เปิดผลตรวจน้ำแข็ง-สภาพอากาศ แอมโมเนียรั่วไหล โรงงานน้ำแข็งชลบุรี
สธ.สั่งโรงงานน้ำแข็งชลบุรี ทำลายน้ำแข็งทิ้ง หลังตรวจพบค่าเป็นด่างสูง ย้ำสเปรย์น้ำป้องกันก๊าซแอมโมเนียฟุ้ง น้ำเข้าระบบบำบัดไม่ลงแหล่งน้ำสาธารณะ ค่าแอมโมเนียในอากาศไม่มีจุดใดเกินค่ามาตรฐานในสิ่งแวดล้อม
จากสถานการณ์ภาวะฉุกเฉินก๊าซแอมโมเนียรั่วไหลจากโรงน้ำแข็ง ในอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เมื่อคืนที่ผ่านมา โดยก๊าซแอมโมเนีย ซึ่งเป็นก๊าซพิษที่มีฤทธิ์กัดกร่อน ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยในรัศมีโดยรอบในระยะ 3 กิโลเมตร
เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2567 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่ จ.ชลบุรีว่า สธ.ได้รับมอบหมายให้ดูแลดำเนินการ 4 ด้าน คือ
1.ด้านการรักษาพยาบาล ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) ชลบุรี ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข บูรณาการร่วมกับพื้นที่ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและท้องถิ่น ซึ่งการรักษาพยาบาลจะมี รพ.ชลบุรี และ รพ.บางละมุง เป็น รพ.หลัก ร่วมกับ รพ.เอกชนหลายแห่ง
จากการรวบรวมผู้ป่วยที่ส่งต่อไปรักษาแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
- อาการรุนแรงสีแดง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหรืออยู่ในไอซียูที่ต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
- อาการปานกลางสีเหลือง ซึ่งอาการไม่มาก แต่ต้องสังเกตอาการ เพราะอาจเกิดอาการแย่ลง ต้องดูแลรักษาเพิ่มเติม
- อาการเล็กน้อย ส่วนใหญ่มึนศีรษะ วิงเวียน มีระคายเคืองแสบตา ถ้าแพทย์ดูว่าไม่มีอะไรผิดปกติก็ให้กลับบ้านได้ แต่อาจมีบางรายที่รับคำปรึกษาแล้วกลับบ้าน จึงไม่ได้บันทึกไว้
"เบื้องต้นมีผู้ป่วย 155 ราย ขณะนี้ผู้ป่วยอาการหนักมี 9 ราย ส่วนใหญ่เป็นอาการทางเดินหายใจ เพราะสารแอมโมเนียมีผลต่อการระคายเคืองทางเดินหายใจ ถ้าไม่มากจะทำให้ออกซิเจนในเลือดต่ำ ก็ต้องให้ออกซิเจนกับเครื่องช่วยหายใจ ถ้าเกิดความเข้มข้นของสารมาก จะมีอาการบวม ระคายเคืองในทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะหลอดลม กล่องเสียงต่างๆ เป็นอาการที่ทำให้การหายใจล้มเหลว และหากรุนแรงมากก็อาจจะมีปอดบวมน้ำได้ เป็นอาการรุนแรงที่สุด ขณะนี้ผู้ป่วยหลายรายดูแล้วอาการยังต้องเฝ้าสังเกตอาการอยู่ โดยอาการสีเหลืองบางรายต้องติดตามใกล้ชิด 1-2 วัน นพ.สสจ.ชลบุรีจะแจ้งเรื่องอาการให้ทราบเป็นระยะต่อไป" นพ.โอภาสกล่าว
2.การดูแลด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจมีผลกระทบต่อประาชน เบื้องต้นคนรับผลกระทบมากสุดคือคนในโรงงาน สังเกตคนอาการหนักในไอซียูที่ใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นคนทำงานในโรงงานใกล้ชิด ถัดมาคือมีบ้านพักในโรงงานและชุมชนใกล้เคียง เบื้องต้นให้มีการเฝ้าระวังในพื้นที่ 1 กิโลเมตรรอบโรงงาน เฝ้าระวังสภาพอากาศร่วมหลายหน่วยงาน
เบื้องต้นพบว่า การปนเปื้อนของสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ยังเป็นการตรวจเบื้องต้น เพราะยังมีหลายปัจจัยที่มีผลกระทบ เช่น สภาพลม สภาพอากาศต่างๆ ต้องติดตามต่อไป ส่วนน้ำบริโภคจะนำไปตรวจดูว่ามีผลกระทบสามารถบริโภคได้หรือไม่ โดย สสจ.ชลบุรีจะแจ้งทราบต่อไป
3.สุขภาพจิตผู้รับผลกระทบ สธ.ได้รับมอบหมายให้มาติดตามอาการและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ผู้ป่วยและญาติ โดยเฉพาะผลกระทบจิตใจของญาติผู้ป่วย พบคนหนึ่งใส่ท่อช่วยหายใจอาการค่อนข้างกังวล ก็จะให้ทีมดูแลสุขภาพจิตดูแลต่อไป
4.สื่อสารประชาชน ในพื้นที่ใกล้เคียงอาการผลกระทบแอมโมเนีย ว่าแสบจมูก แสบตา วงเสียน รู้สึกไม่สบาย หอบเหนื่อย ให้รีบไปพบแพทย์ดูแลรักษาต่อไป ส่วนการเกิดเหตุรั่วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลโรงงานจะดูแลใกล้ชิด
น้ำแข็งเป็นด่างสูง ห้ามจำหน่าย
นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัย จึงได้ส่งทีม ปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ลงพื้นที่ร่วมกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานในพื้นที่ ได้แก่ สสจ. สสอ. สคร. รพ. รพ.สต. เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสุขภาพของประชาชน พบข้อเท็จจริงว่า โรงน้ำแข็งแห่งนี้ ได้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตาม พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และฉบับที่แก้ไขเพิ่มเติม
จึงประสานให้หน่วยงานท้องถิ่นที่รับผิดชอบมีการบังคับใช้กฎหมายโดยสั่งการให้ผู้ประกอบกิจการ ปรับปรุงด้านสุขลักษณะ ความปลอดภัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐาน ช่วงเกิดเหตุแอมโมเนียรั่วไหล มีการเก็บตัวอย่างน้ำแข็งที่ผลิตแล้วไปตรวจสอบพบค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ประมาณ 9 ซึ่งมีความเป็นด่างสูง เจ้าหน้าที่จึงแจ้งโรงงานให้ทำลายน้ำแข็งดังกล่าวทั้งหมดห้ามนำมาจำหน่าย
โรงงานดังกล่าวได้นำน้ำแข็งจากแหล่งผลิตอื่นมาจำหน่ายแทนแล้ว และเพื่อเป็นการยืนยันผล ทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี มีการตรวจสอบค่าความเป็นกรด-ด่าง ในน้ำแข็งที่โรงงานนำมาจากโรงผลิตอื่นเพื่อนำมาจำหน่าย พบค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ประมาณ 8 ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานน้ำบริโภค และโรงงานดังกล่าวได้หยุดผลิตน้ำแข็งเป็นการชั่วคราว จนกว่าทำการปรับปรุงคุณภาพน้ำ และตรวจสอบระบบการผลิตน้ำแข็งให้เป็นไปตามมาตรฐาน
“ในช่วงที่ก๊าซแอมโมเนียรั่วไหล ทีมเจ้าหน้าที่ได้ใช้การสเปรย์น้ำเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของก๊าซพิษออกสู่ภายนอก ซึ่งน้ำที่ใช้สเปรย์ดังกล่าวจะเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียของโรงงาน จึงไม่มีการปนเปื้อนของสารแอมโมเนียที่ปนมากับน้ำ ไหลลงในแหล่งน้ำสาธารณะ ระบบประปาชุมชน หรือประปาหมู่บ้าน ขอให้ประชาชนมั่นใจได้ในการใช้น้ำอุปโภคบริโภคในครัวเรือนอย่างปลอดภัย”นพ.อรรถพลกล่าว
ค่าแอมโมเนียในอากาศ ยังไม่กระทบสุขภาพ
ผู้สื่อข่าวรายงาน กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพอากาศในพื้นที่เกิดเหตุ โดยการตีวงจากจุดเกิดเหตุเป็นสีแดง ค่าสูงสุดอยู่ที่5.2 ppm บริเวณด้านหน้าโรงงาน ห่างออกไปเป็นวงสีเหลือง ค่าสูงสุด 4.2 ppm และห่างออกไปอีกระยะเป็นวงสีเขียว สูงสุด 1.8 ppm ซึ่งภาพรวมในทั้ง 3 วงที่ตรวจสอบ ไม่มีจุดใดเกินค่ามาตรฐานในสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ค่าแอมโมเนียในอากาศจะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพที่ประมาณ 25 ppm