สงกรานต์ 2567 วัยรุ่นดื่มเกิดอุบัติเหตุ เอาผิดคนขาย-คนชักจูง
สงกรานต์ 2567 “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” ตั้งเป้าลดอุบัติเหตุทางถนนลงเกินครึ่งของปี 66 ที่เกิด 2,200 ครั้ง ตาย 264 ราย เข้มเกิดอุบัติเหตุเด็กต่ำกว่า20ปีดื่ม เอาผิดถึงคนขาย -อายุต่ำกว่า 18 ปีเอาผิดถึงคนชักจูงให้ดื่ม
เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2567 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี มีการแถลงข่าวขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ “ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ” โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ในช่วง 7 วัน เทศกาลสงกรานต์ปี 2566 มีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้น 2,203 ครั้ง เสียชีวิต 264 ราย และบาดเจ็บรุนแรง 2,208 ราย สาเหตุหลักมาจากการขับรถเร็ว ดื่มแล้วขับ ตัดหน้ากระชั้นชิด ในปีนี้ตั้งเป้าว่าจะลดลงให้ได้เกินครึ่งหนึ่งจากมาตรการที่เข้มข้นของทุกฝ่าย
สำหรับการตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่ประสบอุบัติเหตุที่ไม่สามารถตรวจวัดโดยวิธีเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้
- พบผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกฎหมายกำหนดถึง 33.53 %
- ส่วนยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด คือ รถจักรยานยนต์ 80.46 %
- ผู้บาดเจ็บที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและผู้เสียชีวิต ไม่ได้สวมหมวกนิรภัย
- เกือบ 90 % เมื่อเกิดอุบัติเหตุจึงทำให้บาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต
“ ผู้ที่ใช้รถจักรยานยนต์ ขอให้สวมหมวกนิรภัยทุกครั้งไม่ว่าจะเดินทางใกล้หรือไกล ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร ส่วนผู้ที่เดินทางโดยรถยนต์ รถรับจ้าง รถโดยสารสาธารณะ ให้คาดเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง และหากเป็นเด็กเล็กควรจัดหาที่นั่งนิรภัย (Car Seat) ให้เด็กด้วย และหากเกิดเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตถึงชีวิต สามารถใช้สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดทั้งของรัฐหรือเอกชน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จนพ้นวิกฤตหรือสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย” นพ.ชลน่านกล่าว
สงกรานต์เตรียมพร้อมทางการแพทย์ 24 ชั่วโมง
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ได้สั่งการให้เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) ทั้งที่ส่วนกลางและระดับจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์ประสานและสนับสนุนการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาล ประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดชุดปฏิบัติการฉุกเฉิน พร้อมฝึกทักษะการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉิน ลงพื้นที่ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉินร่วมกัน,
เตรียมความพร้อมหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน (EMS) ทั้งภาครัฐและเอกชนทุกระดับ รวมทั้งทางอากาศและทางเรือ สำหรับโรงพยาบาล ให้เตรียมทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่และอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องไอซียู ระบบส่งต่อ ให้พร้อมรับผู้บาดเจ็บหากเกิดอุบัติเหตุหมู่หรือมีความรุนแรง, เตรียมการรับ/ส่งต่อของสถานพยาบาลในเครือข่าย, ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการ 1669 ให้ติดต่อประสานงานส่วนกลางกับจังหวัดและเครือข่ายสถานบริการตลอด 24 ชั่วโมง,
เจาะเลือดผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุที่ไม่สามารถเป่าลมหายใจผ่านเครื่องตรวจได้ ตามการร้องขอของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และบูรณาการการบำบัดรักษาฟื้นฟูสภาพผู้ถูกคุมประพฤติฐานขับรถในขณะเมาสุรากับหน่วยบริการของโรงพยาบาล ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยคัดกรองหรือประเมินพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของผู้ที่คุมประพฤติจังหวัดส่งมาให้ ประเมินปัญหาการดื่มสุราและช่วยเหลือตามแนวทางที่กำหนด
สงกรานต์บาดเจ็บเข้ารพ.เฉลี่ย 3,500ราย
“ช่วงสงกรานต์แต่ละปีมีผู้บาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นกว่าในช่วงปกติ เฉลี่ยวันละกว่า 3,500 ราย คาดว่าสงกรานต์ปีนี้จะมีการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น จึงขอให้ประชาชนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดอุบัติเหตุด้วยการ ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้มีเวลาดูแลผู้ป่วยอื่นๆ อย่างเต็มที่” นพ.โอภาสกล่าว
นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย(ปภ.) กล่าวว่า 5 มาตรการที่มีการช่วงคุมเข้ม 11-17 เม.ย.2567 ประกอบด้วย
1.บริหารจัดการมีการตั้งศูนยืป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตั้งด่านชุมชนในการสกัดกั้นลดพฤติกรรมเสี่ยง จัดโซนนิ่งพื้นที่เล่นนน้ำ
2.ลดปัจจัยเสี่ยงเรื่องถนน แก้ไขจุดเสี่ยงต่างที่จะเกิดอุบัติเหตุ
3.ลดปัจจัยเสี่ยงยานพาหนะ ตรวจสอบรถขนส่ง รถดดยสารสาธารณะ พนักงานขับรถ รณรงค์ให้มีการตรวจรถก่อนเดินทาง
4.ด้านการใช้รถใช้ถนน ลดอุบัติเหตุ ตำรวจมีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดกรณีเกิดอุบัติเหตุทุกราย
และ5.ช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งสธ.มีการเตรียมควมพร้อมด้วยดี
เอาผิดคนขาย-ชักจูงวัยรุ่นดื่มน้ำเมา
พล.ต.ต.วีรพัฒน์ ศิวะแพทย์ รองผบช.สยศ. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ช่วงควบคุมเข้มข้น 7 วัน ห้วงวันที่11 – 17 เม.ย. 2567 ในส่วนของมาตรการบังคับใช้กฎหมาย มีการเพิ่มความเข้มในการบังคับใช้กฎหมาย มุ่งเน้นการลดอุบัติเหตุ โดยเฉพาะขับรถเร็วไม่สวมหมวก เมาแล้วขับ ไม่คาดเข็มขัด นิรภัย ความเร็ว และ ขับรถย้อนศร ,ชุดเคลื่อนที่เร็วปฏิบัติร่วมกับผู้นำชุมชน / ภาคีมาตรการป้องกันหรือตักเตือนก่อนกระทำผิด ,มาตรการการตั้งจุดตรวจ โดยให้เปลี่ยนย้ายจุดในแต่ละวัน
และเน้นย้ำการบังคับใช้กฎหมาย พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรณีเกิดอุบัติให้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกรายโดยต้องตรวจสอบประวัติต้องโทษ เพื่อตรวจสอบประวัติการกระทำความผิดประกอบการเพิ่มโทษ ก่อนส่งพนักงานอัยการทุกครั้ง
รวมถึงการสอบสวนขยายผล หากการสอบสวนพบว่าผู้ขับรถในขณะเมาสุรา อายุต่ำกว่า 20 ปีจะต้องขยายผลดำเนินคดีกับผู้ขาย กรณีผู้ขับรถในขณะเมาสุรา อายุต่ำกว่า 18 ปีให้สอบสวนขยายผลดำเนินคดีกับบุคคลที่ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอม ให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือบุคคลที่จำหน่ายหรือให้สุราแก่เด็กอย่างเข้มงวด
ตรวจเข้มทำผิดกฎหมายคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ด้านนพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหาการดื่มแล้วขับยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลง พบการขายในสถานที่และเวลาห้ามขาย จึงเน้นย้ำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทำงานเชิงรุก โดยช่วงก่อนเทศกาล ให้ออกตรวจเตือน/ประชาสัมพันธ์บังคับใช้กฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วงเทศกาล ให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ทั้ง 12 เขต สุ่มตรวจการกระทำผิดกฎหมาย ทั้งการขายสุราในสถานที่ห้ามขาย สำรวจร้านค้าในชุมชนที่ขายสุราในเวลาห้ามขาย และให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
จัดทีมเจ้าหน้าที่ออกตรวจเตือน/ตรวจจับผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะกรณีพบผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และมีการดื่มสุรา จะส่งข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการสอบสวนและดำเนินคดีไปถึงผู้ขาย หากประชาชนพบเห็นผู้กระทำผิดกฎหมายให้โทรศัพท์แจ้งศูนย์ร้องเรียนบุหรี่และสุรา โทร. 0-2590-3342 หรือ สายด่วน 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
“การดื่มแล้วขับ หากดื่มที่บ้านตนเองหรือบ้านญาติ ขอให้ครอบครัวช่วยตักเตือนห้ามปรามไม่ให้ผู้ดื่มขับรถกลับบ้านเอง แม้ระยะทางจะใกล้ ก็ต้องหาผู้ขับขี่แทนหรือจัดหาที่พักที่ปลอดภัย ส่วนผู้ประกอบการร้านอาหาร สถานบันเทิง ขอความร่วมมือคัดกรองนักท่องเที่ยวที่ดื่มเครื่องแอลกอฮอล์ไม่ให้ขับรถ โดยจัดหารถสาธารณะหรือผู้ขับขี่แทน ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน”นพ.ดิเรกกล่าว
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข 11-17 เม.ย.66 พบผู้ขับขี่ที่ดื่มแล้วขับ 4,340 ราย โดยเป็นผู้ที่ดื่มแล้วขับ และขับรถล้ม 2,319 ราย คิดเป็น 53.43% และเกิดอุบัติเหตุ ในผู้ที่ดื่มแล้วขับที่เป็นเยาวชนต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 502 ราย
หลายคนอาจคิดว่าดื่มนิดเดียวไม่เป็นไร เพราะขณะที่ดื่มแอลกอฮอล์ยังดื่มซึมได้ไม่หมด แต่ขณะขับขี่จะดูดซึมขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงระดับที่ส่งผลทำให้หมดสติ และเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางได้ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 สสส. รณรงค์ภายใต้แคมเปญ “ดื่มไม่ขับ สงกรานต์กลับบ้านปลอดภัย” ดื่มเหล้าเมาถึงสมอง เพื่อสื่อสารให้เห็นผลกระทบของแอลกอฮอล์ ที่ส่งผลต่อสมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก ทำให้มีความกล้า คึกคะนอง และกล้าเสี่ยงมากขึ้น และ
ได้ร่วมกับเครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับกว่า 100 เครือข่ายทั่วประเทศ สนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) ป้องกันอุบัติเหตุอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะพื้นที่จัดกิจกรรมเล่นน้ำ และอำเภอเสี่ยง 222 อำเภอ เน้นมาตรการดื่มไม่ขับ-ไม่ขับเร็วสวมหมวกนิรภัย และในเครือข่ายตำบลสุขภาวะ กว่า 3,000 แห่ง ศูนย์ประสานงานการจัดการความปลอดภัยทางถนน และ อปท.เครือข่าย 182 แห่ง