“ปลาไหลเผือก” สมุนไพรเสี่ยงสูญพันธุ์ และอีก 172 ชนิด
“ปลาไหลเผือก”สมุนไพรเสี่ยงสูญพันธุ์ เล็งประกาศพื้นที่ “บึงกาฬ”เป็นเขตคุ้มครอง และมีอีกราว 172 ชนิด อาจจะสูญพันธุ์ “กำลังช้างสาร โคคลาน ขันทองพยาบาท” เร่งสำรวจทั่วประเทศ พื้นที่ที่มีสมุนไพรหายาก หรือเสี่ยงสูญพันธุ์เพื่ออนุรักษ์ถิ่นกำเนิดสมุนไพร
ตามพ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ตามมาตรา 61 ได้กำหนดให้พื้นที่ที่เป็นถิ่นกำเนิดของสมุนไพรที่มีระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติ หรือมีความหลากหลายทางชีวภาพที่อาจถูกทำลายหรืออาจได้รับผลกระทบ จากการกระทำของมนุษย์ได้โดยง่าย หรือการเข้าไปใช้ประโยชน์จากสมุนไพร ซึ่งอาจเป็นการเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงมีภารกิจในด้านการอนุรักษ์ เฝ้าระวัง คุ้มครอง และส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านไทย สมุนไพรและถิ่นกำเนิดของสมุนไพร ใน ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ปลาไหลเผือก สมุนไพรไทยเสี่ยงสูญพันธุ์
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมดำเนินการค้นหา สำรวจพื้นที่ ที่ตรงตามเกณฑ์จำนวน 10 พื้นที่ ทั่วทุกภาคในประเทศไทย โดยนำร่องพื้นที่ จังหวัดบึงกาฬ พบว่ามีสมุนไพร กว่า 135 ชนิด
และพบสมุนไพรสำคัญของท้องถิ่น คือ ปลาไหลเผือก ที่มีส่วนผสมในตำรับยาแผนไทยหลายตำรับ โดยจะใช้ประโยชน์จากรากเท่านั้น และเป็นสมุนไพรที่โตช้า ทำให้มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หรือมีความเสี่ยงจะถูกทำลาย จึงเร่งรัด อนุรักษ์ และคุ้มครอง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม ในการออกประกาศกำหนดพื้นที่คุ้มครองสมุนไพร
ปลาไหลเผือก สรรพคุณทางยา
ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลสมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทยฯ ระบุส่วนที่ใช้ทำยาของปลาไหลเผือก คือรากแห้ง โดยตำราสรรพคุณยาไทย รากปลาไหลเผือกมีรสขม เมาเล็กน้อย สรรพคุณถ่ายพิษต่าง ๆ ถ่ายฝีในท้อง ถ่ายพิษไข้ พิษเสมหะ และโลหิต แก้ไข้ ตัดไข้ทุกชนิด เป็นต้น
รายงานการวิจัยปัจจุบัน ข้อมูลการศึกษาทางพรีคลินิกพบว่า รากปลาไหลเผือกแสดงฤทธิ์ต้านเชื้อไข้จับสั่นชนิด Plasmodium falciparum สายพันธุ์ที่ดื้อยาคลอโรควิน (chloroquine-resistant) สารที่แสดงฤทธิ์เป็นสารกลุ่มควอสซินอยด์ 3 ชนิด คือ ยไรโคมานอล (eurycomanol) ยาไรโคมานอล -3-โอ-บีตา-ดี -กลูโคไพราโนไซด์ และ 13บีตา18-ไดไฮโดรยูไรโคมานอล)
สมุนไพร 172 ชนิด ที่อาจจะสูญพันธุ์
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมา ปี พ.ศ.2560-2564 สำรวจชนิดพันธุ์สมุนไพรในพื้นที่ เขตอนุรักษ์กว่า 30 พื้นที่ จำแนกจัดกลุ่มสมุนไพร เป็น 3 กลุ่ม ตามมาตรา 44 แห่ง ดังนี้
1. สมุนไพรที่อาจจะสูญพันธุ์ มีความยากในการขยายพันธุ์ มีความต้องการใช้ประโยชน์สูง สำรวจพบ 172 ชนิด เช่น กำลังช้างสาร โคคลาน ขันทองพยาบาท
2.สมุนไพรที่มีค่าต่อการศึกษาวิจัย สามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์การสาธารณสุข เศรษฐกิจและการดำรงชีพ จำนวน 1,029 ชนิด เช่น พะยอม ประคำไก่ รกฟ้า
3.สมุนไพรที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เป็นที่ต้องการของตลาด สำรวจพบ จำนวน 316 ชนิด เช่น ฟ้าทะลายโจร กวาวเครือขาว สมอไทย
ทั้งนี้ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย หมอพื้นบ้าน ผู้นำชุมชน ประชาชน ในการคุ้มครอง อนุรักษ์สมุนไพร และถิ่นกำเนิดของสมุนไพรที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หรือมีความเสี่ยงจะถูกทำลาย จึงเชิญชวนประชาชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมเสนอพื้นที่ที่เข้าเกณฑ์ เพื่อร่วมพิจารณากำหนดให้เป็นพื้นที่คุ้มครองสมุนไพร ต่อ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข หรือ ประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในเขตพื้นที่ที่ท่านอาศัยอยู่
ด้าน ดร.นันทศักดิ์ โชติชนะเดชาวงศ์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและแพทย์พื้นบ้านไทย ได้กล่าวเพิ่มเติม เกณฑ์ตามลักษณะพื้นที่อนุรักษ์ถิ่นกำเนิดสมุนไพร ต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
1.มีระบบนิเวศน์ตามธรรมชาติหรือมีความหลากหลายทางชีวภาพที่อาจมีโอกาสการสูญพันธุ์
2. มีการเข้าไปใช้ประโยชน์จากสมุนไพร โดยมีลักษณะเป็นการเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์หรือการลดลงของพันธุกรรม
3.หน่วยงานราชการ มีวัตถุประสงค์จะส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการบริหาร พัฒนา 4.ยังไม่ถูกประกาศเป็นพื้นที่เขตอนุรักษ์ 5.) ไม่เป็นที่ดินในกรรมสิทธิ์ของบุคคลหรือเอกชน