หญิงไทยใช้ยาทำแท้งปีละ 30,000 คน เล็งแก้กฎหมาย

หญิงไทยใช้ยาทำแท้งปีละ 30,000 คน เล็งแก้กฎหมาย

5 ปีเด็กเกิดใหม่จากแม่วัยรุ่นกว่า 2 แสนคน ส่วนหญิงใช้ยาทำแท้งปีละราว 30,000 คน 86% เป็นกลุ่มวัยที่เหมาะจะมีบุตร เล็งแก้กฎหมายดึงกลุ่มวัยเจริญพันธุ์ท้องต่อ ด้วยการส่งเสริมตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ ขณะตั้งครรภ์ และลูกที่คลอดดูแลเต็มที่

เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข มีการประชุมคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ครั้งที่ 1/2567 โดยมีการนำเสนอข้อมูลสถิติการคลอดมีชีพในแม่วัยรุ่นในระยะเวลา 5 ปี ช่วงระหว่าง พ.ศ.2561-2565 ทั้งในกลุ่มอายุ 10 - 14 ปี และ 15 - 19 ปี มีจำนวนบุตรที่เกิด 1 คนต่อแม่วัยรุ่น 1 คน เป็นจำนวนรวมแม่ และบุตรของทั้ง 2 กลุ่มอายุ ถึง 552,344 คน หากเฉพาะจำนวนเด็กที่เกิด 276,172 คน

ท้องไม่พร้อมวัยรุ่นลดลงต่อเนื่อง

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการ ฯ กล่าวว่า  จากข้อมูลที่มีการรายงานโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พบว่า อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 10 - 14 ปี มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยลดลงจาก 0.9 ต่อพันประชากรในปี 2564 เหลือ 0.8 ต่อพันประชากร

ในปี 2565 อัตราคลอดในวัยรุ่นอายุ 15 - 19 ปี ลดลงต่อเนื่อง โดยลดลงจาก 24.4 ต่อพันประชากร ในปี 2564 เหลือ 21 ต่อพันประชากร ในปี 2565 ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเป้าหมาย ตามแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ.2560 – 2570 ที่จะให้เหลือ 15 ต่อพันประชากรในปี 2570

“ขณะที่มีการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น แต่ก็มีเรื่องของการเกิดน้อยในกลุ่มวัยเจริญพันธุ์ด้วย จึงจะมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมาดำเนินการประเด็นของกฎหมายว่าควรจะมีการแก้ไข ปรับปรุงอะไรบ้าง  ใช้เวลาราว 3 เดือน  อาจจะเป็นการแก้ไขกฎหมายเดิมที่มีอยู่หรือการยกร่างกฎหมายใหม่ขึ้นใหม่ก็ได้”นายสมศักดิ์ กล่าว 

ยายุติท้อง 86%ใช้โดยหญิงวัยเจริญพันธุ์

ด้านนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวว่า  การตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นปัจจุบันอยู่ 21 ต่อพันประชากร ขณะที่อัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมของผู้หญิงอายุ 20 - 35 ปีขึ้นไปอยู่ที่ 1.08 
จึงมีการตั้งเป้าหมายว่าในปี 2570 การตั้งครรภ์ในหญิงวัยรุ่นต้องไม่เกิน 15 คนต่อพันประชากร  และมาตรการที่จะทำให้ส่งเสริมการมีบุตรมาบวกกับการแก้ปัญหาท้องไม่พร้อม ก็คือ ทำให้เด็กที่ท้องมีความพร้อม อย่าไปทำแท้งด้วยการส่งเสริมให้ตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ โอบอุ้มเขา โดยขณะตั้งครรภ์ และลูกที่คลอดมาต้องดูแลเต็มที่

ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่านอกจากจะลดอัตราการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่นแล้ว ก็จะลดอัตราการทำแท้งในกลุ่มวัยเจริญพันธุ์โดยการส่งเสริมการมีบุตรด้วย นพ.ชลน่าน กล่าวว่า  ใช่  เนื่องจากการยุติการตั้งครรภ์เฉพาะที่ใช้ยายุติการตั้งครรภ์ มีการใช้ยายุติการตั้งครรภ์ราว 30,000 คนต่อปี ซึ่งจากการออกกฎหมายเพื่อให้วัยรุ่นอายุต่ำกว่า  20 ปีลงมาเป็นผู้ใช้ แต่ตัวเลขที่ใช้เป็นกลุ่มวัยรุ่นใช้ ราว 13 - 14% และอีก  86% ใช้โดยหญิงวัยเจริญพันธุ์ เป็นผู้ที่มีความพร้อมที่จะมีลูก

“จึงได้มีการตั้งอนุกรรมการมาพิจารณาเรื่องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสม เกิดความสมดุลทั้งเรื่องป้องกัน และแก้ไขปัญหาท้องในวัยรุ่น และการส่งเสริมการมีบุตรในวัยที่พร้อมจะมีบุตร  ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่อาจจะพิจารณาเรื่องของอายุคนที่ใช้ยายุติการตั้งครรภ์”นพ.ชลน่าน กล่าว 

หลังคลอด-แท้งคุมกำเนิดกึ่งถาวร 68.55%

ด้าน พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล  อธิบดีกรมอนามัย ให้ข้อมูลความก้าวหน้าการดำเนินงาน ตามแผนปฏิบัติการด้านการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นระดับชาติ พ.ศ.2560 - 2570 ตามพระราชบัญญัติการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ระหว่างตุลาคม 2565 - กันยายน 2566 ความพึงพอใจของวัยรุ่นที่ได้รับบริการสุขภาพที่เป็นมิตร 88.24%

  •  วัยรุ่นที่เข้าถึงบริการด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ 88.06%
  •  หญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี ได้รับบริการคุมกำเนิดด้วยวิธีสมัยใหม่ (Modern Methods) หลังคลอดหรือหลังแท้ง  41.66%
  • และหลังคลอดหรือหลังแท้งที่คุมกำเนิดได้รับการคุมกำเนิดด้วยวิธีกึ่งถาวร 68.55% สนับสนุนการใช้ถุงยางอนามัยฟรี จำนวน 256,610 ชิ้น

ด้านระบบการดูแลช่วยเหลือ การคุ้มครองสิทธิอนามัยการเจริญพันธุ์ และการจัดสวัสดิการสังคม พบว่า มีวัยรุ่นกว่า 81,235 ราย ได้รับบริการสวัสดิการสังคมและความช่วยเหลือที่ตอบสนองความต้องการอย่างเหมาะสม  

  • 98.83% มีความพึงพอใจต่อการได้รับสวัสดิการทางสังคม
  • สภาเด็ก และเยาวชนขับเคลื่อนกิจกรรมป้องกัน แก้ไข และเฝ้าระวังปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกว่า 414 กิจกรรม


 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์