โรงงานน้ำแข็งชลบุรี "แอมโมเนียรั่ว" เมื่อสัมผัส 4 ข้อต้องทำทันที ก่อนสาย
กรณีโรงงานน้ำแข็งชลบุรี แอมโมเนียรั่ว ซึ่ง“แอมโมเนีย” เป็นด่างมีฤทธิ์กัดกร่อนสูง สัมผัสอาจทำให้เซลล์เยื่อบุหลุดลอก -ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด หากสัมผัส 4 ข้อต้องทำทันที ก่อนรีบไปพบแพทย์
KEY
POINTS
- แอมโมเนียมีคุณสมบัติเป็นด่าง มีฤทธิ์กัดกร่อนสูง มีการใช้ในอุตสาหกรรมห้องเย็น การผลิตอาหารและปุ๋ย ในบ้านเรือนสารละลายของแอมโมเนียผสมอยู่ใน น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาฟอกผ้าขาว
- เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล สถานที่เกิดเหตุการณ์ 3 อันดับสูงสุดได้แก่ โรงงานผลิตนน้ำแข็ง โรงงานผลิตอาหารแช่แข็ง และ ห้องเย็น
- อันตรายที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสแอมโมเนียรั่ว เซลล์เยื่อบุหลุดลอก ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด และ4 สิ่งที่ต้องทำทันทีเมื่อสัมผัส ก่อนที่จะต้องรีบไปพบแพทย์
จากกรณีเกิดเหตุโรงงานน้ำแข็งในอ.บางละมุง จ.ชลบุรีระเบิด ทำให้เกิดแอมโมเนียรั่วไหล ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมากต่อผู้ที่ประสบเหตุ
แอมโมเนีย มีสูตรทางเคมี คือ NH3 ในภาวะปกติจะเป็นก๊าซที่มีกลิ่นฉุน มีคุณสมบัติติดไฟได้ จึงอาจเกิดระเบิดเมื่อได้รับความร้อน มีคุณสมบัติเป็นด่าง มีฤทธิ์กัดกร่อนสูง
สารแอมโมเนีย มีการใช้ในอุตสาหกรรมห้องเย็น การผลิตอาหารและปุ๋ย สารละลายของแอมโมเนีย ถูกใช้ในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการผลิตเส้นด้าย ผ้า หนังสัตว์ กระดาษ และ ยาง ในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เช่น กลั่นน้ำมัน และ โลหะ ก็มีการใช้สารละลายแอมโมเนีย ในขบวนการผลิต
ในบ้านเรือนสารละลายของแอมโมเนียผสมอยู่ใน น้ำยาล้างห้องน้ำ และน้ำยาฟอกผ้าขาว (bleach) แต่มีความเข้มข้นเพียง 5-10% ต่ำกว่าในโรงงานอุตสาหกรรม มักจะมีความเข้มข้นถึงประมาณ 30%
เหตุการณ์แอมโมเนียรั่ว
กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุม ได้จัดทำฐานข้อมูลเพื่อรวบรวมเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับสารเคมีจากแหล่งข่าวต่างๆ รวมถึงการรับแจ้งและรายงานจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างปี พ.ศ. 2560 – 2564 มีเกิดเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล จำนวน 19 ครั้ง
ส่วนมากมีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับโรงงานที่ใช้ก๊าซแอมโมเนีย ในกระบวนการ ผลิต สถานที่ที่เกิดเหตุการณ์ 3 อันดับสูงสุด ได้แก่
1.โรงงานผลิตนน้ำแข็ง
2.โรงงานผลิตอาหารแช่แข็ง
3. ห้องเย็น
โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนมากเกิดจากการรั่วไหลของ ก๊าซแอมโมเนียแล้วเกิดหมอกควันสีขาวขึ้น
ระยะอพยพ แอมโมเนียรั่ว
- กรณีรั่วไหลในปริมาณน้อย กลางวันอยู่ห่างจากพื้นที่เกิดเหตุระยะ 30 เมตร และกลางคืน อยู่ห่างระยะ 100 เมตร
- กรณีรั่วไหลในปริมาณมาก กลางวัยอยู่ห่างจากพื้นที่เกิดเหตุระยะ 150 เมตร และกลางคืนอยู่ห่างระยะ 800 เมตร
เมื่อสัมผัสแอมโมเนีย 4ข้อต้องทำ
ช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ
1.เคลื่อนย้ายผู้ประสบ้หตุไปยังที่อากาศบริสุทธิ์ ให้คนไข้นอนราบกับพื้น หายใจช้าๆ เปิดตาเท่าที่จำเป็น
2.ใช้ผ้าบางชุบน้ำเปียกปิดปากและจมูก ระหว่างขนย้ายออกจากพื้นที่
3.ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนแอมโมเนียออกทันที กรณีเสื้อผ้าที่เย็นแข็งติดผิวหนัง ต้องทำให้อ่อนตัวก่อนถอด
4.ล้างร่างกายด้วยน้ำอุ่นสะอาดอย่างน้อย 15 นาที
สัมผัสแอมโมเนีย ปฐมพยาบาลเบื้องต้น
1.สัมผัสตา ล้างออกด้วยน้ำสะอาดปริมาณมากๆ โดยเปิดน้ำไหลผ่านตา อย่างน้อย 15 นาที แล้วรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
2.สัมผัสผิวหนัง ล้างออกด้วยน้ำสบู่
3.กลืนกิน บ้วนปากด้วยน้ำมากๆแล้วรีบไปพบแพทย์
4.หายใจเข้าไป เคลื่อนย้ายผู้ประสบเหตุไปในที่อากาศถ่ายเท ถ้าหายใจอ่อนให้ช้ออกซิเจนช่วยหายใจ นาน 2 นาที แต่ไม่เกิน 15 นาที ถ้าหากหัวใจหยุดเต้นให้ปั๊มหัวใจทันที
แอมโมเนีย ฤทธิ์กัดกร่อน เซลล์เยื่อบุลอก
ขณะที่ ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล ระบุว่า กลไกของการเกิดอันตรายต่อร่างกายเมื่อสัมผัสกับก๊าซแอมโมเนีย หรือสารละลายแอมโนเนียคือ การเป็นด่างที่จะระคายต่อผิวสัมผัสต่างๆ เช่น ผิวหนัง เยื่อบุของตาและระบบทางเดินหายใจ
- ก๊าซแอมโมเนียเมื่อสูดดมเข้าสู่ทางเดินหายใจ อาจจะเป็นเพียงการอักเสบจนถึงการหลุดลอกของเซลล์เยื่อบุในรายที่รุนแรงได้
- กรณีที่รับประทานสารละลายแอมโมเนียเข้าไปจะทำให้มีการอักเสบหรือหลุดลอกของเซลล์เยื่อบุหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร หรือลำไส้ อาจจะทำให้มี การทะลุของผนังของระบบทางเดินอาหาร มีเลือดออกจากแผล หรือมีการติดเชื้อในระยะต่อมาได้
แอมโมเนีย ลิ่มเลือดอุดตันในปอด
เมื่อผู้ป่วยสัมผัสกับก๊าซแอมโมเนีย จะทำให้มีอาการแสบร้อนของผิวหนัง แสบตา น้ำตาไหล ที่สำคัญคือ ระบบหายใจ ทำให้มีอาการไอ เจ็บคอ อาจจะมีไอเป็นเลือด
รายที่รุนแรง ทำให้ รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ตรวจร่างกายอาจพบเสียงปอดผิดปกติ ซึ่งเกิดจากการ บวมของทางเดินหายใจส่วนต้น และอาจเกิดการอุดตันของทางเดินหายใจได้ กรณีที่เป็นระบบทางเดินหายใจส่วนล่างจะตรวจได้ยินเสียง wheez ได้ รายที่รุนแรงทำให้ เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด (pulmonary edema) ได้
การสูดดม ก๊าซแอมโมเนีย โดยทั่วไปการเกิดโรคแบ่งเป็น 2 ช่วงคือ
- ช่วงแรกเกิดจาก การบวมอักเสบของเนื้อเยื่อโดยตรง
- ช่วงต่อมา หลังจากนั้น 48-72 ชั่วโมง จะมีความรุนแรงของการอุดตันทางเดินหายใจ เกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง มีการก่อตัวของอาการรุนแรงขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากมีการหลุดลอกของ เซลล์เยื่อบุที่ตายออกมา มีการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรของโครงสร้างที่เหลือ และอาจจะมีการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้ด้วย
ผู้ป่วยที่รับประทานสารละลายของแอมโมเนีย จะมีอาการแสบในช่องปากและคอ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน 24-72 ชั่วโมงต่อมาหลอดอาหาร หรือกระเพาะอาหารอาจทะลุได้ จนอาจจะเกิดภาวะช็อค หรือมีการหายใจล้มเหลว
ผิวหนังที่สัมผัสถูกก๊าซแอมโมเนียและสารละลายแอมโมเนีย ช่วงแรกมีอาการแสบร้อน ต่อมา จะมีตุ่มน้ำใส แผลอาจจะลามลึกลงไป ถึงชั้นอื่นได้มาก
การดูแลผู้ป่วย แอมโมเนียรั่ว
พื้นที่แอมโมเนียรั่ว
การดูแลผู้ป่วยในสถานที่เกิดเหตุ มีหลักการเบื้องต้น คือ
- เคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกจากบริเวณที่เกิดเหตุ มาสู่ที่มีอากาศถ่ายเทได้ดีและประเมินการหายใจของผู้ป่วย
- ให้ออกซิเจนถ้าผู้ป่วยมีอาการที่บ่งชี้ ถึงความผิดปกติ
- ควรถอดเครื่องนุ่งห่มที่ปนเปื้อนแอมโมเนียออก ชำระล้างกายด้วยน้ำจำนวนมากๆ
- ผิวหนังส่วนที่สัมผัสกับสารแอมโมเนียควรล้างด้วยสบู่และน้ำอย่างน้อย 2 ครั้งแล้ว ปิดแผลด้วย ผ้าสะอาด
- ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดเช่นเดียวกันถ้าตาสัมผัสแอมโมเนีย
ผู้ป่วยที่รับประทานสารแอมโมเนียไม่ควรกระตุ้นให้อาเจียน ไม่ควรใส่สายล้างท้อง และไม่ต้องให้ผงถ่านกัมมันต์ หากเป็นไปได้ควรได้รับการตรวจหลอดอาหาร และกระเพาะอาหารด้วยกล้องเพื่อประเมินความรุนแรง ที่เกิดซึ่งจะทำให้วางแผนการรักษาได้ถูกต้องมากขึ้น