เปิดพื้นที่แห่งการให้"อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีฯ"ผลิตแพทย์ รักษาทุกชีวิต

เปิดพื้นที่แห่งการให้"อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีฯ"ผลิตแพทย์ รักษาทุกชีวิต

เปิดรับบริจาคพื้นที่แห่งการให้ "อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธี" อาคารสูง 25 ชั้น พื้นที่ใช้สอน 2.7 แสนตร.ม.หวังเพิ่มพื้นที่ เพิ่มโอกาสการรักษาแก่ทุกชีวิต พร้อมเป็นแหล่งผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สร้างงานวิจัย เทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่

เป็นเวลาเกินกว่าครึ่งศตวรรษที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีก่อตั้งขึ้นในฐานะโรงเรียนแพทย์ ควบคู่ไปกับการให้บริการทางการแพทย์แก่ประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละปีมีผู้ใช้บริการ 2.4 ล้านครั้ง

ด้วยโครงสร้างอาคารหลักที่มีอายุ 58 ปี มีข้อจำกัดไม่เอื้อต่การปรับปรุง หรือพัฒนาระบบต่างๆ ที่รองรับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ระบบสาธารณูปโภคมีความเสื่อมโทรม อีกทั้งยังมีพื้นที่จำกัดในการขยับขยายเพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วย 

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และมูลนิธิรามาธิบดีในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมสานต่อภารกิจแห่งการให้ผ่าน "โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธี" เพื่อ เพิ่มพื้นที่รองรับการรักษาผู้ป่วย เพิ่มศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์ให้มีมาตรฐานสูงขึ้นพร้อมรองรับสภาวการณ์การเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนของโรค ทั้งในปัจจุบันและอนาคต รวมถึงยกระดับวงการแพทย์และสาธารณสุขไทย 

วันนี้(15 ธ.ค.2565) โรงพยาบาลรามาธิบดี และมูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้เปิด "โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธี" ขึ้น 

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  กล่าวถึงการดำเนินการก่อสร้างอาคารใหม่แห่งนี้ ว่า อาคารหลักของโรงพยาบาลได้มีการเปิดให้บริการมาอย่างยาวนาน ซึ่งแม้จะมีการปรับปรุงพัฒนามาเรื่อยๆ แต่ด้วยข้อจำกัดในหลายด้านจึงอาจจะไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้ป่วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รพ.รามาธิบดี ส่งสารด่วน ทีมแพทย์โรคติดเชื้อไม่เพียงพอ

ปาร์ตี้อย่างมีสุข ให้พ้นภัย 'ยาเสียหนุ่ม-เสียสาว'

รู้จัก "มูลนิธิรามาธิบดี" หลัง “ฮาตาริ” บริจาคเงิน 900 ล้านบาท

“Passive Death Wish” อันตรายไม่แพ้ “ซึมเศร้า” วิธีระวังไม่ให้ดิ่งจนอยากตาย

 

เพิ่มพื้นที่บริการผู้ป่วย ผลิตบุคลากรทางการแพทย์

ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้มีการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมทางการแพทย์อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อก้าวข้ามข้อจำกัด และเพิ่มศักยภาพในการรักษาผู้ป่วยรวมถึงการเตรียมความพร้อมรองรับโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จึงเป็นเหตุผลให้ทางโรงพยาบาลรามาธิบดีเพิ่มพื้นที่โรงพยาบาลให้มีความพร้อมด้านการรองรับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยเพื่อรองรับผู้ป่วยให้เพียงพอต่อความต้องการ

ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลรามาธิบดีและย่านนวัตกรรมโยธีไม่ใช่เพียงแต่เป็นสถานที่ให้การบริการทางการแพทย์เท่านั้น เนื่องจากโรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นห้องเรียนและแหล่งค้นคว้าวิจัยที่ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะแพทย์ในระดับหลังปริญญาเพื่อสร้างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาโรคที่มีความซับซ้อน และเป็นย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID)

ศูนย์รวมนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยจากการผนึกกำลังกับเครือข่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งประกอบด้วย ศูนย์พัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ (MIND CENTER)  พื้นที่ Co- Working Space  และ Clinical  Research Center  เป็นต้น เพื่อร่วมพัฒนาต่อยอดในด้านสาธารณสุขของประเทศให้มีศักยภาพในระดับสากลสามารถแข่งขันได้ และเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

 

อาคารสูง 25 ชั้น พื้นที่ใช้สอยกว่า 2.7 แสนตร.ม.

อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งใหม่จะมีความสูง 25 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้นตั้งอยู่บนพื้นที่ส่วนหนึ่งของด้านหน้าองค์การเภสัชกรรม มีขนาด 15 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา และมีพื้นที่ใช้สอย 278,000 ตารางเมตร ซึ่งมากกว่าพื้นที่ใช้สอยของอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์เกือบ3 เท่า

อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งใหม่นี้สามารถรองรับผู้ป่วยที่สายสิทธิขั้นพื้นฐานได้อย่างเต็มศักยภาพเทียบเท่าอาคารเดิม แต่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรักษา  โดยเฉพาะโรคที่มีความซับซ้อน ซึ่งถือเป็นความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อเป็นต้นแบบทางการรักษาให้กับโรงพยาบาลอื่นๆต่อไป

 สร้างงานวิจัย สร้างเทคโนโลยีการแพทย์

ปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้การดูแลผู้ป่วยนอก 2.3 ล้านครั้ง ซึ่งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นโรงเรียนแพทย์ที่ผลิตนักศึกษาแพทย์ปีละ 200 คน ผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางมากกว่า 40-50 คน รวมถึงมีการผลิตพยาบาลปีละ 250 คน และในปี2566 นี้ มีแพทย์จะเพิ่มการผลิตพยาบาลปีละ 300 คน โดยพยาบาลที่ผลิตนั้นจะเน้นการเป็นพยาบาลเฉพาะทางเป็นหลัก

อีกทั้ง มีการสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก และมีนักศึกษาฉุกเฉินการแพทย์ ปีละ 40 คน ซึ่งปี2566 นี้จะเพิ่มเป็นปีละ 60 คน และนักศึกษาสื่อความหมาย เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุมากขึ้น รวมถึงมีห้องปฎิบัติการ มีห้องวิจัยที่ทันสมัย

"อาคารใหม่แห่งนี้ จะรองรับสิทธิผู้ป่วยเหมือนเดิม แต่ผู้ป่วยจะสะดวกสบายมากขึ้น จะไม่มีการเพิ่มค่าใช้จ่าย ขณะเดียวกันจะเป็นอาคารที่นอกจากรองรับผู้ป่วยแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักวิทยาศาสตร์ นักวิศวกรรมในการผลิตเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือผลิตยาจากสมุนไพรร่วมด้วย"ศ.นพ.ปิยะมิตร กล่าว 

ทั้งนี้ ในส่วนของอาคารหลักเดิม หรืออาคาร1 จะมีการพัฒนาปรับปรุงให้เป็นศูนย์เช็กอัพร่างกาย เป็นศูนย์การแพทย์ที่ผู้ป่วยสามารถมาใช้บริการจุดเดียวและรักษาได้โดยที่ไม่ต้องเดินไปหลายๆ ห้องแต่จะรวมการบริการไว้จุดเดียว เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย 

เข้าใจเขา เข้าใจเรา เข้าใจทุก(ข์)คน

ศ.ดร.พญ.อติพร  อิงค์สาธิต รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่าด้านศักยภาพของการบริการรักษา พยาบาลที่เพิ่มขึ้นนั้นผ่านการออกแบบโดยคำนึงถึงแนวคิด "เข้าใจเขา เข้าใจเรา เข้าใจทุก(ข์)คน" เพื่อให้บริการทางการแพทย์ที่ดีที่สุด  อาทิ

หน่วยตรวจผู้ป่วยนอก (OPD) จำนวน 4 ชั้น ห้องตรวจจำนวน 325 ห้อง ที่คำนึงถึงการส่งเสริมประสบการณ์ที่ดีของผู้ป่วยให้มีความสะดวกสบายในการเข้ารับบริการ

ศูนย์ "Imagine Center" ที่บริการตรวจด้วยเครื่อง X-ray ให้บริการแบบ 24 ชั่วโมง เพื่อลดระยะเวลารอคอยการตรวจผู้ป่วยในจำนวน 826 เตียง ถูกออกแบบเพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัว ลดความแออัด และควบคุมหรือลดการแพร่เชื้อได้ดียิ่งขึ้น 

ห้องICU จำนวน 240 เตียงจากเดิม 100 เตียง  ซึ่งออกแบบตามแนวคิด Healing Environment ให้ผู้ป่วยมองเห็น สภาพแวดล้อมภายนอก ช่วยเสริมสร้างกำลังใจและกระตุ้นให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วยิ่งขึ้น รองรับการเจ็บป่วยในสถานการณ์ผู้สูงอายุ

ห้องผ่าตัด(OR)  52 ห้อง รองรับการผ่าตัดโรคซับซ้อน พร้อมนวัตกรรมหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดและห้องสวนหลอดเลือดหัวใจ รองรับผู้ป่วยวิกฤติที่ป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะ 

3หัวใจหลักเพื่อดูแลผู้ป่วยทุกคน

อาคารแห่งใหม่นี้ จะมี 3หัวใจหลักเพื่อดูแลผู้ป่วยทุกคน ดังนี้ 

1.การบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วย รองรับผู้ป่วยนอกได้ 2.5 ล้านคนต่อปี รองรับผู้ป่วยในได้ 1,000 เตียง หรือ 55,000 รายต่อปี  ผู้ป่วยสามารถเบิกจ่ายตามสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือประกันสังคมเหมือนอาคารเดิมได้

2.การเรียนการสอนบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทุกตารางนิ้วของโรงพยาบาลแห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของห้องเรียนขนาดใหญ่ที่บ่มเพาะผลิตบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยผลิตนักศึกษาจำนวน 950 คนต่อปี 

3.การวิจัยทางการแพทย์

ผนึกกำลังกับเครือข่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี เพื่อสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์และชีวการแพทย์ที่สามารถนำไปต่อยอดและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณสุขของไทย 

ร่วมเป็นผู้ให้ เพิ่มพื้นที่ และเพิ่มโอกาสในการรักษาทุกชีวิต

โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธีให้ความสำคัญกับการแพทย์ศักยภาพและยกระดับคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ โดยขณะนี้ได้ออกแบบแล้วเสร็จ คาดว่าจะดำเนินการเริ่มสร้างในปี 2566 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2571 ซึ่งแม้จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐแต่ยังขาดงบประมาณด้านการก่อสร้างอาคารประมาณ 3,000 ล้านบาท และการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ทันสมัยที่มีมูลค่าสูงประมาณ 6,000 ล้านบาท 

มูลนิธิรามาธิบดีฯ จึงขอเชิญชวนผู้มีจิตศรัทธาร่วมเป็นผู้ให้ด้วยการบริจาคเงินสมทบทุน การให้ครั้งนี้ เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่ และเพิ่มโอกาสในการรักษาทุกชีวิต คลิก เฟสบุ๊คและยูทูป มูลนิธิรามาธิบดีฯ