาสการเข้ารับรักษาได้เร็ว
  • กรุงเทพธุรกิจรวบรวมชุดตรวจที่ประชาชนสามารถตรวจ หรือเก็บส่งตรวจได้เองที่บ้าน  ใน 3 โรคที่มีจำนวนผู้มาก ช่วยเพิ่มการตรวจคัดกรองและการเข้าถึงการรักษาให้กับประชาชน
  • ชุดตรวจเอชไอวี สามารถตรวจได้จากการเจาะปลายนิ้ว และสารน้ำในปาก ชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง ไม่ต้องอายที่จะต้องขึ้นขาหยั่ง 

   ในส่วนของการติดเชื้อเอชไอวีที่เป็นหนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การเข้ารับการตรวจเมื่อมีพฤติกรรมเสี่ยง เป็นสิ่งที่คนไทยยังไม่อยากที่จะให้คนอื่นรับรู้ บ่อยครั้งจึงไม่กล้าที่จะเข้าไปรับการตรวจที่สถานพยาบาล แม้จะเป็นคลินิกนิรนามก็ตาม  ทำให้ขาดโอกาสในการที่จะได้รับการรักษาได้ทันท่วงที
เจาะปลายนิ้ว-น้ำในปากหาเอชไอวี
        จากการคาดประมาณสถานการณ์เอชไอวีในประเทศไทย พบว่า ปี 2565 มีผู้ติดเชื้อเอชไอวี จำนวน 520,345 คน และมีผู้ติดเชื้อที่รู้สถานะ จำนวน 491,017 คน สอดคล้องกับผลการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มนักเรียน กองระบาด พ.ศ. 2562 พบว่า มีอัตราการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งในนักเรียน ยังคงต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

       รวมถึงยังมีบางส่วนที่ไม่ทราบสถานะการติดเชื้อของตนเอง เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีในระยะแรก ไม่แสดงอาการ จะทราบได้ก็ต่อเมื่อได้ตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวีเท่านั้น
3 ชุดตรวจคัดกรองโรคร้าย ด้วยตนเองที่บ้าน

  ข้อมูลในปี พ.ศ. 2565 ที่พบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ถูกวินิจฉัยรายใหม่ จำนวน 17,809 คน มีถึง 52% ที่รู้สถานะการติดเชื้อช้า โดยถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวีเมื่อมีระดับภูมิคุ้มกันที่ต่ำมาก (จำนวนเม็ดเลือดขาวซีดี 4 น้อยกว่า 200) หรือมีอาการป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแล้ว

        นับตั้งแต่ปี 2565 คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ เห็นชอบให้ชุดตรวจ HIV Self-Test เป็นเครื่องมือส่งเสริมให้ประชาชนทราบสถานะการติดเชื้อเอชไอวีโดยเร็ว เพื่อเข้าสู่ระบบการป้องกัน เช่น เพร็พ (PrEP) ยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อเอชไอวี และการรักษาด้วยยาต้านไวรัส

         ประชาชนทุกคนเข้าถึงการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง โดยสมัครใจ เป็นความลับ สะดวก รวดเร็ว ไม่มีค่าใช้จ่าย หรือหาซื้อเองได้ ในราคาที่เหมาะสม ขณะนี้ประเทศไทยมีชุดตรวจที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจำนวน 2 แบบ คือ

1.การเจาะเลือดที่ปลายนิ้วมือ ซึ่งรู้ผลภายใน 1 นาที
2.การใช้สารน้ำในช่องปาก อ่านผลได้ใน 20 นาที แต่ยังมีข้อจำกัดในการจำหน่ายที่ร้านขายยาซึ่งยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ 

       เมื่อผู้ติดเชื้อรู้สถานะการติดเชื้อของตนเองเร็ว แล้วเข้าสู่ระบบการรักษาได้เร็ว กินยาอย่างต่อเนื่อง สามารถกดปริมาณเชื้อไวรัสลดลงได้จนตรวจไม่พบเชื้อ ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และอีกทางเลือกหนึ่งในการป้องกันเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ด้วยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์

      อ้างอิง ข้อมูลของคลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย ได้มีบริการจำหน่ายชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองทั้งหมด 3 ยี่ห้อ มีราคา 250-400 บาทต่อชิ้น 

ไม่ต้องขึ้นขาหยั่งคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

          มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับต้นในสตรีไทย สาเหตุสําคัญของมะเร็งปากมดลูกมาจากการติดเชื้อเอชพีวี ซึ่งจากข้อมูลภาพรวมของประเทศสตรีไทยที่จะต้องตรวจคัดกรองภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2564-2568) จำนวน 15,677,638 คน โดยในปีพ.ศ. 2565 มีเป้าหมาย 3,135,528 คน แต่ได้รับการตรวจ คัดกรองเพียง 613,254 คน หรือคิดเป็น 19.6% เท่านั้น
      ยังมีสตรีไทยจำนวนไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน ที่ไม่เคยไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจภายในและการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเลย เพราะมีความเขินอาย การขาดความรู้ความเข้าใจ ความกลัว ไม่ต้องการตรวจภายใน  

         ปัจจุบันมี การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจหา HPV DNA จากการเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง โดยหญิงไทยอายุ 30 - 60 ปีบริบูรณ์ ติดต่อขอรับการตรวจคัดกรองได้ที่หน่วยบริการทุกแห่ง

        ทั้งนี้ บอร์ด สปสช.ได้อนุมัติให้ชุดเก็บสิ่งส่งตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง 'HPV DNA Self Collection' (เอชพีวี ดีเอ็น เซล คอลเลคชัน) เป็นสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม เพื่อเป็นทางเลือกในการเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง

           เมื่อไปรับชุดตรวจฯที่หน่วยบริการแล้ว ให้ทำการเก็บสิ่งส่งตรวจมาคืนที่หน่วยบริการ จากนั้นจะดำเนินการแจ้งผลตรวจให้ผู้รับการคัดกรองรับทราบ กรณีที่ไม่พบความผิดปกติก็จะเก็บข้อมูลสู่ระบบและนัดให้ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 5 ปี แต่ในกรณีพบความผิดปกติ จะมีการติดตามเพื่อนำเข้าสู่ระบบการตรวจและรักษาพยาบาลต่อไป 
3 ชุดตรวจคัดกรองโรคร้าย ด้วยตนเองที่บ้าน

 เตรียมตัว-วิธีเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง

 รพ.เชียงใหม่ราม ได้แนะนำ การเตรียมตัวก่อนการเตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง

- งดการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการตรวจอย่างน้อย 2 วัน

- ไม่ควรสวนล้างหรือสอดยาทางช่องคลอดอย่างน้อย 2 วัน

- ถ้าตั้งครรภ์หรืออยู่ในช่วง 3 เดือนหลังคลอดหรือมีประจำเดือนยังไม่ควรตรวจ  

- ถ้ามีลือดออกผิดปกติ มีหนอง ตกขาวมีกลิ่นหรือคันช่องคลอดหรือมีสารคัดหลั่งผิดปกติออกทางช่องคลอด ปวดท้องน้อย หรือปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ ยังไม่ควรตรวจ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

- แนะนำให้ตรวจในช่วงก่อนหรือหลังมีประจำเดือนอย่างน้อย 7 วัน

 วิธีการเก็บเซลล์ในช่องคลอดด้วยตัวเอง

- ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์

- ไม่ต้องทำความสะอาดปากช่องคลอดหรือใช้น้ำยาล้างจุดซ่อนเร้น

- ยืนหรือนั่งแยกขาในท่าที่รู้สึกผ่อนคลาย

- หมุนหัวแท่งไม้สีแดงออกจาก หลอดพลาสติก  (FLOQSwabs ®)  จับตรงส่วนของขีดสีแดง ระวังอย่าสัมผัสโดนส่วนแปรงที่ปลายไม้

- สอดไม้เก็บเซลล์ตัวอย่างเข้าไปในช่องคลอดจนถึงขีดสีแดง ให้ส่วนแปรงสัมผัสกับผนังช่องคลอด หมุนไม้เก็บเซลล์ไปในทิศทางเดียวกันอย่างน้อย 4 รอบหรือประมาณ 10-30 วินาที ค่อยๆดึงไม้ออก

- ใส่กลับลงไปในหลอดพลาสติกหมุนกดให้แน่นแล้วนำมาส่งให้พยาบาลหรือแพทย์ ถ้ายังไม่ส่งทันทีให้เก็บไว้ในตู้เย็นในช่องธรรมดา ไม่ต้องเก็บในช่องแช่แข็ง 

       ทั้งนี้ สารพันธุกรรมหรือ DNA ของเชื้อ HPV จะสามารถคงเสถียรภาพได้นาน 2 สัปดาห์ที่อุณหภูมิ  -20 ถึง 50 องศาเซลเซียส  แต่ควรนำส่งให้โรงพยาบาลตรวจโดยเร็วที่สุดไม่เกิน 3 วันหลังจากเก็บเซลล์ ถ้าเก็บไว้นานอาจมีเชื้อราขึ้นที่บริเวณแปรงเก็บเซลล์ทำให้การตรวจหาเชื้อ HPV คลาดเคลื่อนได้
3 ชุดตรวจคัดกรองโรคร้าย ด้วยตนเองที่บ้าน

ชุดตรวจคัดกรองไตเสื่อมด้วยตนเอง

          จากรายงานของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ในปี 2564 ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตสะสมมากถึง 1,007,251 ราย และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

         ข้อมูลจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระบุว่า ในระบบบัตรทองปี 2565 มีการใช้งบประมาณถึง 1.3 หมื่นล้านบาท สำหรับผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะที่ 5 จำนวน 82,463 คน

       ทั้งที่ หากผู้ป่วยทราบถึงอาการของตนเองตั้งแต่ระยะแรกๆ หรือในระยะ 1-4 งบประมาณในการดูแลรักษาก็จะน้อยลงมาก เพราะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานและการใช้ชีวิต

          ศ.ดร.นพ.ณัฐชัย ศรีสวัสดิ์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายนักวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส.) และทีม ได้ทำการวิจัย “โครงการพัฒนาระบบการคัดกรองโรคไตเรื้อรังระยะเริ่มต้นในระดับปฐมภูมิด้วยชุดตรวจ albuminuria” เพื่อประเมินประสิทธิภาพของชุดตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังในระยะเริ่มต้น และพัฒนาแนวทางการตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรังในรูปแบบ point of care testing

            ประกอบด้วยชุดตรวจคัดกรองโรคไต ระบบบันทึกข้อมูลที่สามารถระบุตัวตนผู้ป่วย การจัดเก็บ ประมวลและรายงานผลแบบอัตโนมัติ ตลอดจนการพัฒนานวัตกรรมการตรวจค่าการทำงานของไตและการแสดงผลค่าการตรวจ

     ชุดตรวจ albuminuria (ALBII) มีลักษณะคล้ายชุดตรวจคัดกรองโควิด ATK (Antigen-Test Kit) แต่แถบแสดงผลของชุดตรวจ ALBII จะเป็นการเคลือบสารแอนติบอดี้สำหรับดักจับอัลบูมินจากปัสสาวะแทน มีความแม่นยำถึง 94%

         ใช้งานโดยหยดปัสสาวะที่ช่องรองรับสารคัดหลั่งเพียง 3 หยด จากนั้นประมาณ 10 นาทีผลตรวจจะแสดงที่แถบ หากขึ้น 1 ขีด จะหมายถึงผลเป็นบวก (Positive) มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตเรื้อรัง ส่วน 2 ขีดคือผลเป็นลบ (Negative) ยังไม่มีความเสี่ยง

          ชุดตรวจ ALBII ได้มีการจดสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ และผ่านการขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงขณะนี้กำลังจัดเตรียมเอกสารเพื่อขึ้นทะเบียนบัญชีนวัตกรรมไทย ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะนำไปสู่การได้รับการคัดเลือกจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ให้อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ของระบบบัตรทอง