ไม่ดื่มเหล้า แต่เป็น 'มะเร็งตับ' อาหารยอดฮิตอาจมีส่วนเพิ่มความเสี่ยง
‘มะเร็งตับ’ไม่ได้เป็นเฉพาะคนที่ดื่มเหล้าเท่านั้น แต่อาหารยอดฮิตที่รับประทานกัน ก็มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดได้ แม้แต่วัตถุดิบที่เป็นส่วนผสมของส้มตำ หากเลือกไม่ดีก็อันตราย
Keypoints:
- ในประเทศไทย มะเร็งตับและท่อน้ำดี เป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 เพศชายและอันดับ3ในเพศหญิง มีผู้ป่วยใหม่ราวปีละกว่า 20,000 ราย เสียชีวิต 15,600 ราย
- สาเหตุหนึ่งของการเกิดมะเร็งตับที่หลายคนอาจไม่ทราบ คือ จากอาหารที่รับประทาน หากนำวัตถุดิบที่มีสารพิษ หรืออาหารบางชนิดที่ทำให้มีความเสี่ยงไขมันพอกตับ จนนานไปกลายเป็นมะเร็งได้เช่นกัน
- มะเร็งครบวงจร นโยบายกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ลุยคัดกรองผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี/ซี ดูแลรักษาป้องกันมะเร็งตับ และให้สิทธิประโยชน์รักษาผู้ป่วยมะเร็งตับเพิ่มเติม
มะเร็งตับ และ มะเร็งท่อน้ำดี ในประเทศไทย ถือเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในเพศชาย และอันดับ 3 ในเพศหญิงข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทย ปี 2561 พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งตับ รายใหม่ 22,213 คน/ปี ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 15,650 คน/ปี
มะเร็งตับที่พบมากในประเทศไทยมี 2 ชนิด คือ
- มะเร็งของเซลล์ตับ
- มะเร็งท่อน้ำดีตับ
โดยพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ
สาเหตุของมะเร็งตับ ส่วนมากเกิดจากการเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบชนิดบี ส่วนสาเหตุของมะเร็งท่อน้ำดีเกิดจากพยาธิใบไม้ตับร่วมกับการรับประทานอาหารที่มีดินประสิว (ไนเตรท) และไนไตรท์ เช่น ปลาร้า ปลาจ่อม ปลาส้มแหนม เป็นต้น
นอกจากนี้ การดื่มสุราเป็นประจำ การรับสารพิษอะฟลาท็อกซินที่เกิดจากเชื้อราบางชนิดที่พบในอาหารประเภทถั่ว ข้าวโพด พริกแห้ง รวมถึง ไวรัสตับอักเสบชนิดซีก็เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้ และการมีไขมันพอกตับก็เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งตับได้เช่นกัน
วัตถุดิบในส้มตำอาจเสี่ยงมะเร็งตับ
เรื่องของการดื่มสุราทำให้เป็นมะเร็งตับนั้น เป็นที่ทราบอันตรายดีอยู่แล้ว ในที่นี้จึงขอพูดถึงสาเหตุอื่น โดนเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของอาหาร
ดังที่กล่าว สารพิษอะฟลาท็อกซิน เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งตับ และมักจะพบในอาหารแห้ง เช่น ถั่วลิสง กุ้งแห้ง ข้าวโพด กระเทียมที่มีการจัดเก็บอย่างไม่เหมาะสม ก็เกิดสารพิษนี้ ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้ สารอะฟลาท็อกซินเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรงมากชนิดหนึ่ง
ผู้ที่ได้รับอะฟลาท็อกซิน ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการในระยะแรกๆ จะมาแสดงอาการเมื่อเกิดการเรื้อรังแล้ว คือกินอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อราแล้วเชื้อรานั้นสร้างสารอะฟลาท็อกซิน ทำให้เกิดการอักเสบของตับเรื้อรัง เกิดภาวะตับแข็ง ก่อเกิดมะเร็งตับ และอาจมีผลต่อระบบไต หัวใจ
สารอะฟลาท็อกซินมักพบได้ในวัตถุดิบทางการเกษตรที่นำมาแปรรูปและเก็บอย่างไม่เหมาะสม ได้แก่
- ผลิตภัณฑ์ประเภทแป้ง
- ผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง
- เม็ดมะม่วงหิมพานต์
- มันสำปะหลัง
- ผักและผลไม้อบแห้ง
- ปลาแห้ง กุ้งแห้ง กะปิ
- มะพร้าวแห้ง
- หัวหอมแห้ง กระเทียมแห้ง พริกแห้ง พริกไทย งา
ฉะนั้นแล้ว ส้มตำที่มีการใส่ปลาร้าไม่สุกก็มีความเสี่ยง หรือที่มีการใส่ถั่วลิสง กุ้งแห้ง พริกแห้ง หรือกระเทียม ก็ย่อมมีความเสี่ยงที่จะได้รับสารพิษนี้
เช่นเดียวกับ อาหารประเภทอื่นที่ต้องใช้ของเหล่านี้เป็นส่วนผสม หากคนขายหรือคนทำไม่ได้เลือกวัตถุดิบที่มีความปลอดภัย ไม่มีเชื้อรา
การป้องกันสารอะฟลาท็อกซินทำได้ดังนี้
1. เลือกซื้ออาหารหรือวัตถุดิบแห้งที่อยู่ในสภาพใหม่ บรรจุภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ไม่มีเชื้อรา สะอาด
2. ต้องไม่มีกลิ่นอับ ส่งกลิ่นเหม็น หรือชื้น
3. ไม่เก็บอาหารแห้งเหล่านั้นไว้เป็นเวลานาน เพราะจะทำให้เกิดการสะสมของเชื้อราได้
4. นำอาหารแห้งเหล่านั้นไปตากแดดจัดๆ เพราะความร้อนจากแดดจะทำให้ความชื้นลดลง
ชานมไข่มุก-ไขมันพอกตับ-มะเร็งตับ
โรคไขมันพอกตับ คือ ภาวะความผิดปกติของตับเกิดจากการสะสมของไขมันในเซลล์ตับที่มีปริมาณมาก มีความสัมพันธ์กับ ภาวะน้ำหนักเกิน และไขมันในเลือดสูง หรือน้ำตาลในเลือดสูง
ผู้ที่ไขมันพอกตับราว 1 ใน 3 อาจมีการอักเสบของตับได้ หากเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานานจะสะสมของพังผืด เมื่อมีปริมาณมากก็จะนำไปสู่ภาวะตับแข็ง และเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งตับ
ถามว่าเกี่ยวข้องอย่างไรกับ ชานมไข่มุก ซึ่งการดื่มชานมไข่มุกนั้นไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็งตับ แต่เป็นเพียงการยกตัวอย่าง เครื่องดื่มที่กำลังเป็นที่นิยม มาแสดงให้เห็นว่า หากดื่มเครื่องดื่มที่มีความหวานเป็นเวลานานๆ ไม่เพียงแต่ชานมไข่มุก แต่หมายถึงเครื่องดื่มอื่นๆและอาหารอื่นๆที่มีความหวาน มีไขมันในปริมาณมากและสม่ำเสมอ อาจทำให้เกิดไขมันพอกตับขึ้นได้ เป็นความเสี่ยงหนึ่ง
คัดกรองไวรัสตับอักเสบก่อนเป็นมะเร็งตับ
ไวรัสตับอักเสบB และ ไวรัสตับอักเสบC ที่เป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งตับเช่นกันนั้น ในไทยผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีปัจจุบันมี 2.2 ล้านคน ซึ่งยังไม่มียารักษา แต่มียาช่วยไม่ให้ตับถูกทำลาย ซึ่งทางที่ดีที่สุดเราต้องคัดกรองให้เร็ว และหากกลุ่มไหนฉีดวัคซีนได้ต้องรีบฉีดวัคซีนป้องกัน โดยผู้ป่วยเฉลี่ยพบ 4-5% โดย 90% หายขาดได้ แต่มี 10% เป็นเรื้อรัง และในระยะยาว 20-30 ปี พบ 10% อาจลุกลามตับแข็ง หรือมะเร็งตับ
ไวรัสตับตับอักเสบซีมีประมาณ 3 แสน -7 แสนคน มียารักษาหายขาดได้ กิน 12 สัปดาห์ จึงต้องตรวจคัดกรองให้เร็วเช่นกัน โดยไวรัสตับอักเสบซี 90% ไม่หายขาด และ 10% หายได้
นโยบายมะเร็งครบวงจร ของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เดินหน้าคัดกรองไวรัสตับอักเสบบี/ซี กลุ่มเป้าหมาย คือ ประชากรที่เกิดก่อนปี 2535 เนื่องจากผู้ที่เกิดหลังจากนี้จะได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบีแล้ว และกลุ่มเสี่ยง โดยมีเป้าหมายคัดกรองให้ได้ 1 ล้านคน ภายในปี 2567 และผู้ที่มีผลผิดปกติเข้าถึงการรักษาทุกราย
นอกจากนี้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2567 มีมติเพิ่มสิทธิประโยชน์การรักษามะเร็งด้วยการฝังแร่เฉพาะที่เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในตา (Plaque brachytherapy) และการรักษามะเร็งโดยการใช้หุ่นยนต์ในการผ่าตัด (Robotic Surgery) ในโรคมะเร็ง 3 รายการ คือ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง มะเร็งตับ ตับอ่อนและท่อน้ำดี ซึ่งทั้งหมดนี้เดิมไม่สามารถเบิกจ่ายได้จากสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
อาการมะเร็งตับและท่อน้ำดี
นพ.ชัยรัตน์ บุญเฉลียว แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งตับและท่อน้ำดี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า ผู้ป่วยมะเร็งตับและท่อน้ำดีแต่ละรายอาจมีการแสดงอาการแตกต่างกัน ซึ่งโดยทั่วไปมักไม่มีอาการในระยะแรก อาการส่วนใหญ่ที่พบคือ
- แน่นท้องท้องอืดท้องเฟ้อเป็นประจำ
- อ่อนเพลีย
- น้ำหนักลด
- ปวดหรือเสียดชายโครงขวา
- อาจคลำพบก้อนในช่องท้อง
- ตัวเหลืองตาเหลือง
- ท้องโต
- มีอาการบวมบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง เป็นต้น
หากมีอาการเหล่านี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เช่น การตรวจเลือดดูความผิดปกติการทํางานของตับ การตรวจระดับอัลฟาฟีโตโปรตีน การอัลตราซาวด์เพื่อดูก้อนที่ตับ การเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือการตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็ก เป็นต้น
การป้องกันโรคมะเร็งตับทำได้โดย
- วัคซีนไวรัสตับอักเสบชนิดบีในเด็กแรกเกิดทุกคน
- ไม่รับประทานปลาน้ำจืดดิบ
- ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมสุขภาพ
- รับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง เช่น อาหารที่อาจปนเปื้อนสารอะฟลาท็อกซิน อาหารที่มีดินประสิว และอาหารหมักดอง เป็นต้น
หากสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อมะเร็งตับและท่อน้ำดี ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีประวัติเป็นโรคตับอักเสบหรือท่อน้ำดีอักเสบเรื้อรัง ควรรับการตรวจหามะเร็งอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีและลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับหรือมะเร็งท่อน้ำดีได้
อ้างอิง : กระทรวงสาธารณสุข ,กรมการแพทย์,กรมควบคุมโรค ,คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ,รพ.เมดพาร์ค