วัยรุ่นหญิงไทยเหยื่อ 'บุหรี่ไฟฟ้า' เพิ่มเกือบ 8 % โฆษณาเกลื่อนออนไลน์ TikTok

วัยรุ่นหญิงไทยเหยื่อ 'บุหรี่ไฟฟ้า' เพิ่มเกือบ 8 % โฆษณาเกลื่อนออนไลน์ TikTok

บุหรี่ไฟฟ้าคุกคามวัยรุ่นไทยอย่างหนักหน่วง  ดูดเพิ่มกว่า 5 เท่า หญิงเพิ่มเกือบ 8 เท่า  เหตุรับรู้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ทำเข้าใจผิดว่าไม่อันตราย  เผยโฆษณาเกลื่อนออนไลน์ คนใช้ TikTok ช่องทางหลักทำการตลาด พบเป็นจุดเริ่มต้นสู่ยาเสพติดอื่น จี้ยกเป็นวาระแห่งชาติ คงมาตรการห้าม

     เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2567 ที่โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานเสวนา "เจาะลึก เบื้องหลังบุหรี่ไฟฟ้าระบาดหนักในเด็กไทย" จัดโดยศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) ร่วมกับศูนย์ความรู้สำหรับมาตรา 5.3 ของ WHO-FCTC และภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ ว่า กลยุทธ์ของบุหรี่ไฟฟ้ามุ่งเป้าที่เด็กและเยาวชน มีการจัดทำรูปแบบบุหรี่ไฟฟ้าทั้งแบบการ์ตูน กล่องนม เพื่อฝังให้เด็กคิดว่า สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา เด็กจะซึมซับโดยไม่รู้ตัว
นิโคตินทำลายสมองเด็กเยาวชน

     “ การตลาดของบริษัทจะลงไปในเด็กมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งรูปแบบของบุหรี่ไฟฟ้ามีนิโคตินที่เป็นอันตรายมากกว่าบุหรี่มวน เพราะบุหรี่มวนมีการจำกัดปริมาณนิโคตินต่อมวน แต่บุหรี่ไฟฟ้าสามารถเติมนิโคตินได้ตลอดเวลา ซึ่งนิโคตินมีผลกระทบทำลายสมองและพัฒนาการของเด็ก และทำให้เกิดปอดอักเสบเฉียบพลัน นับเป็นภัยคุกคามเยาวชน ปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ามีการแพร่หลายอย่างกว้างขวาง จึงต้องปรับรูปแบบการแก้ปัญหา ทั้งการให้ความรู้และปรับการรณรงค์ให้ตรงเป้าหมายที่เป็นกลุ่มเยาวชน”นพ.ธงชัยกล่าว   

วัยรุ่นหญิงดูดบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มเกือบ 8 เท่า

    นพ.ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผอ.กองงานคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า   จากการสำรวจเยาวชนไทย อายุ 13-15 ปี จำนวน 6,700 คน พื้นที่โรงเรียนทั่วประเทศ พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มขึ้นจาก 3.3 % ในปี  2558 เป็น8.1 % ในปี 2564 และ  17.6 %  ในปี 2565 จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลา 7 ปี เพิ่มขึ้นถึง 5.3 เท่า โดยในเพศชายเพิ่มขึ้น 4.3 เท่า เพศหญิงเพิ่มขึ้น 7.9 เท่า 

     ส่วนการพบเห็นการโฆษณาและการส่งเสริมบนช่องทางอินเทอร์เน็ต ของบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มจาก 27 % ในปี  2558 เป็น 48 % ในปี 2565 

วัยรุ่นหญิงไทยเหยื่อ \'บุหรี่ไฟฟ้า\' เพิ่มเกือบ 8 % โฆษณาเกลื่อนออนไลน์ TikTok

เด็กเข้าใจผิดว่าไม่อันตราย

  •         ความรู้หรือทัศนคติเด็กและเยาวชน เปลี่ยนแปลงไป เดิมเด็กจะเข้าใจพิษภัยบุหรี่ ตอนนี้เด็กมีความรู้หรือคิดเห็นควันบุหรี่มือสองลดลงว่ามีอันตรายลดลงจาก  77.6 % เหลือ 66.9 %
  •      อีกทั้ง ต้องการเลิกใช้ยาสูบก็ลดลงจาก 72.2% เหลือ 59%
  • การรับรู้เกี่ยวกับยาสูบจากสื่อต่างๆ ลดลงทุกช่องทาง โดยเคยเห็นข่าวเพื่อการไม่สูบบุหรี่ จาก 74.9% เหลือ 61.3%  เห็นตามงานอีเวนต์ต่างๆ ที่รณรงค์จาก 72.2% เหลือ 62.4%  เห็นภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ทำให้ไม่รู้สึกอยากเริ่มสูบและอยากเลิก  จาก 38.4% เหลือ 28.6%
  •     ที่น่าตกใจคือในโรงเรียน พิษภัยที่รับความรู้จากการเรียนการสอนลดลง จาก 76.2% เหลือ 65.8%

ลักลอบขายโจ่งแจ้ง เด็กซื้อผ่านออนไลน์ 80%

     นพ.ชยนันท์ กล่าวอีกว่า การขายบุหรี่ไฟฟ้าทั้งออนไซต์ตามร้านค้าต่างๆ และทางสื่อโซเชียลต่างๆ พบเห็นการลักลอบขายอย่างโจ่งแจ้ง ส่วนใหญ่จากการสำรวจพบว่า มีการซื้อทางออนไลน์เกือบ 80% ผู้บังคับใช้กฎหมาย ทั้งตำรวจ เจ้าหน้าที่ศุลกากร หรือสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ก็เร่งดำเนินการ โดยพยายามบูรณาการร่วมกับฝ่ายปกครองปราบปรามเอาจริงเอาจังมากขึ้น เราเห็นความสำคัญของการปกป้องคุ้มครองเยาวชน

       " แม้บางครั้งผู้บังคับใช้กฎหมายพบเห็นไปปิดเว็บไซต์ สักพักก็เปิดใหม่ได้ การปราบปรามก็สำคัญ แต่สำคัญกว่าคือรณรงค์ให้เด็กรับทราบโทษพิษภัยจริงๆ ของบุหรี่ไฟฟ้า อย่างการลงพื้นที่ เราพบเด็ก ป. 3 จ.สกลนคร ซื้อบุหรี่ไฟฟ้าทางออนไลน์ ราคาถูกสุดแบบพอตราคาแค่ 97 บาท มองว่าตรงนี้จะแทรกซึมเข้ามาและแพร่หลายมากขึ้น จะเกิด New Generation Addiction หรือยุคสมัยของการเสพติดบุหรี่เพิ่มขึ้น หลังเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นช่องทางไปสู่สิ่งเสพติดอื่น" นพ.ชยนันท์กล่าว

บุหรี่-บุฟรี่ไฟฟ้าจุดเริ่มก่อนไปยาเสพติดอื่น

           ด้านพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า  จากการสำรวจพฤติกรรมทางสุขภาพของเด็กและเยาวชน เรื่อง พฤติกรรมการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดเกี่ยวกับคดียาเสพติด โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดเกี่ยวกับคดียาเสพติดจำนวน 300 คน เป็นชาย 97.9 % หญิง 2.1 % อายุเฉลี่ย 17 ปี  การศึกษาระดับมัธยมต้น 456 % ประถมศึกษา 36.5 % มัธยมปลาย/ปวช. 15.5 %  x;l 0.7 ๔ และยังไม่ได้เข้ารับการศึกษา 0.7 % 

      พบว่า 95.4 % เคยสูบบุหรี่มวน  โดยสูบเป็นประจำทุกวัน  84.5 %   เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 79.3 % สูบเป็นประจำทุกวัน 30.4 % สูบ5-6วันต่อสัปดาห์ 12.9 % สูบ3-4วันต่อสัปดาห์ 23 % และสูบ1-2 วันต่อสัปดาห์ 33.7 % 

วัยรุ่นหญิงไทยเหยื่อ \'บุหรี่ไฟฟ้า\' เพิ่มเกือบ 8 % โฆษณาเกลื่อนออนไลน์ TikTok

       นอกจากนี้ ยังพบว่า เริ่มใช้บุหรี่มวนเป็นสารเสพติดชนิดแรก 80.7 %   มีการพัฒนาไปสู่การใช้ยาเสพติดในประเภทต่างๆโดยบุหรี่มวนเป็นสารเสพติดชนิดแรก 76 % ในจำนวนนี้ 67.5 % มีประวัติเคยใช้สารเสพติดอื่นๆก่อนที่พัฒนาสู่การใช้ยาเสพติด คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 54.5 % สูบบุหรี่ไฟฟ้า 45.5 %

         เมื่อลำดับการใช้สารเสพติดไปสู่การใช้ยาเสพติด 32.6 % บุหรี่มวนแล้วใช้ยาเสพติด  14.4 % บุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้าแล้วยาเสพติด 23.3 % บุหรี่มวน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วเป็นยาเสพติด 16.2 % บุหรี่มวน บุหรี่ไฟฟ้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วเป็นยาเสพติด และ13.5 % บุหรี่มวน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ไฟฟ้าแล้วเป็นยาเสพติด

     “ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นการใช้บุหรี่มวนเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ยาเสพติดอื่นๆ และการใช้บุหรี่ไฟฟ้าก็มีโอกาสนำไปสู่การใช้ยาเสพติดอื่นเช่นกัน  จึงอยากฝากรัฐว่าจะป้องกัน ปราบปรามยาเสพติดไม่มีทางสำเร็จ  หากไม่ป้องกันเด็กและเยาวชนตั้งแต่ต้นทางที่จะนำไปสู่การใช้ยาเสพติด ก็คือต้องป้องกันจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นสารเสพติดแรกที่เด็กและเยาวชนเข้าถึง”พชรพรรษ์กล่าว

TikTokช่องทางหลักคนใช้โฆษณาบุหรี่ไฟฟ้า

    ขณะที่บังอร ฤทธิภักดี เลขาธิการมูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า  การระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนเป็นปัญหาหนักของทั่วโลกและอาเซียน เพราะการออกแบบรูปลักษณ์ใหม่ๆ ที่สวยงาม ทำให้เข้าถึงง่าย ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มแข็ง สำหรับประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า

วัยรุ่นหญิงไทยเหยื่อ \'บุหรี่ไฟฟ้า\' เพิ่มเกือบ 8 % โฆษณาเกลื่อนออนไลน์ TikTok

   พบโปรโมทบุหรี่ไฟฟ้าใน  TikTok ว่าสูบแล้วเท่ สูบแล้วดีกว่า 97%  มียอดวิวและยอดไลก์ 98% ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่มีผู้คนใช้งานมากที่สุดและฮิตมากในอาเซียน ทั้งบรูไน ไทย ลาว สิงคโปร์ ทำให้การระบาดในเด็กขยายไปเร็วมาก เพราะเด็กคิดว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย และผู้ปกครองไม่รู้ว่าเป็นบุหรี่ไฟฟ้า
ภัยอันตรายนี้ต้องเป็นวาระแห่งชาติ

       บังอร กล่าวด้วยว่า  ภาคธุรกิจรุกหนักมากในการที่จะให้มีการเปิดตลาดบุหรี่ไฟฟ้าให้ได้ อ้างว่ารัฐบาลจะได้เก็บภาษี ข้อเสนอแนะ คือประเทศที่ห้ามขายอยู่แล้วควรยืนยันมาตรการนี้ต่อไป ควรห้ามการปรุงแต่งรสขาติในบุหรี่ทุกรูปแบบ เพิ่มอายุที่สามารถให้ซื้อบุหรี่ได้ เป็นอย่างน้อย 21 ปี และรัฐต้องมีมาตรการและเข้มงวดดูแลไม่ให้มีการโปรโมทการสูบบุหรี่ทุกชนิดทางโซเชียลมีเดีย

      “มองว่าไทยต้องทำให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะให้นักวิชาการเคลื่อนไหวอย่างเดียวไม่เพียงพอ โดยเฉพาะหน้าที่หลักอย่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ต้องสกัดเรื่องการขายออนไลน์ เพราะการโปรโมททางโซเชียลมีเดียเป็นเรื่องสำคัญในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า และไทยถือว่าเป็นแถวหน้าในการมีมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า แต่ควรปรับปรุงเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึง การห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าควรคงไว้ตามกฎหมายปัจจุบัน ไม่ควรยกเลิก”บังอรกล่าว