"รพ.รามาธิบดี" สร้างใหม่ 2 แห่ง งบประมาณราว 19,000 ล้านบาท
ปี 2567 รพ.รามาธิบดี ขับเคลื่อนการสร้างใหม่ 2 แห่ง งบประมาณเกือบ 20,000 ล้านบาท บริเวณถนนศรีอยุธยา และนวัตกรรมการแพทย์ย่านโยธี รองรับผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นราว 2,000 คน ภายใต้การนำของ “ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์” คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คนใหม่
KEY
POINTS
- เปิดวิสัยทัศน์ทิศทางการบริหารของ“ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์” คณบดีคณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี ม.มหิดลคนใหม่
- สร้างใหม่ 2 แห่ง รพ.รามาธิบดี งบประมาณราว 19,000 ล้านบาท ย่านนวัตกรรมโยธี และศูนย์การแพทย์ศรีอยุธยา รองรับคนไข้เพิ่ม 2,000 คน
- 4 เป้าหมายสำคัญในการพัฒนาแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี ภายใต้ 3 พันธกิจหลัก และบทบาทของมูลนิธิฯที่เข้ามาส่งเสริมมากกว่าเรื่องการช่วยเหลือคนไข้ขาดทุนทรัพย์
ยาวนาน 59 ปีนับตั้งแต่ปี 2508 ที่คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดีเริ่มดำเนินกระทั่งเปิดให้บริการประชาชน ปัจจุบันมี 2 โรงพยาบาล รพ.รามาธิบดี ดูแลผู้ป่วยนอกราว 3 ล้านคนต่อปี ผู้ป่วยใน 60,000 คนต่อปี และสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ ผู้ป่วยนอก 3 แสนคนต่อปี ผู้ป่วยในราว 10,000 คนต่อปี มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
ล่าสุดมีการเปลี่ยนผู้บริหารชุดใหม่แทนชุดเดิมที่หมดวาระ และในโอกาสที่ “ศ.คลินิก นพ.อาทิตย์ อังกานนท์” เข้ารับตำแหน่งคณบดีคนใหม่ และประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิรามาธิบดีฯ
“กรุงเทพธุรกิจ”มีโอกาสได้สัมภาษณ์ถึงแนวทางและเป้าหมายการพัฒนา “รามาธิบดี”ภายใต้พันธกิจสำคัญ 3 เรื่อง และแผนการขยายบริการให้ประชาชนมากขึ้นด้วยการ ใช้งบประมาณเกือบ 20,000 ล้านบาทในการสร้างสถานที่ใหม่ 2 แห่ง
“รพ.รามาธิบดีเป็นแหล่งผลิตบุคลากรด้านสุขภาพให้ประเทศ สร้างคน สร้างองค์ความรู้ และบริการประชาชน เพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้ามากขึ้น”ศ.นพ.อาทิตย์กล่าวถึงความมุ่งหมายในการขับเคลื่อนการพัฒนารามาธิบดี
คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี มีพันธกิจหลัก 3 ด้าน ประกอบด้วย ด้านการสร้างบุคลากรการแพทย์ มีการเปิดสอน 1.แพทยศาสตร์หลักสูตร 6 ปี ผลิตได้ 150-200 คนต่อปี
2.แพทยศาสตร์หลักสูตร 7 ปี แพทย์นวัตกร รุ่นแรกเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 มีการทำโครงงานที่น่าสนใจหลากหลาย เช่น หุ่นยนต์การแพทย์ การเชื่อมสมองเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์โดยตรงในการสั่งการ รวมถึง AIทางการแพทย์ เป็นต้น
และแพทย์นักบริหาร จำนวนสาขาละ 20คนต่อปี ซึ่งได้รับความสนใจในเลือกเรียนไม่แตกต่างจากหลักสูตรแพทย์ 6 ปี และแพทยศาสตร์ภายใต้ความร่วมมือกับศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษารพ.มหาราชนครราชสีมา จำนวน 40-50 คนต่อปี
3.พยาบาล ผลิตได้จำนวน 300 คนต่อปี โดยมีหลักสูตรพยาบาลนานาชาติ รับนักศึกษาพยาบาลจากจีนเข้ามาศึกษาด้วย
4.นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ ผลิต 40 คนต่อปี
5.หลักสูตรการสื่อความหมายและแก้ไขการพูด ช่วยผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร ที่อาจมาจากการไม่ได้ยิน หรือมีปัญหาสืบเนื่องมาจากการเจ็บป่วยโรคอื่น ๆ ทั้งกลุ่มที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือกลุ่มที่เป็นในช่วงอายุต่าง ๆ มีนักศึกษาเฉลี่ยปีละ 40 คน
6.สถาบันราชสุดา สัดส่วนนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการได้ยินและการพูด 50% และนักศึกษาทั่วไป 50% เพื่อให้ใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมได้
“ตั้งแต่ปี 2566 ได้รับการมอบหมายให้รับวิทยาลัยราชสุดาเดิมมาอยู่ภายใต้คณะแพทยศาสตร์รามาฯด้วย จึงจะเน้นการเรียนการสอนที่มุ่งเน้นเรื่องวิชาชีพ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาให้สอดรับกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และพัฒนาภาษามือให้เป็นภาษามือสากล เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้พิการสามารถไปศึกษาได้ทั่วโลกมากขึ้น จากที่ปัจจุบันภาษามือยังเป็นเฉพาะของแต่ละประเทศ”ศ.นพ.อาทิตย์กล่าว
วิจัยสู่แนวทางรักษาใหม่ๆ
ด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการรักษาโรคซับซ้อน ตัวอย่างของงานวิจัย อาทิ วิจัยหาตัวยาใหม่ (Drug Discovery Program) มองหาตัวยาที่มีศักยภาพในการรักษาโรคที่อยู่ในสมุนไพรไทย เพื่อลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มการเข้าถึงตัวยาได้มากยิ่งขึ้น เช่น กระชาย โดยมีการร่วมมือกับหลายหน่วยงานในการทำวิจัยสมุนไพรไทยเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพยาให้ได้ผลดีขึ้น
วิจัยด้านสเต็มเซลล์ (Stem Cell) ที่ผ่านมาในการรักษาโรค เช่น โรคเลือด โรคโลหิตจาง โรคมะเร็ง และพัฒนารักษาโรคที่ใช้สเต็มเซลล์ในการทำให้กระดูกที่หักประสานกันได้ ในผู้ป่วยที่กระดูกหักแล้วไม่ประสาน
การใช้เซลล์รักษาโรคมะเร็ง ด้วยการใช้ภูมิคุ้มกันบำบัด นำเซลล์เม็ดเลือดขาวมาดัดแปลงพันธุกรรม สามารถทำลายมะเร็งได้ ปัจจุบันต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีค่าใช้จ่ายต่อรายราว 10 ล้านบาท และมีการพัฒนาตัดต่อพันธุกรรมบางอย่างในผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ที่ต้องให้เลือดทุก 1 -2 เดือน เป็นการรักษาด้วยยีน ทำให้สิ่งผิดปกติกลับมาปกติได้ อยู่ระหว่างขั้นวิจัยในมนุษย์ โดยรักษาสำเร็จแล้ว 2-3 ราย เป็นต้น
19,000ลบ.สร้างใหม่ 2 แห่ง
ด้านการให้บริการ มีทั้งการให้บริการรักษาพยาบาลและความรู้สู่ชุมชนผ่านรามาแชนนอล โดยจะมีการนำAI ที่เป็นเครื่องจัดยาอัตโนมัติ มาติดตั้งที่ห้องยาอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์ที่มีคนไข้รับยามากที่สุด เมื่อแพทย์สั่งยา เครื่องจะดูประเภทยาแล้วจัดใส่ถุง ส่งมอบให้คนไข้โดยเภสัชกร กระบวนการจัดยาจะเร็วขึ้น ลดเวลารอคอยของคนไข้
สำหรับแผนการลงทุน จะมีการขยายสถานที่ให้บริการเป็นแผนต่อเนื่อง โดยการสร้างอาคารรพ.รามาธิบดี ย่านนวัตกรรมโยธี ฝั่งตรงข้ามรพ.รามาฯที่ปัจจุบันเป็นองค์การเภสัชกรรม พื้นที่ 3 แสนตารางเมตร งบประมาณก่อสร้าง 10,000 ล้านบาท
โดยได้รับจากสำนักงบประมาณ 7,000 ล้านบาท อีก 3,000 ล้านบาท รามาฯจะต้องจัดหาเอง รวมถึงค่าอุปกรณ์ เวชภันฑ์ต่างๆ จะสามารถรองรับคนไข้ทั่วไปได้ประมาณ 800-1,000 เตียง แยกห้องมี 6 เตียง จากอาคารเดิมที่มีราว 30 เตียงต่อห้อง มีห้องไอซียู ห้องผ่าตัดทันสมัย คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2567 ใช้เวลา 5-6 ปี
ในฐานะประธานมูลนิธิรามาธิบดี ศ.นพ.อาทิตย์ บอกว่า มูลนิธิฯได้มีการจัดหางบประมาณ ก่อสร้าง “ศูนย์การแพทย์รามาธิบดีศรีอยุธยา”อาคาร29 ชั้น บริเวณรพ.เดชาเดิม เพื่อเป็นการให้บริการผู้ป่วยนอกได้ราว 1,000 คนต่อวัน เป็นศูนย์เวลเนส ศูนย์ตรวจสุขภาพ ดุแลโรคตา โรคผิวหนัง เป็นต้น
คิดอัตราค่าบริการมากกว่าภาครัฐเป็นแบบพรีเมียม แต่ไม่แพงมาก เพื่อนำรายได้กลับมาจุนเจือคณะแพทยศาสตร์รพ.รามาฯ โดยมีการสร้างทางเชื่อมตรงจากสถานีรถไฟฟ้าพญาไทด้วย คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2568
4 เป้าหมายสำคัญในปี 2567
สำหรับในปี 2567 ศ.นพ.อาทิตย์ กล่าวว่า มีเป้าหมายสำคัญ 4 ประการ คือ 1.International Quality (มุ่งสู่มาตรฐานสากล) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มุ่งสู่ความเป็นมาตรฐานสากลเพื่อเป็นสถาบันที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ และรู้จักในระดับสากล
2.Integrated and Collaborative Approach (ผลักดันการบูรณาการความร่วมมือ) บูรณาการสหสาขาวิชาชีพของทุกภาควิชา โดยสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนภายในคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
รวมถึงการผนึกกำลังกับเครือข่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพภายนอกคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อสร้างมาตรฐานทางการแพทย์ให้พร้อมรองรับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของโรคในปัจจุบัน และในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาโรคที่ซับซ้อนเป็นต้นแบบของการรักษา
3.Innovative Missions (ส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรม) นำนวัตกรรมมาใช้ในการให้บริการทางการแพทย์ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิตนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์แก่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รวมถึงในเชิงพาณิชย์ โดยผลักดันให้มีการร่วมกันสร้างสรรค์นวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวเท่าทันการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ปัญหาทางด้านสาธารณสุขของประเทศไทย
4.Management for Sustainability (คำนึงถึงความยั่งยืน) คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี จะดำเนินงานโดยมีความยั่งยืนด้านการเงินควบคู่ไปกับการคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม
ส่วนแนวทางการผลักดันระบบสาธารณสุขไทยสู่ยุคดิจิทัล ศ.นพ.อาทิตย์ บอกว่า เตรียมความพร้อมให้บุคลากรทางการแพทย์มีศักยภาพในการรองรับการปฏิบัติงานควบคู่กับเครื่องมือเทคโนโลยีการแพทย์ล้ำสมัย เพราะตระหนักถึงการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ จึงมุ่งส่งเสริมองค์ความรู้ในการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีทางการแพทย์
ผ่านการเรียนการสอนที่ใช้เครื่องมือทางการแพทย์ล้ำสมัย ให้รับรู้ถึงข้อดีและข้อจำกัดของเทคโนโลยี เพื่อเตรียมความพร้อมให้เหล่าบุคลากรทางการแพทย์มีองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างผลลัพธ์ทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
กลยุทธ์ SOFT POWER มูลนิธิรามาฯ
พรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวว่า พันธกิจของมูลนิธิรามาธิบดีฯ มุ่งสนับสนุนทุกการดำเนินงานของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยครอบคลุมทั้ง 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ การสร้างบุคลากรการแพทย์ การวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการรักษาโรคซับซ้อน และการสร้างเสริมสุขภาพ ทั้งนี้แต่ละปีให้การช่วยเหลือผู้ป่วยขาดแคลนทุนทรัพย์ราว 100-200 ล้านบาทต่อปี
ภายหลังได้ทำการริเริ่มโครงการใหม่ที่เกี่ยวข้องกับด้านสุขภาพที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีให้การสนับสนุนและพัฒนาขึ้น ซึ่งขยายขอบเขตไปไกลและกว้างขวางมากกว่าแค่พื้นที่ในโรงพยาบาล เช่น โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน โครงการรามาธิบดีศรีอยุธยา และโครงการทุนสถาบันราชสุดา เป็นต้น
ปัจจุบันมีโครงการระดมทุนที่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ให้การดูแลประมาณ 7 โครงการ โดยมีโครงการหลักอย่างโครงการอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี ย่านนวัตกรรมโยธี ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญในปีนี้และอีกอย่างน้อย 7 ปีข้างหน้า เพื่อเพิ่มพื้นที่
และเพิ่มศักยภาพทางการแพทย์ให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น สามารถรองรับเครื่องมือทางการแพทย์และเทคโนโลยีของการรักษาโรคซับซ้อนและก้าวหน้าขึ้นในอนาคต บนแนวคิด “เข้าใจเขา เข้าใจเรา เข้าใจทุก(ข์)คน” และตอบโจทย์ความต้องการทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ แก้ปัญหาด้านความแออัดของพื้นที่อาคารเดิม
“ตั้งเป้าหมายการระดมทุนเพิ่มเติมจากการสนับสนุนของภาครัฐบาลรวมจำนวน 9,000 ล้านบาท ซึ่งจะถูกใช้ดำเนินการในการสร้างอาคารโรงพยาบาลและการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยทั้ง 2 แห่งใหม่”พรรณสิรีกล่าว
ในปี พ.ศ. 2567 ลนิธิรามาธิบดีฯ มีการวางแผนกลยุทธ์การสื่อสาร เพื่อครองใจกลุ่มผู้บริจาครุ่นใหม่มากขึ้น โดยใช้สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญขององค์กรมาเป็นแกนหลักในการสร้างสรรค์แคมเปญระดมทุนต่าง ๆ
ผ่านกลยุทธ์ SOFT POWER ที่เป็นการสานต่อการให้ไม่สิ้นสุดเพื่อให้ผู้ป่วย ด้วยการระดมความเชื่อเหลือในแบบต่างๆที่แต่ละคนมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ เป็นการมาร่วมกันด้วย SOFT POWER ของตัวเอง ทำให้มีImpact และยั่งยืน เช่น กลุ่มเกมเมอร์เชิญอาจารย์แพทย์ไปสตรีมเล่นเกมผ่าตัด,การปลุกเสกพระเพื่อให้คนบูชา,บุญมาร์เก็ตที่มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆของมูลนิธิผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อระดมทุนบริจาค,การร่วมมือกับศิลปินต่างๆที่เข้ามาช่วยด้วยใจไม่คิดค่าตัว
และ“หัวใจอินฟินิตี้” “การให้” “ความสุข” มาสร้างสรรค์เป็นแคมเปญที่เข้ากับยุคสมัย และไลฟ์สไตล์ของผู้คนในแต่ละช่วงวัยผ่านแคมเปญต่าง ๆ โดยในเดือนมีนาคมที่กำลังจะถึงนี้จะมีการเปิดตัวชาเลนจ์ที่สร้างขึ้นจากข้อมูลจำนวนตัวเลขผู้ใช้บริการในโรงพยาบาลมาให้ทุกคนได้เล่นกัน นอกจากนี้ยังมีแคมเปญที่ทุกคนสามารถเป็นร่วมเป็นส่วนหนึ่งได้ง่าย ๆ เพียงแค่แชร์หรือบอกต่อ
อีกทั้ง มีการเปิด Platform TikTok ใช้ชื่อว่า “Rama is happy”เพื่อเป็นอีกช่องทางสำหรับสื่อสารไปยังกลุ่มคนรุ่นใหม่ มูลนิธิรามาธิบดีฯ เชื่อว่า ความยั่งยืนขององค์กรนั้นจะเกิดขึ้นได้หากมีการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนเจนเนอร์เรชันใหม่ โดยเนื้อหาสำคัญที่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ต้องการสื่อสารคือ “ความสุขจากการให้ไม่สิ้นสุด”