"รพ.ชายแดนตะวันตก" แบกค่ารักษาต่างชาติ ปีละกว่า 100 ล้านบาท

"รพ.ชายแดนตะวันตก" แบกค่ารักษาต่างชาติ ปีละกว่า 100 ล้านบาท

รพ.ชายแดนตะวันตก แบกค่ารักษาพยาบาลต่างชาติ ปีละกว่า 100 ล้านบาท ข้ามมารักษาแต่รพ.เรียกเก็บเงินไม่ได้ สธ.รุกตั้ง”ศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดน”แห่งแรกของประเทศ แก้ปัญหาระยะยาว

KEY

POINTS

  • สถานการณ์ของรพ.ชายแดนตะวันตกที่ติดกับประเทศเมียนมาร์ในจ.ตาก 5 แห่ง ได้แก่ รพ.ท่าสองยาง รพ.แม่ระมาด รพ.แม่สอด รพ.พบพระและรพ.อุ้มผาง และรพ.ระนอง จะ.ระนอง ให้บริการตรวจรักษาพยาบาลแก่ชาวต่างชาติที่ข้ามแดนมาอย่างต่อเนื่อง
  • รพ.ชายแดนให้บริการมีทั้งกลุ่มที่ขึ้นทะเบียนแรงงาน มีประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวและไม่ขึ้นทะเบียน ไม่มีประกันสุขภาพ ไม่มีเงิน กลุ่มนี้ รพ.ต้องให้บริการ ตามหลักสิทธิมนุษยชน แม้จะไม่สามารถเรียกเก็บเงินค่าบริการค่ายาได้
  • ส่งผลให้แต่ละปีรพ.ชายแดนต้องรับภาระส่วนนี้รวมกว่า 100 ล้านบาท ขณะที่จากที่คาดการณ์ว่าหลังโควิด-19 ผู้ป่วยจะแห่เข้ามารับบริการมากขึ้น ภาพรวมกลับพบว่าไม่ได้เพิ่มขึ้น เหตุสถานการณ์สู้รบเดินทางยาก แต่บาดเจ็บจากภัยสู้รบ เพิ่มขึ้นประปราย

นพ.ศักดา อัลภาชน์ รักษาการผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 11  ซึ่งรับผิดชอบจ.ระนองที่มีชายแดนติดกับประเทศเมียนมาร์  กล่าวว่า  การสู้รบในฝั่งประเทศเมียนมาร์ จากการที่รพ.ระนองมีการติดตามจำนวนผู้ป่วยที่ข้ามมารับบริการรักษาพยาบาล ไม่พบว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม  รพ.ระนองให้บริการชาวต่างชาติที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานและไม่พบสิทธิการรักษามาตลอด ตามหลักสิทธิมนุษยธรรม แม้จะเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลไม่ได้  โดยแต่ละปีรพ.รับผิดชอบเงินส่วนนี้อยู่ที่ราว 5-6 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข วุฒิสภา ช่วงก.ค.2566 มีรายงานว่า  ปี 2566 รพ.ระนอง มีประชากรสิทธิ ประมาณ 23,715 คน และมีแรงงานต่างด้าวที่ขึ้นทะเบียนประมาณ 35,000 คน  ขณะที่มีกรณีการให้บริการรักษาพยาบาลแรงงานผิดกฎหมาย และกลุ่มไทยผลัดถิ่น ที่ไม่สามารถเรียกเก็บค่ารักษาได้ ปีละประมาณกว่า 6 ล้านบาท

 แม่สอด30-40%เป็นต่างชาติ

ผศ.(พิเศษ)นพ.รเมศ ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการรพ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวว่า ระบบการให้บริการของรพ.แม่สอด มีทั้งคนไทยและต่างชาติ  ผู้ป่วยนอกวันละ 1,400 คน และผู้ป่วยใน 300 คน ประมาณ 30-40 % เป็นต่างชาติ

ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพำนักอยู่ในอ.แม่สอดมานานโดยเป็นชาวเมียนมาร์มุสลิมและพุทธซึ่งอยู่ขอบตะเข็บชายแดน เป็นกลุ่มแรงงานที่ขึ้นทะเบียนและพลัดถิ่น

รวมถึง กลุ่มที่เดินทางเข้ามาผ่านด่านถูกต้องตามกฎหมายใช้หนังสือผ่านแดน (Border Pass)หรือพาสปอร์ต และกลุ่มที่เข้ามาทางด่านธรรมชาติที่มีอยู่จำนวนหลายด่าน ข้ามมารับการรักษาที่รพ.และกลับไป

เดิมคนอาศัยอยู่ในเมืองที่เลยจากเมืองเมียวดี ประเทศเมียนมาร์เข้าไปอีก  เช่น ก๊อกกะแร็ก เนปิดอร์ จะข้ามมารักษาได้สบายมา แต่ด้วยทางเมืองเมียวดี ฝั่งเมียนมาร์มีภัยสงคราม ตอนนี้ข้ามไม่ได้ จึงเหลือผู้ป่วยที่ข้ามมารักษาเป็นชาวเมียวดาบางส่วน และชาวเกษตรที่อยู่ตะเข็บชายแดน

“ตอนนี้ถ้าเทียบกับหลังโควิด-19 มีผู้ป่วยต่างชาติมารับบริการเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อย  แต่ไม่ได้มากเหมือนสมัยก่อน รพ.แม่สอดจึงให้บริการชาวต่างชาติอยู่ที่ราว 40 % ของผู้ป่วยทั้งหมด เว้นแต่กลุ่มที่ได้รับบาดเจ็บจากการสู้รบ มีเพิ่มขึ้นบ้างประปราย”ผศ.(พิเศษ)นพ.รเมศกล่าว 

รพ.แม่สอดงบฯสงเคราะห์ 50-70 ลบ./ปี

ปัญหาที่พบในระบบบริการ คือ  1.เพิ่มภาระให้กับเจ้าหน้าที่ จากเรื่องของภาษาและการสื่อสาร และ2.งบประมาณ ซึ่งบางส่วนเป็นชาวเมียนมาร์ ที่เป็นชาวไร่ ทำการเกษตร ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแรงงานเป็นขาจร กลุ่มเคยรักการรักษากับรพ.แม่สอด ไม่มีบัตร รายได้ต่อวันน้อย ทำให้รพ.ต้องรับภาระ เพราะมีหน้าที่รักษาคน และกลุ่มภัยสู้รบ อาจจะเป็นทหารหรือชาวบ้านที่ได้ผลกระทบจากภัยสู้รบ
 ถามว่า 40 % สามารถเรียกเก็บค่ารักษาได้มากน้อย ผศ.(พิเศษ)นพ.รเมศ กล่าวว่า แต่ละปีรพ.แม่สอด ต้องใช้งบประมาณลักษณะเป็นสังคมสงเคราะห์ราว  50-70 ล้านบาท เนื่องจากในการให้บริการต่างชาตินั้น

บางส่วนเก็บค่าบริการได้บางส่วนเรียกเก็บไม่ได้ รพ.ก็ดำเนินการในแบบการอนุเคราะห์ ก็ส่งผลต่อสถานะทางการเงินของรพ. แต่ตอนนี้ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับบวก สถานะการเงินไม่ถึงกับแย่มาก เนื่องจากมีรายได้จากส่วนต่างๆมาสนับสนุน  คือ 

1.ได้เงินสนับสนุนจากNGO ราว 50-60 ล้านบาทต่อปี หากไม่ได้ส่วนนี้มาช่วยรพ.แม่สอด ก็จะมีเงินที่ให้บริการแบบอนุเคราะห์ราว 100 ล้านบาทต่อปี 

2.กองทุนค่ารักษาพยาบาลผู้มีปัญหาสถานะและสิทธิ หรือท.99 ซึ่งทางกระทรวงฯให้งบประมาณ ทำให้สามารถประคองไว้ ประมาณ30-50 ล้านบาทต่อปี

\"รพ.ชายแดนตะวันตก\" แบกค่ารักษาต่างชาติ ปีละกว่า 100 ล้านบาท

3.รายได้จากประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว  ขึ้นทะเบียนประมาณ 30,000 คน

และ4.รายได้จากตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าว ปีละ 20-30 ล้านบาท ทำให้รพ.แม่สอดสามารถที่จะพยุง แก้ไขปัญหาด้วยตัวเองได้ 

5 รพ.แบกภาระกว่า 100 ล้านบาท

สำหรับรพ.อื่นที่อยู่ชายแดนจ.ตากเช่นกันอีก 4 แห่ง  ผศ.(พิเศษ)นพ.รเมศ กล่าวว่า  ขณะนี้รพ.ที่สถานะการเงินติดลบมีเพียงที่รพ.แม่ระมาด ราว 10-20 ล้านบาท ส่วนรพ.อุ้มผางที่มีรายงานเมื่อปีที่ผ่านมาว่าติดลบราว 30-40 ล้านบาทนั้น ได้รับงบฯจากส่วนกลางมาดูแลบวกกับที่รพ.แม่สอดยกหนี้ให้ ส่วนรพ.ท่าสองยาง รพ.พบพระ ใช้งบประมาณดูแลผู้ป่วยต่างชาติแบบสงเคราะห์น่าจะอยู่ที่ราว 10 ล้านบาทต่อปี แต่ไม่ได้มีปัญหาติดลบ และรพ.แม่สอดก็อยู่ที่ 50-70 ล้านบาท

ตั้งศูนย์ฯแก้ปัญหาระยะยาว

ขณะที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า  สาธารณสุขชายแดน เป็น 1 ใน 13 นโยบายการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เนื่องจากมีบริบทพื้นที่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ มีความซับซ้อน เชื่อมโยงกับหลายปัจจัยทั้งในและนอกประเทศ
อีกทั้ง ยังเป็นด่านหน้าในการป้องกัน ควบคุมโรคระบาดที่จะเข้าสู่ประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขในพื้นที่ โดยเฉพาะอัตรากำลังและศักยภาพของบุคลากรที่ต้องมีทักษะและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน รวมถึงมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการจัดการกับปัญหาสุขภาพของประชากรไทยและต่างด้าว

ล่าสุด มีการเปิดศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดน แห่งแรกที่รพ.แม่สอด จ.ตาก จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาสาธารณสุข รวมถึงการพัฒนาระบบบริการในพื้นที่ชายแดนของจ.ตากอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ส่งผลให้สามารถดูแลสุขภาพประชากรในพื้นที่ชายแดนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้

ด้านผศ.(พิเศษ)นพ.รเมศ กล่าวว่า ศูนย์นี้มี 2 โมดูล ได้แก่

1.สอนบุคลากรเพิ่มทักษะในการดูแลสาธารณสุขชายแดน โดยคนที่มาเรียนจะได้มาฝึกหน้างานจริงก็จะช่วยคนที่อยู่ประจำได้ ตอนนี้เตรียมขึ้นทะเบียนประมาณ 6 หลักสูตร มุ่งหวังจะได้บุคลากรมาช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรและรายได้จากลงทะเบียน และที่สนับสนุนจากส่วนกลาง 

และ2.งานวิจัย จะเน้นเรื่องของปฐมภูมิสาธารณสุขชายแดน เช่น การคัดกรอง การฉีดวัคซีน ซึ่งใช้งบประมาณค่อนข้างมาก สามารถทำงานวิจัยนำร่องโดยของบประมาณจากNGO มาสนับสนุนแล้วเก็บข้อมูลส่งให้NGO  เหล่านี้จะแก้ปัญหาได้บางส่วน แต่ช่วยได้ในระยะยาว