จี้แก้ปัญหาเงิน "บัตรทอง" 5 องค์กรสถานพยาบาลบุกสธ.พบ “หมอชลน่าน”

จี้แก้ปัญหาเงิน "บัตรทอง"  5 องค์กรสถานพยาบาลบุกสธ.พบ “หมอชลน่าน”

5 องค์กรสถานพยาบาลบุกสธ.พบ “หมอชลน่าน”ปธ.บอร์ดสปสช. จี้แก้ปัญหาเงินบัตรทอง สปสช.ออกแบบบริการบิดเบี้ยว ทำสถานพยาบาลหนีจากระบบ-ได้รับค่าบริการอัตราไม่เป็นธรรม หวั่นระบบสุขภาพทรุด ชงตั้ง Provider Board ภายใน 1 เดือน 

       เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 13  ก.พ.2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข  ผู้แทน 5 เครือข่ายองค์กรสถานพยาบาล ประกอบด้วย เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) สมาคมรพ.เอกชน ชมรมโรงพยาบาลสถาบันกรมการแพทย์ ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป  สมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น  ประมาณ 100 คน เดินทางมายื่นหนังสือถึงนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) เพื่อสะท้อนปัญหาการบริหารงบประมาณให้กับสถานพยาบาลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)และเสนอแนวทางแก้ไข
          จากนั้นมีการหารือร่วมกันระหว่าง นพ.ชลน่าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดสธ. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช.และผู้แทน 5 เครือข่ายองค์กร  

สปสช.ออกแบบบิดเบี้ยว

         รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) กล่าวว่า ระบบสุขภาพของประเทศเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ และประชาชน ซึ่งจะอยู่ยั่งยืนจะต้องมีคนที่เกี่ยวข้องมามองระบบให้ประเทศชาติหรือประชาชนได้รับบริการตามที่ควรเป็น แต่ที่ผานมา มีการทักท้วงเป็นการภายในเป็นระยะ ช่วงหลังระบบสปสช.ค่อนข้างจะบิดเบี้ยว ไม่ได้คำนึงถึงผู้มีส่วนร่วมโดยเฉพาะสถานพยาบาลทั้งในกทม.และต่างจังหวัด
จี้แก้ปัญหาเงิน \"บัตรทอง\"  5 องค์กรสถานพยาบาลบุกสธ.พบ “หมอชลน่าน”

     ผลกระทบการออกแบบบริการ บิดเบี้ยวไปจากที่ควรจะเป็น ยกตัวอย่าง ช่วงโควิด-19 รพ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันออกแบบระบบ แล้วผู้ที่มีหน้าที่จ่ายเงินตามหลังก็จ่ายตามนั้น ก็ผ่านวิกฤติมาได้  แต่ระบบปกติมีไม่ครบถ้วน ทำให้สถานพยาบาลหนีหายไป ภาครัฐหนีไม่ได้ ภาคเอกชนหนีไปมาก เช่น รพ.เอกชนในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ  20-30 แห่งและเป็นรพ.ขนาดเล็ก

ส่วนหน่วยบริการที่อยู่ในระบบ อัตราค่าบริการต่างๆไม่เป็นธรรม ต้องการความเป็นธรรม ความยุติธรรม เป็นที่มา 5 เครือข่าย รวมพลังขอให้รมว.นำเรื่องนี้ไปพิจารณา และยืนยันว่าระบบบริหารจัดการของสปสช.ต้องแก้ไขโดยด่วน ส่วนรูปแบบใดนั้น รมว.สธ.ในฐานประธานบอร์ดสปสช.มองภาพกว้างของระบบ จะเป็นผู้ที่เป็นหัวโต๊ะในการที่จะทำให้ดีขึ้นกว่าปัจจุบัน 

“ในส่วนของโรงเรียนแพทย์ ปีงบประมาณ 2566 ขาดทุนผู้ป่วยในจำนวนมากแต่ก็ทน ส่วนระบบผู้ป่วยนอกมูลค่ารวม 1,000 กว่าล้านบาท แต่ยังรวบรวมไม่ครบทุกโรงเรียนแพทย์  ส่วนปีงบประมาณ 2567 ก็คงไม่แคล้วกัน”รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าว 

จี้แก้ปัญหาเงิน \"บัตรทอง\"  5 องค์กรสถานพยาบาลบุกสธ.พบ “หมอชลน่าน”
รพ.สธ.ได้รับค่าบริการต่ำกว่าทุน

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์  ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า  ส่วนของรพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ใน 12 เขตสุขภาพ ได้รับการจัดสรรค่าบริการจากสปสช.อัตราต่ำกว่าต้นทุนรพ.ค่อนข้างมาก โดยผู้ป่วยใน มีนักวิจัยได้ทำการศึกษาต้นทุนของรพ.สธ.อยู่ที่ประมาณ 13,000 บาทต่อหน่วยบริการ  สปสช.กำหนดให้จ่ายราว 8,350 บาทต่อหน่วยบริการ 

ผู้สื่อข่าวถามถึงการให้เหตุผลของสปสช.ในการจัดสรรต่ำกว่าทุน นพ.อนุกูล กล่าวว่า  สปสช.มีข้อจำกัดด้านงบประมาณที่มี ทำให้จ่ายได้ต่ำกว่าทุนของรพ. นอกจากนี้ กรณีที่มีการแบ่งเป็นกองทุนย่อยๆ มีผลด้วย เพราะเป็นลักษณะของการเงินนำบริการ แต่หลักขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยึดถือคือ บริการที่จำเป็นต่อประชาชนนำก่อน แล้วการเงินมาสนับสนุน ไม่ใช่เอาการเงินนำ

ปี 66 ได้เงินครึ่งเดียว  

 สำหรับคลินิกชุมชนอบอุ่น พญ.นันทวัน ชอุ่มทอง นายกสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น กล่าวว่า สปสช.ช่วยจ่ายเงินให้แก่คลินิกชุมชนอบอุ่นที่ทำงานไปแล้วในปีงบประมาณ 2566 แต่จ่ายมาครึ่งเดียว ส่วนปีงบประมาณ 2567 งบประมาณไม่เพียงพอ เพียงไตรมาสแรก 3 เดือน งบประมาณถูกใช้เกินครึ่งแล้ว คาดว่าไม่ถึง 6 เดือนงบประมาณของปี 2567 ก็จะหมดลง

ทั้งนี้ หัวใจของปัญหา เงินในระบบไม่เพียงพอจริงๆ กับภาระที่ดูแลประชาชนอยุ่ รวมถึง สปสช.มีการบริหารงานที่ทำให้เกิดความเสี่ยง ให้ผู้อยู่ในระบบเกิดความเดือดร้อน เราต้องแก้ที่รากเหง้าปัญหา คือถ้าเงินไม่พอก็ควรสนับสนุนงบประมาณมาให้คลินิกเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน

“อยากให้มีการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของ สปสช.ย้อนหลัง ทั้ง กทม.และต่างจังหวัด เพราะที่ผ่านมาไม่เคยได้รับข้อมูลใดๆ จาก สปสช.เลย ทั้งที่ขอตรวจสอบมาตลอด”พญ.นันทวันกล่าว   
 

ชงตั้ง Provider Board

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีการเสนอให้ตั้ง Provider Board รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า กรรมการของ สปสช.ทั้งชุดใหญ่ชุดเล็ก จะมีองค์ประกอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Steakholder) แต่ไม่ใช่ตัวแทนที่แท้จริง กรรมการแต่ละชุดมีข้อมูลการตัดสินใจไม่กี่นาที ตัวเลขหลายอย่างผิดไปจากความเป็นจริง บางครั้ง 50% หรือ 80% ทำให้การดำเนินการไม่สามารถดำเนินการไปได้ จึงอยากมีตัวแทนของเราเป็นกลุ่มก้อน

 “ในการของบประมาณสปสช.ต้องนำข้อมูลจริงไปขอ  ซึ่งต้องกลับมานั่งดูว่าจะวางระบบอย่างไร ไม่ใช่เรื่องเงินเรื่องเดียว อยากให้มีการทบทวน เพราะผู้ให้บริการทนมานานมาก ยืนยันไม่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน แต่สู้มาจนถึงทุกวันนี้จึงต้องมาแสดงพลังให้เห็น เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบจะได้กลับไปพิจารณา”รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าว 

 

ยื่นซูเปอร์บอร์ดสุขภาพลุยแก้ปัญหา  

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หน่วยบริการคำนึงถึงประชาชน และคิดว่าผู้ใหญ่ของบ้านเมือง โดยเฉพาะ รมว.สธ.และนายกรัฐมนตรี ไม่ทิ้งเรื่องนี้ ถ้าภาคบริการสาธารณสุขทรุดไป จะไม่มีใครมาปกป้องด้านสุขภาพอีก ต้องให้ คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติหรือซูเปอร์บอร์ดสุขภาพ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณา  ส่วนของ 5 เครือข่ายองค์กรอาจจะมีข้อเสนอ แต่เป็นเพียงมุมมองหนึ่งในการอภิบาลระบบ

ผู้สื่อข่าวถามถึงการที่ สปสช.เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้คนไข้ต่อเนื่อง เพิ่มภาระงานหรือเพิ่มค่าใช้จ่ายหรือไม่ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า เพิ่มทั้งสองอย่าง คือ สปสช.งานหลักคือเพื่อประชาชน แต่ส่วนหนึ่งควรมองผู้ร่วมงานถ้ายังมองเราเป็นผู้ร่วมงาน สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นจะแก้ปัญหาร่วมกันอย่างไรท่าน รมว.สธ.จะดำเนินการ เพราะสถานพยาบาลเจอปัญหามานาน จนมาถึงวันที่ออกมาแสดงพลัง  

     “ผมไม่มีสิทธิบอกว่าการบริหารเรื่องนี้ ล้มเหลวหรือไม่ล้มเหลว แต่บอกแค่ว่าต้องทบทวนการบริหารจัดการจะเหมาะกว่า เพราะไม่ได้มีหน้าที่ไปตัดสิน แค่บอกข้อเท็จจริงให้รู้”รศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าว


ยกร่าง  Provider Board ใน 1 เดือน

    ต่อมาเวลาราว 15.00 น. ภายหลังการหารือร่วมกัน นพ.โอภาส ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุมเห็นพ้อง 1.รีบผลักดันให้เกิด Provider Board ขึ้นมา เพื่อคอยฟีดแบ็ค นโยบาย กฎเกณฑ์ที่สปสช.ออกมา ซึ่งเลขาสปสช.เห็นด้วย
จี้แก้ปัญหาเงิน \"บัตรทอง\"  5 องค์กรสถานพยาบาลบุกสธ.พบ “หมอชลน่าน”

2.เรื่องเร่งด่วนส่วนของเงินที่ค้างจ่าย จำนวนหลายพันล้านบาท ซึ่งรมว.สธ.เห็นชอบให้มีการแก้ไขโดยเร่งด่วน โดยการหักเงินให้ชะลอไว้ก่อน  ส่วนเงินที่ค้างต้องรีบหารือว่าจะอัดเงินเข้าระบบอย่างไร เพื่อให้คลินิกบริการต่างๆโดยเฉพาะในกทม.อยู่ได้ และดำเนินการต่อไปได้  มอบให้เลขาฯสปสช.รับไปดำเนินการ

  นพ.จเด็จ กล่าวว่า  ค่าใช้จ่ายต่างๆที่ไม่ตรงกัน ยังค้างอยู่ ในส่วนของปีก่อน ชะลอไว้ก่อนเพื่อให้มีระบบดูแลตัวเลขกันก่อนทั้งของคลินิกและรพ.ต่างๆ ส่วนงบประมาณปี 2567 ที่คลินิกชุมชนอบอุ่นกังวลว่างบประมาณไม่พอ ก็มีมติให้จ่ายในอัตราที่ลดลงก่อน  โดยให้มีคณะทำงานร่วมกัน เพื่อเคลียร์ โดยหลักควรจะจ่ายที่อัตราเต็มเม็ดเต็มหน่วย และจะดำเนินการเรื่องการเปิดข้อมูลให้ชัดเจน  เพราะ 4 เดือนของปีงบประมาณ 2567มีค่าใช้จ่ายที่สูงจ่ายไปแล้ว 50 % 
    สำหรับการตั้ง Provider Board นพ.จเด็จ กล่าวว่า  จะตั้งภายใต้พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงเป็นอำนาจของบอร์ดสปสช.ในการตั้ง โดยให้ตั้งต้นมาจากคณะอนุกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบายของสปสช. ดังนั้น เตรียมหารือกับสธ.ในการยกร่างตั้ง Provider Board  คาดว่าภายใน 1 เดือนน่าจะแล้วเสร็จ ก่อนเสนอเข้าบอร์ดสปสช.