สปสช. ปลุกทุกองค์กรร่วม Open Data ให้สาธารณะนำไปใช้ประโยชน์
เลขาธิการ สปสช. ชี้ปัจจุบันเข้าสู่โหมดของการใช้ประโยชน์จาก Big Data แนะองค์กรเปลี่ยน Mindset ว่าข้อมูลควรเป็นของสาธารณะ พร้อมเน้นย้ำ แผนยุทธศาสตร์บัตรทอง 2566-2570 สปสช. มีนโยบายคืนข้อมูลสู่หน่วยบริการและประชาชนเพื่อให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในเวทีสัมมนาหัวข้อ Open Data for Pharmaceutical Innovation and Use Cases : ข้อมูลเปิดสำหรับนวัตกรรมยา และการใช้ประโยชน์จากข้อมูล ในงานวันเปิดข้อมูลนานาชาติ (International Open Data Day 2024) "Data-Driven for Sustainability" เมื่อเร็วๆนี้ ว่า สปสช. มีบทบาทในการที่เป็นหน่วยงานที่จะจัดให้ประชาชนได้รับบริการตามความจำเป็น โดยใช้งบประมาณในการขับเคลื่อนผ่านหน่วยบริการต่างๆ ซึ่งแต่ละปีมีผู้ใช้สิทธิบัตรทองไปรับบริการ 170 ล้านครั้ง เกิดข้อมูลบริการจำนวนมากในลักษณะที่เป็น Big data
นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช. ให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากข้อมูลบริการเหล่านี้ จากเดิมที่ใช้เป็นการภายใน เช่น ใช้วิเคราะห์ในการจัดทำงบประมาณ ประเมินแนวโน้มและความต้องการของผู้ป่วย หรือเอามาสะท้อนให้สังคมรับทราบเป็นบางครั้ง ขยายมาเป็นการคืนข้อมูลให้แก่หน่วยบริการ
และในแผนยุทธศาสตร์ฉบับล่าสุดปี 2566-2570 ก็จะคืนข้อมูลแก่ประชาชนและสังคม เพราะเชื่อว่าเมื่อข้อมูลไปถึงมือประชาชนแล้ว จะประชาชนจะมีวิจารณญาณในการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ต่อ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ และมีนโยบายเก็บข้อมูลไว้บนคลาวด์ เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลเหล่านี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- สปสช. เร่งดูแก้ผลกระทบผู้ป่วย 'OP New Model 5' พื้นที่ กทม.
- สภาเทคนิคการแพทย์ คาดแล็บเอกชนร่วม “ 30 บาทรักษาทุกที่” แตะหลักร้อย
- “30บาท บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” Shopping Around โจทย์ที่ไม่ปล่อยผ่าน
ข้อมูลเดียวกันเรามองโอกาสไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองอย่างไร เช่น จากข้อมูลปรากฎว่าตลอด 20 ปีหลังจากมีระบบบัตรทอง อัตราตายจากไส้ติ่งอักเสบไม่ลดลงเลย ข้อมูลนี้ก็ต้องสะท้อนกลับไปว่าให้บริการอย่างไรทำไมอัตราตายไม่ลดลง หรือสามารถบอกได้ว่าบริการอะไรที่ดีขึ้นบ้าง เช่น โรคเกี่ยวกับหัวใจที่อัตราตายลดลง เป็นต้น
"ดังนั้น ประโยชน์ของข้อมูลมีความชัดเจนในตัวอยู่แล้วในการเอาไปใช้ และยิ่งถ้านำข้อมูลเหล่านี้ไปสู่ประชาชนก็จะทำให้การขับเคลื่อนด้านสุขภาพดีขึ้น วันนี้มันเข้าสู่โหมดของการนำ Big data ไปใช้ เราพยายามเป็นกลไกหนึ่งที่ไปเชื่อมข้อมูลกับทุกหน่วยงานเข้ามา แล้วคนไหนอยากใช้ข้อมูลเราก็ส่งเสริมให้ใช้ เพราะเราเชื่อว่าข้อมูลที่มีอยู่ ยิ่งใช้ก็ยิ่งได้ประโยชน์" เลขาธิการ สปสช. กล่าว
อีกประเด็นที่ สปสช. พยายามขับเคลื่อนอยู่คือการจัดระบบบริการปฐมภูมิในลักษณะเครือข่าย นพ.จเด็จ กล่าวว่า เมื่อรูปแบบบริการเปลี่ยนไป สิ่งที่จำเป็นคือระบบข้อมูลขนาดใหญ่ในการเชื่อมโยงกัน เช่น วันนี้ไปผู้ป่วยไปรับยาที่ร้านยา แพทย์ในคลินิกอื่นที่อยู่ในเครือข่ายบริการนั้นก็ควรจะรู้ว่าผู้ป่วยได้รับยาอะไรไป เป็นต้น และด้วยโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ก็เป็นโอกาสในการเชื่อมข้อมูลเข้าด้วยกัน ซึ่งหากทำสำเร็จ ไทยจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่สามารถทำ Data Transformation ในระบบสุขภาพได้
การทำแบบนี้พูดง่าย แต่เชื่อว่า IT man ในทุกองค์กรหวงข้อมูลกันทุกคน ถ้าเป็นองค์กรขนาดใหญ่แล้วคิดว่าตัวเองมี power จากการเก็บข้อมูลไว้ คิดว่ากลยุทธนี้น่าจะผิดและจะทำให้องค์กรอ่อนแอลง วันนี้เราต้องเปลี่ยนทัศนะ ไม่ต้องกลัวว่าใครจะเอาข้อมูลเราไปใช้ ทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยน Mindset ว่าข้อมูลควรเป็นของสาธารณะ ควรสร้างระบบในการเชื่อมข้อมูล กระจายข้อมูลสู่สาธารณะ สิ่งนี้จึงจะทำให้ประชาชนมี Health Literacy และสามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้
"สปสช. เราก็พยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง โดยการกระจายข้อมูลออกไป มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อต่างๆ ทำ Dashboard เพื่อเผยแพร่ข้อมูลสุขภาพต่างๆ รวมทั้งเชื่อมข้อมูลกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กทม. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล ฯลฯ เพราะเชื่อว่าจะทำให้องค์กรเข้มแข็ง" เลขาธิการ สปสช. กล่าว