กรมควบคุมโรค ออกคำแนะนำคนที่จะเดินทางไป “ญี่ปุ่น”
กรมควบคุมโรคออกคำแนะนำคนไทยเดินทางไปญี่ปุ่น และกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเพิ่มความระวัง หลังพบผู้ป่วยกลุ่มอาการภาวะช็อกจากการติดเชื้อแบคทีเรีย “ สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ”เพิ่มขึ้น
KEY
POINTS
- สถานการณ์ผู้ป่วยกลุ่มอาการภาวะช็อกจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส (Streptococcal toxic shock syndrome (STSS)เพิ่มสูงขึ้นในประเทศญี่ปุ่น
- กรมควบคุมโรค ชี้แจงกรณีการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ พร้อมคำแนะนำคนไทยที่จะเดินทางไปญี่ปุ่น ทั้งก่อนเดินทาง ระหว่างอยู่ในญี่ปุ่นและหลังกลับมาประเทศไทย
- ความเสี่ยง อันตราย และอาการที่เกิดขึ้นเมื่อติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ เป็นได้ทั้งไข้อีดำอีแดง โรคเนื้อเน่า และภาวะช็อกจนเสียชีวิต
จากกรณีที่มีข่าวการเพิ่มขึ้นของโรคแบคทีเรียกินเนื้อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอในประเทศญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 1 เม.ย.2567 กองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ของประเทศไทย ได้เผยแพร่ บทวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยง กรณีพบผู้ป่วยกลุ่มอาการภาวะช็อกจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส (Streptococcal toxic shock syndrome (STSS) เพิ่มสูงขึ้นในประเทศญี่ปุ่น
แบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสในญี่ปุ่น
สถานการณ์การติดเชื้อ สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ รวมทั้งการเกิดภาวะช็อกจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส( Streptococcal toxic shock syndrome :STSS) ในประเทศญี่ปุ่น มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาตั้งแต่ปี 2566 โดยพบผู้ป่วย จำนวน 941 ราย
ข้อมูลจากสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติญี่ปุ่น (National Institute of Infectious Diseases, Japan) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 17 มีนาคม 2567 ประเทศญี่ปุ่นมีรายงานพบผู้ป่วย กลุ่มอาการภาวะช็อกจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส (Streptococcal toxic shock syndrome : STSS) จำนวน 521 รายสูงกว่าค่ามัธยฐาน 5 ปี
ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อ Streptococcus กลุ่ม A จำนวน 335 ราย มีผู้ป่วยเสียชีวิต 77 ราย แบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 44 รายเพศหญิง จำนวน 33 ราย พบมากที่สุดในช่วงอายุ 50 ปี จำนวน 60 ราย
รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นแจ้งเตือนให้ประชาชนในประเทศญี่ปุ่น เฝ้าระวังอาการและเน้นย้ำการดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล อาทิ การล้างมือ การสวมใส่หน้ากาก และการดูแลทำความสะอาดบาดแผล
คำแนะนำคนไทยเดินทางไปญี่ปุ่น
นอกจากนี้ บทวิเคราะห์ดังกล่าวยังมีคำแนะนำสำหรับคนไทยที่จะเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นด้วยทั้งก่อนเดินทาง ระหว่างอยู่ในประเทศญี่ปุ่นและหลังกลับมาประเทศไทย
ก่อนการเดินทาง
- ตรวจสอบสถานการณ์โรคในพื้นที่ที่จะเดินทางไป โดยติดตามการระบาดของโรคได้ที่เว็บไซต์ทางการของประเทศญี่ปุ่น https://www.niid.go.jp/
- เตรียมอุปกรณ์ในการป้องกันตนเองให้พร้อม เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ อุปกรณ์ทำความสะอาดบาดแผล เป็นต้น
- แนะนำให้ซื้อประกันสุขภาพล่วงหน้าก่อนการเดินทาง
ระหว่างอยู่ที่ประเทศปลายทาง
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่แออัด
- รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ และทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร
- สวมหน้ากากอนามัย ปิดปากหรือจมูกเมื่อไอหรือจาม และระมัดระวังไม่ให้ผิวหนังเกิดบาดแผล และเมื่อมีบาดแผลให้ทำความสะอาดอย่างถูกวิธี
- สังเกตอาการผิดปกติของตนเอง หากมีอาการเบื้องต้น ได้แก่ เจ็บคอ มีไข้ ให้รีบพบแพทย์ และแยกตัวเองจากบุคคลใกล้ชิด
- ผู้เดินทางกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และมีบาดแผลหรือแผลผ่าตัด ควรเพิ่มความระมัดระวังตนเอง
หลังกลับจากการเดินทาง
ขณะนี้ยังไม่มีคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลกเรื่องการจำกัดการเดินทางในกรณีดังกล่าว ยังไม่มีคำแนะนำการคัดกรองผู้เดินทาง ณ บริเวณช่องทางเข้าออกประเทศ หากผู้เดินทางมีข้อสงสัยสามารถสอบถามและขอคำแนะนำได้จากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่าน
- กรณีมีอาการผิดปกติเข้าได้กับอาการแรกเริ่มของ STSS เช่น ไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัวให้รีบพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ
- สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด หากรู้สึกไม่สบาย หรือมีอาการเบื้องต้น ได้แก่ เจ็บคอ มีไข้ ให้รีบพบแพทย์ และแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบ
ติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ
เชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ เป็นเชื้อก่อโรคที่มีมานานแล้ว และมีมากกว่า 200 สายพันธุ์
ก่อให้เกิดอาการแสดงของโรคได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่อาการน้อยหรือปานกลาง ได้แก่ การติดเชื้อของคอหอย ต่อมทอนซิล และระบบทางเดินหายใจ หรืออาจก่อให้เกิดการติดเชื้อที่ผิวหนังและเนื้อเยื่อชั้นใต้ผิวหนัง
กรณีที่มีความรุนแรง หรือ invasive group A streptococcal disease (iGAS) เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ สามารถเข้าไปในเนื้อเยื่อส่วนลึกและปล่อยสารพิษผ่านระบบไหลเวียนเลือด กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ จนเกิดภาวะช็อก และภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายตามมา จนเสียชีวิตได้
สามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คน ผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ และการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก ซึ่งจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุคอ เยื่อบุเมือกต่าง ๆ และบาดแผลบนผิวหนัง
ลักษณะอาการเริ่มด้วยอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว และประมาณ 24 ถึง 48 ชั่วโมง จะมีอาการรุนแรงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ภาวะช็อกจากแบคทีเรียนสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ
ภาวะช็อกจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ (Streptococcal toxic shock syndrome :STSS) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อ S. pyogenes เรียกว่า สเตรปโตคอคคัส กลุ่ม เอ
สามารถเข้าไปในเนื้อเยื่อส่วนลึกและปล่อยสารพิษผ่านระบบไหลเวียนเลือด กระตุ้นให้เกิดการอักเสบ จนเกิดภาวะช็อก และภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายตามมา จนเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ Streptococcus กลุ่ม B, C, G ก็ทำให้เกิด STSS ได้ แต่เกิดขึ้นน้อยกว่ากลุ่ม A
อาการ เริ่มด้วยคล้ายไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว และโดยปกติจะใช้เวลาประมาณ 24 ถึง 48 ชั่วโมง จะมีอาการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว
และมีสัญญาณและอาการที่แสดงให้เห็นถึงภาวะล้มเหลวของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ตับวาย ไตวาย ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน เกิดลิ่มเลือดในกระแสเลือด การอักเสบของเนื้อเยื่อ ผื่นแดงทั่วตัว อาการทางระบบประสาท
แพร่เชื้อจากคนสู่คน ผ่านละอองฝอยขนาดใหญ่ และการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เช่น น้ำลาย น้ำมูก ซึ่งจะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางเยื่อบุคอ เยื่อบุเมือกต่าง ๆ และบาดแผลบนผิวหนัง จากนั้นเชื้อจะแพร่กระจายไปยังเนื้อเยื่อชั้นลึก และเข้าสู่กระแสเลือด
ไข้อีดำอีแดง
ก่อนหน้านั้น กรมควบคุมโรค ระบุว่า หนึ่งในอาการแสดงของโรคจากการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอและอยู่ในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทยคือ “โรคไข้อีดำอีแดง หรือ Scarlet fever” ซึ่งเป็นโรคติดต่อที่ต้อง เฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เกิดได้ทุกช่วงอายุแต่มักเป็นในเด็กวัยเรียน
ติดต่อจากคนสู่คนโดยการใกล้ชิดและหายใจรับละอองฝอยของเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย ที่มีเชื้อ หรือละอองเชื้อโรคสัมผัสกับตา จมูก ปาก หรือสัมผัสผ่านมือ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น จาน ชาม แก้วน้ำ เป็นต้น อาการที่พบ คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ไข้ และอาจมีผื่นนูนสากๆ ตามร่างกาย (จากเชื้อสร้างสารพิษ) สัมผัสแล้ว มีลักษณะคล้ายกระดาษทราย
กลุ่มเสี่ยงของโรคจะเป็นเด็กวัยเรียน อายุ 5 - 15 ปี ที่อยู่รวมกัน จำนวนมาก เช่น เด็กนักเรียนในโรงเรียน หรือศูนย์เด็กเล็ก ฯลฯ จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ถึงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2567 พบผู้ป่วย 4,989 ราย ไม่พบรายงานผู้เสียชีวิต สำหรับปี พ.ศ. 2567 ยังไม่พบรายงาน
ในกรณีอาการรุนแรง จากระบบโครงสร้างฐานข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ (43 แฟ้ม) ของประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 - 2566 กรณี Toxic Shock Syndrome พบว่า มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล จำนวน 204 ราย เฉลี่ยปีละ 41 ราย และมีแนวโน้มลดต่ำลงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยในปี พ.ศ. 2566 พบผู้ป่วย จำนวน 29 ราย
แบคทีเรียสเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ กับโรคเนื้อเน่า
กรณีโรคแบคทีเรียกินเนื้อหรือโรคเนื้อเน่า (Necrotizing fasciitis) ซึ่งอาจเกิดได้จากแบคทีเรียหลายชนิด โดย 1 ในเชื้อสาเหตุคือ “สเตรปโตคอคคัส ชนิดเอ” จากการติดตามใน พ.ศ. 2562 - 2566
- มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั้งสิ้น 106,021 ราย
- มีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยภาวะดังกล่าว 1,048 ราย
- คิดเป็นอัตราป่วยตายประมาณร้อยละ 1.0
แนวโน้มการรายงานผู้ป่วยคงที่และลดลงในปี พ.ศ. 2566 โดยมีอัตราป่วย 27.35 ต่อแสนประชากร (จากเดิมร้อยละ 32.5 ต่อแสนประชากร) พบรายงานผู้ป่วยตลอดทั้งปีแต่สูงสุดในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคมของทุกปี
จากการติดตามข้อมูลดังกล่าว ยังไม่พบว่าอุบัติการณ์การติดเชื้อนี้มีการเพิ่มขึ้น หรือรุนแรงขึ้นในประเทศไทย
รักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ
การติดเชื้อนี้สามารถรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ การไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาแต่เนิ่นๆ การได้รับยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง รวดเร็ว เหมาะสม จะช่วยให้ลดความรุนแรงของโรค และช่วยลดการแพร่เชื้อสู่คนรอบข้างได้ ในรายที่อาการเป็นมากอาจต้องร่วมกับการผ่าตัดเนื้อตายออก กลุ่มเสี่ยงที่อาจจะมีอาการรุนแรง คือ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือเป็นผู้ที่มีรอยโรคที่ผิวหนังมาก่อน
แนวทางป้องกันโรคเนื้อเน่า
การแพร่ระบาดหลักของเชื้อนี้เป็นทางระบบทางเดินหายใจ อาจร่วมกับการสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งหรือหนองจากแผล ในกรณีมีการติดเชื้อที่ผิวหนังและการติดเชื้อนี้พบได้ทุกช่วงอายุ
มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 จึงสามารถช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อนี้เช่นกัน การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อยๆ การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ยังคงเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีคนอยู่รวมกันจำนวนมาก หรือเมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ
โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรต้องระมัดระวังควรสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้ภาชนะ เช่น แก้วน้ำ ช้อน ร่วมกับผู้อื่น และรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด