สงกรานต์ 2567 อันตรายซ่อนเร้น ที่อาจมองข้าม
เทศกาลสงกรานต์ 2567 อย่าสนุกสนานจนลืมระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้น ทั้งการติดเชื้อโรคต่างๆ โรคจากสภาพอากาศร้อนจัดเสี่ยงเกิดฮีทสโตรก การใช้ดินสอพองก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อได้ รวมถึง การถูกล่วงละเมิด
KEY
POINTS
- สงกรานต์ 2567 หากปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีไทยแต่เดิม ก็อาจจะไม่ได้สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายมากนัก แต่หากฉลองอย่างสนุกสนานตามแบบยุคสมัยปัจจุบันมีอันตรายซ่อนเร้นที่ต้องระวังมาก
- โรคที่เกิดจากการติดเชื้อทั้งไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา เนื่องจากหน้าร้อนทำให้เชื้อโรคเพิ่มจำนวนได้ง่าย มีอย่างน้อย 5 โรคที่ต้องระวังช่วงสงกรานต์ 2567
- สงกรานต์ 2567 สภาพอากาศที่ร้อนจัดอาจทำให้เกิดฮีทสโตรก การดื่มแล้วขับนำพามาสู่อุบัติเหตุทางถนนที่ถึงแก่ชีวิต สุ่มเสี่ยงที่จะถูกลวนลาม
เทศกาล สงกรานต์ 2567 เป็นประเพณีที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ทำให้แต่ละปีจะมีคนไทยและชาวต่างชาติเข้าร่วมงานจำนวนมาก โดยเฉพาะการเล่นน้ำในสถานที่ต่างๆที่มีการจัดงาน ทว่า อย่าสนุกจนลมระวังตัว ว่าอาจจะเกิดอันตรายขึ้น แบบที่ไม่ทันรู้ตัว
สงกรานต์ 2567 โรคจากการติดเชื้อโรค
1. โรคไวรัสตับอักเสบเอ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสผ่านทางน้ำลายที่ช่วงเล่นน้ำสงกรานต์อาจจะมีการใช้แก้วน้ำหรือช้อนร่วมกัน ทำให้มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ใช้แก้วน้ำร่วมกัน ใช้ช้อนร่วมกัน
2. ตาแดง ตาอักเสบ การใช้น้ำที่ไม่สะอาดมาเล่นสาดน้ำช่วงสงกรานต์ 2567 หากน้ำเข้าตามเสี่ยงที่จะทำให้ตาติดเชื้อ เป็นโรคตาอักเสบ จากเชื้อแบคทีเรีย จนตาเป็นหนอง บวม และอักเสบ
3. เชื้อรา โดยเฉพาะบริเวณซอกต่าง ๆ ตามร่างกาย อย่างซอกนิ้วมือ นิ้วเท้า ขาหนีบ บริเวณข้อพับต่าง ๆ
4. ท้องร่วง ท้องเสีย เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนในอาหาร โดยหน้าร้อนเป็นช่วงที่เชื้อโรคเพิ่มจำนวนได้ง่าย จึงเสี่ยงสูง
5. ไข้หวัด ปอดอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อ ทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งการเล่นน้ำทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง
ฮีทสโตรก สงกรานต์ อากาศร้อนจัด
นอกจากเชื้อโรคแล้ว สภาพอากาศที่ร้อนจัดช่วงสงกรานต์ 2567 ที่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส
ทำให้มีความเสี่ยงเกิดภาวะโรคลมแดดหรือฮีทสโตรกได้มากขึ้น เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับอุณหภูมิภายในร่างกายได้ทำให้ความร้อนในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ จนการทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว และเสียชีวิต
อาการเตือนที่บ่งบอกว่าเกิด ภาวะฮีทสโตรก คือ ผิวหนังแดง ตัวร้อนจัด ชีพจรเต้นเร็วและแรง ไม่มีเหงื่อ ปวดศีรษะ มึนงง สับสน คลื่นไส้อาเจียน ความรู้สึกตัวลดลง จนถึงหมดสติ
การป้องกันตนเอง สวมเสื้อผ้าที่มีสีอ่อน เนื้อบางเบา และระบายความร้อนได้ดี ควรพักเข้าในที่ร่มเป็นระยะๆดื่มน้ำให้บ่อยขึ้นและมากขึ้นโดยไม่ต้องรอให้กระหายน้ำ
หากมีการออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงควรดื่มน้ำ 2-4 แก้ว ทุกชั่วโมง หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรือมีปริมาณน้ำตาลสูง เพราะจะทำให้ร่างกายขาดน้ำได้ง่าย ส่วนกลุ่มเปราะบาง แนะนำหลีกเลี่ยงการออกแดดจัด และอยู่ในห้องที่ระบายอากาศได้ดี
สงกรานต์ อุบัติเหตุทางถนน
จากที่สงกรานต์ 2567 มีผู้คนเดินทางเป็นจำนวนมาก บวกกับจำนวนไม่น้อยมีการดื่มเครื่องแอลกอฮอล์แล้วขับรถ ทำให้แต่ละปีมีงานการเกิดอุบัติเหตุทางถนนเป็นจำนวนมาก
อย่างสงกรานต์ 2566 ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) รายงานมีอุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้น 2,203 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 264 คน ลดลง 14 คน จากปี 2565 ที่มีผู้เสียชีวิต 278 คน
ส่วนการดื่มแล้วขับที่เป็นเหตุให้เสียชีวิตลดจาก 16.5% ในปี 2565 เหลือ 10.6% ในปี 2566 จำนวนผู้เสียชีวิตคาที่ลดลงจาก 56.8% ในปี 2565 เหลือ 53.4% ในปี 2566 ส่วนใหญ่มาจากการขับรถเร็วที่มีการชนรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตในทันที
ขณะที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) เผยผลสำรวจพฤติกรรมช่วงสงกรานต์ 2567 พบว่า ประชาชนวางแผนที่จะเดินทาง 75.5% และดื่มแอลกอฮอล์ 33.8 % ไปสถานที่เสี่ยง 24.7% และทำทั้ง 3 พฤติกรรม 12.9 %
ทั้งนี้ ช่วงสงกรานต์ประชาชนยึดหลักสุขบัญญัติ เรื่องงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดอุบัติเหตุ
ป้องกันอุบัติเหตุด้วยการไม่ประมาท มีวินัยในการขับขี่ ไม่ขับรถเร็วเกินที่กฎหมายกำหนด ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะผู้ที่เมาแล้วไม่ควรขับขี่รถออกนอกบ้านแม้ว่าจะอยู่ในระยะใกล้ก็ตาม เพื่อลดอุบัติเหตุและการเสียชีวิตได้
สงกรานต์ถูกลวนลาม
ข้อมูลจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เกี่ยวกับวันสงกรานต์ พบว่า 96.5 % เคยหรือมีคนรู้จักถูกปะแป้ง 87.9% ถูกแซว/ผิวปากหรือใช้สายตาจ้องมอง ทำให้อึดอัด และสิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือการลวนลามทางเพศ 35.5 % รวมถึง การมึนเมาขาดสติ การทะเลาะวิวาท การไม่เคารพสิทธิคนอื่น
ขณะที่สวนดุสิตโพล เปิดเผยข้อมูลความคิดเห็นของประชาชนต่อเทศกาลสงกรานต์ 2567 ระหว่างวันที่ 26-29 มีนาคม 2567 โดยสำรวจจากประชาชนในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จำนวน 4,011 คน พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
- 66.09 % ไม่เล่นน้ำสงกรานต์ เพราะต้องการพักผ่อน อากาศร้อน
- 14.19 % ที่ไม่เล่นเพราะกลัวถูกลวนลาม (บางส่วนเคยถูกลวนลาม)
พฤติกรรมการฉวยโอกาสแต๊ะอั๋ง/ลวนลามที่พบมากที่สุด คือ
- ถูกจับมือ/แขน/เบียดเสียด 61.45 %
- ถูกสัมผัสลูบไล้ร่างกาย 37.19 %
- ถูกจับแก้ม 34.47 %ใ
- ช้สายตาจ้องมอง แทะโลม ทําให้รู้สึกอึดอัด ไม่ปลอดภัย 22.45 %
- ถูกแซว/ล้อเลียนส่อไปในเรื่องเพศ 21.54 %
- และถูกสัมผัส/ล่วงอวัยวะอื่นๆ ที่เกินเลย 16.55 %
สงกรานต์ อันตรายยิปซั่ม ดินสอพอง
กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้ดำเนินการสุ่มตรวจคุณภาพของดินสอพองที่วางขายอยู่ในท้องตลาด พบว่ายังมีดินสอพองปลอม 42.6 % มียิปซัมหรือแคลเซียมซัลเฟตเป็นองค์ประกอบหลัก แทนของแท้ที่ผลิตจากปูนมาร์ลหรือแคลเซียมคาร์บอเนต
อันตรายของฝุ่นยิปซัมนี้ถ้าเข้าไปในระบบทางเดินหายใจสามารถทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ เจ็บคอ ระคายเคือง จมูกอักเสบ ปอดบวม และหายใจลำบากได้
หากสัมผัสกับผิวอาจทำให้เกิดการระคายเคือง คัน เป็นผื่นหรือเป็นลมพิษได้ ขึ้นอยู่กับความไวของผิวต่อสารเคมีของแต่ละบุคคล
นอกจากนี้ ห้องปฏิบัติการ วศ. ยังได้ตรวจพบว่าดินสอพองที่สุ่มมาจำนวน 48 % มีจำนวนแบคทีเรีย ยีสต์และรา มากกว่า 1,000 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 กรัม เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ดินสอพองแปรรูป (มผช.453-2560) อีกทั้งยังพบเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคทางผิวหนัง Clostridium spp. และเชื้อที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษ Staphylococcus aureus
เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ติดเชื้อได้ ในกรณีที่เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด และติดเชื้อในเนื้อเยื่ออ่อนซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
หากจำเป็นต้องใช้ดินสอพองเล่นสงกรานต์ ควรระวังอย่าให้เข้าจมูกหรือปาก หรือหากมีบาดแผลที่ผิวหนังควรหลีกเลี่ยงดินสอพอง และขอความร่วมมือผู้ประกอบการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ควรมั่นใจว่าดินสอพองที่จะจำหน่ายให้ประชาชนต้องเป็นของแท้และมีคุณภาพตามที่มาตรฐานกำหนด
อ้างอิง: กระทรวงสาธารณสุข ,คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี , สสส.,กรมวิทยาศาสตร์บริการ ,